งานลาดตระเวนบนสะพานระบบนิเวศ บทพิสูจน์ความสำเร็จโครงการเชื่อมผืนป่า

งานลาดตระเวนบนสะพานระบบนิเวศ บทพิสูจน์ความสำเร็จโครงการเชื่อมผืนป่า

โครงการเชื่อมผืนป่า – ในทุกๆ เดือน เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงจะผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันออกมาลาดตระเวนในพื้นที่รอบนอกป่าอนุรักษ์ 

ชักชวนเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันรักษาป่าของกรมป่าไม้ และคณะกรรมการป่าชุมชนในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร มาระวังภัยร่วมกัน 3 ฝ่าย เป็นทีมเฉพาะกิจ 8 – 13 คน 

ย้ำเท้าก้าวเดินไล่ไปบนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชุมชนรอบๆ ป่าใหญ่ ตลอดจนพื้นที่ปลูกไผ่ ในโครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน (โครงการโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร)

มีเป้าหมายหลักเพื่อเฝ้าระวังและป้องปรามภัยคุกคามที่มีผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่า พร้อมๆ กับเก็บข้อมูลบนพื้นฐานระบบ SMART Patrol หรือการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ

ตลอดระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ทั้งทีมช่วยกันสำรวจมองหาความผิดปกติต่างๆ ทั้งภัยคุกคาม อาทิ การก่อไฟ ร่องรอยการตั้งแคมป์ สิ่งแปลกปลอมที่ป่าสร้างขึ้นเองไม่ได้ กับดักสัตว์ ซากสัตว์ป่า ข้อมูลเกี่ยวกับสัตว์ป่า ประกอบด้วยรอยเท้า มูลสัตว์ และไม่ลืมที่จะบันทึกถึงพืชพรรณเด่นที่พบ

ข้อมูลภัยคุกคามและสัตว์ป่าที่บันทึกไว้ฝ่ายเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงจะนำไปใช้วิเคราะห์วางแผนการเดินลาดตระเวนเพื่อป้องปรามภัยคุกคามในครั้งถัดไป 

เพราะถึงแม้ป่านั้นจะไม่ได้อยู่ในการดูแลโดยตรง แต่ความสัมพันธ์ของระบบนิเวศต่างเชื่อมร้อยต่อกัน 

หากมีภัยคุกคามเกิดขึ้นรอบๆ ป่าอนุรักษ์ ความเสี่ยงที่ภัยนั้นจะย่างกรายสู่ป่าสมบูรณ์ก็ย่อมมีตามมาเช่นกัน

นอกจากนั้น ข้อมูลบางส่วนอย่างเรื่องราวของพืชพรรณที่พบ ยังแชร์ถึงเจ้าหน้าที่โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมป่าฯ

ในส่วนนี้ อำนาจ สุขขวัญ เจ้าหน้าที่โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมป่าฯ อธิบายว่า ข้อมูลพืชพรรณต่างๆ ที่พบจะใช้เพื่อศึกษาความหลากหลายทางชีวภาพนอกป่าอนุรักษ์ที่ผลิบานบนเงื่อนไขความเปลี่ยนแปลงของวันเดือนปีและแต่ละฤดูกาลที่เวียนผ่าน

ที่บางส่วนหมายถึงทรัพยากรทรัพยากินที่ชุมชนใช้ประโยชน์เป็นประจำ ซึ่งสามารถนำมาคิดต่อได้ว่า ในป่าตรงนั้นมีอะไร ชุมชนใช้ประโยชน์อะไร และจะเป็นไปได้ไหมที่จะหาวิธีหนุนเสริมส่วนอื่นๆ เข้ามาแทน เพื่อลดการใช้ประโยชน์จากป่าบางส่วนลง 

ดังตัวอย่างของการส่งเสริมปลูกไผ่ซางหม่นของโครงการฯ ที่กำลังทำอยู่ ซึ่งมีประโยชน์ทั้งเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่ทำกินชุมชน ไผ่ที่โตก็สร้างรายได้ให้กับครอบครัว เป็นพื้นที่ให้สัตว์ป่าได้เข้ามาใช้ประโยชน์ 

หรือที่มากไปกว่านั้นยังมีความสำคัญในระดับโลก ในฐานะพืชที่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ ตัวการของวิกฤตโลกเดือด

ขณะเดียวกัน หากการลาดตระเวนในพื้นที่ปลูกไผ่ของโครงการพบร่องรอยการเข้ามาใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่า บนหย่อมเส้นทางที่สร้างไว้แบบ Stepping stone นั่นก็อาจชี้วัดว่า การสร้าง ‘สะพานเชื่อมป่า’ ของโครงการฯ ได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายสูงสุดที่วางไว้ 

ดังจุดมุ่งหวังให้สัตว์ป่าจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสนามเพรียงกับอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้าสามารถเดินทางไปมาหาสู่แลกเปลี่ยนพันธุกรรมร่วมกันได้

แต่น่าเสียดายว่าในปีที่ 2 ของการปลูกไผ่ทำสะพานเชื่อมป่าทั้งสองแห่ง ยังไม่พบร่องรอยการใช้ประโยชน์บนเส้นทางที่วางไว้อย่างชัดเจนนัก 

นั่นอาจเป็นเพราะหย่อมป่า(ไผ่)ที่ปลูกไว้แบบ Stepping stone อาจยังมีไม่มากพอ และยังคงต้องปลูกเพิ่มในปีต่อๆ ไป

อย่างไรก็ตาม มากกว่าข้อมูลที่ได้หรือเรื่องการเดินทางของสัตว์ป่า การลาดตระเวนร่วมกัน 3 ฝ่าย ยังเป็นการเชื่อมสัมพันธ์กันระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชน ลดช่องว่างความห่างเหินระหว่างชุมชนกับหน่วยงานรัฐ และระหว่างหน่วยงานรัฐกับชุมชน และช่วย ให้ต่างฝ่ายได้เข้าใจบริบทการทำงานของกันและกัน 

เพราะทั้งรัฐทั้งชุมชนในพื้นที่โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมป่าฯ ต่างมีจุดร่วมเดียวในเรื่องการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพียงแต่วิธีการอาจจะต่างกัน 

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำงานร่วมกันไม่ได้ 

“การเป็นพันธมิตรร่วม การทำงานด้วยกัน จะช่วยทำให้การอนุรักษ์ในพื้นที่นอกป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าหรืออุทยานแห่งชาติมีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น” อำนาจกล่าว

และนั่นก็หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติที่จะเกิดตามมาในอนาคต

อนึ่ง ในงานลาดตระเวนพื้นที่เชื่อมป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียรสนับสนุนงบประมาณการลาดตระเวนครั้ง 3,000 บาท เพื่อใช้จ่ายในส่วนการเดินทางและเสบียงระหว่างการปฏิบัติหน้าที่

โครงการจัดการระบบนิเวศในพื้นที่ป่าสงวนเพื่อแนวเชื่อมป่าตะวันตกสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้รับการสนับสนุนงบประมาณโดยกลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร ข้าว ขนส่ง และบริการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ 

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม