ON THIS DAY บันทึกย้อนหลัง SMART Patrol ทั่วผืนป่าตะวันตก

ON THIS DAY บันทึกย้อนหลัง SMART Patrol ทั่วผืนป่าตะวันตก

23 ..ปี 2561 นับเป็นวันประวัติศาสตร์ของผมอีกวันหนึ่ง

วันนั้นเรามีกำหนดประชุมรายงานผลการดำเนินโครงการในผืนป่าตะวันตกให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชฟัง

โครงการวันนั้นงานหลักๆ คือ สนับสนุนการขยายผลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพจากพื้นที่นำร่องที่ทุ่งใหญ่และห้วยขาแข้ง ออกไปยังพื้นที่ลาดตระเวนหลายแห่งในผืนป่าตะวันตก 

โครงการนี้เราได้รับการสนับสนุนจากบริษัทปตท. และธนาคารไทยพาณิชย์ มาหลายปี

เมื่อจบรายงาน อธิบดีนิ่งคิดอะไรสักพักแล้วเอ่ยขึ้นกลางที่ประชุมว่า

ขอให้มูลนิธิสืบฯ หยุดทำงานเรื่องนี้ได้แล้ว”

ผมตกใจไปชั่วขณะ ก่อนที่ท่านจะเอ่ยต่อว่า

“งานแบบนี้ต่อจากนี้เราจะทำเอง ขอให้มูลนิธิสืบคอยติดตามตรวจสอบเราแทน…”

จากนั้น ระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพหรือ SMART Patrol ก็ถูกมอบเป็นนโยบายขยายผลไปทุกกลุ่มป่าทั่วประเทศไทย

วันนั้นผมบันทึกไว้ว่า

ประชุมวันนี้ เป็นประวัติศาสตร์ส่วนตัวชีวิตผม ในฐานะนักอนุรักษ์

16 ปีที่แล้วผมรับปากมูลนิธิสืบที่มี .รตยา จันทรเทียร เป็นผู้นำว่าจะลาออกจากอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัย มาทำโครงการใหญ่ในป่าตะวันตก

สิบปีต่อมาเราทำแนวเขตชุมชนจากการมีส่วนร่วม และเป็นที่ยอมรับร่วมกันตามโครงการสำเร็จ 100 ชุมชนในป่าอนุรักษผืนป่าตะวันตก พร้อมเอกสารและแผนที่อย่างสมบูรณ์ แต่ดูเหมือนว่ายังไม่ได้รับการยอมรับมากนัก เราใช้เวลาอีกราวสองปี เก็บงานในรายละเอียดต่อจนสิ้นสุดโครงการเฟสที่สี่

แนวเขตนี้สำคัญมากในการลดความขัดแย้ง และควบคุมการขยายตัวของชุมชนรุกป่าใหม่

ทางกรมอุทยานฯ มีการประชุมรับรู้ แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครสนใจผลงานของเรา

ผ่านมาอีกสามปี เมื่อปัญหาพื้นที่ชุมชนในป่าอนุรักษ์ดูท่าแก้ไขไม่ได้โดยใช้ข้อมูลจากผลการพิสูจน์สิทธิตามมติ ครม. 30 มิ.ย.41 อธิบดีคนปัจจุบันตัดสินใจใช้แนวทางตามที่เราทำ สั่งให้พื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศสำรวจแนวเขตคล้ายคลึงกับโครงการของมูลนิธิสืบฯ โดยใช้หลักการที่พอทำได้จากคำสั่ง คสช. 17 .ค. 57 ซึ่งมีกำหนดเสร็จสิ้นปลายเดือนนี้ 

สามปีที่ผ่านมา เราเริ่มโครงการใหม่ในป่าตะวันตกขยายผลการลาดตระเวนเชิงคุณภาพจากพื้นที่มรดกโลกที่ริเริ่มโดยองค์กรอนุรักษ์สากลอย่างสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า หรือ WCS ออกไปที่พื้นที่ป่าตะวันตกที่ยังไม่ได้ทำใน  25 เส้นลาดตระเวน กำหนดโครงการจะต้องทำ 5 ปี การลาดตระเวนนี้จะดูแลทั้งแนวเขตที่ทำไว้ ตลอดจนทรัพยากรสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ตามแนวทางพื้นที่อนุรักษ์แบบสากล ที่ทำกันในหลายประเทศทั่วโลก

หมดปีที่สาม กรมอุทยานฯ มีโครงการลาดตระเวนเชิงคุณภาพทั่วประเทศด้วยงบประมาณและการดำเนินการเอง 

วันนี้มีการประชุมโครงการและมีมติหยุดการสนับสนุนจากเรา เพื่อให้ระบบปกติได้ทดลองเดินเอง และผมได้กล่าวส่งมอบผลงานทั้งแนวเขต และการลาดตระเวนให้กรมอุทยานฯ นำไปดำเนินการต่ออย่างเป็นทางการ

เราเหลือเงินโครงการอีกสองปี เราได้มติให้ขยายผลไปสู่กลุ่มป่าแก่งกระจาน และเริ่มวางโครงการเพื่อฟื้นพื้นที่ชุมชนในแนวเขตตามแนวทางวิถีชีวิตเป็นมิตรผืนป่าอย่างจริงจัง กับหน่วยงานภายในที่กรมอุทยานฯ วางแผนให้รับผิดชอบหลังจากแนวเขตทั่วประเทศแล้วเสร็จ

นี่จะเป็นอีกงานหนึ่งที่ทีมงานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร จะนำเงินที่มีแหล่งทุนสนับสนุนรวมกับผู้บริจาครายย่อย สร้างโครงการนำร่องให้เห็นเป็นความสำเร็จรูปธรรม เพราะนี่คือสิ่งที่เราทำงานร่วมกับสองเรื่องแรกมาโดยตลอดสิบหกปี 

เชื่อว่าเราจะส่งมอบงานดีๆให้กับหน่วยงานหลักผู้รับผิดชอบป่าอนุรักษ์ ขยายผลจากป่าตะวันตกสู่นโยบายของประเทศได้อีกครั้งหนึ่ง โดยความร่วมแรงร่วมใจของเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการมูลนิธิทุกท่าน

ขอบคุณผู้สนับสนุน และทีมงานทั้งปัจจุบันและอดีตที่ผ่านมาทุกท่าน รวมถึงพี่ๆ น้องกรมอุทยานฯ ที่มีมิตรภาพและคำแนะนำที่ดีให้พวกเรามา

ขออุทิศบุญกุศลและผลงานที่จะเป็นรากฐานคุ้มครองป่าไทยอย่างยั่งยืนนี้ แด่พี่สืบ นาคะเสถียร ในวาระครบรอบ 28 ปี

หมายเหตุ : การริเริ่มระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพเริ่มจากการทำงานของสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าในพื้นที่ห้วยขาแข้ง ขยายผลต่อมาที่ทุ่งใหญ่นเรศวร อุ้มผาง สลักพระ และมีกองทุนสัตว์ป่าโลกขยายผลสู่คลองลาน แม่วงก์ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรขยายผลต่อมาอีก 25 พื้นที่ลาดตระเวนที่เป็นพื้นที่ภัยคุกคามต่อการล่าสัตว์ในผืนป่าตะวันตกในส่วนที่เหลือ

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)