องค์กร

หลักการ

ให้ความสำคัญกับการปกป้องป่าผืนใหญ่และแหล่งธรรมชาติ ซึ่งเป็นถิ่นที่อยู่ของสัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพเป็นอันดับแรก รองลงมาให้ความสำคัญกับสิ่งมีชีวิตที่เป็นชนิดพันธุ์ที่สำคัญและถูกคุกคาม ในการทำงานที่ต้องตัดสินใจให้อยู่บนพื้นฐานทางวิชาการที่รอบด้าน หรือหากไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ต้องมีวิธีแก้ไขผลกระทบที่สามารถปฏิบัติได้จริงและเป็นที่ยอมรับ อย่างไรก็ตามสมควรคงระบบนิเวศตามธรรมชาติที่มีอยู่ทั้งกระบวนการและให้ดำเนินการบูรณะถิ่นที่อยู่อาศัยและความหลากหลายทางชีวภาพเมื่อมีความจำเป็นและเป็นไปได้

ปรัชญา

ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานความร่วมมือกับทุกฝ่ายรวมถึงเพิ่มพูนความเข้าใจในการอนุรักษ์ให้พวกเขาเหล่านั้นด้วย ขณะเดียวกันในการตัดสินใจต้องมีพื้นฐานของการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ขณะที่อีกด้านหนึ่งต้องเคารพสิทธิชุมชนที่จะดำเนินชีวิตตามวัฒนธรรม โดยสอดคล้องกับการสงวนความหลากหลายทางชีวภาพ และความสมดุล ยั่งยืน มูลนิธิต้องทำหน้าที่โดยไม่หวั่นเกรงต่อปัญหาใดๆ เพราะหน้าที่ดังกล่าวเป็นหน้าที่ทางศีลธรรมของมนุษย์ในการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและพิทักษ์สิทธิของสัตว์ป่าที่จะดำรงชีวิตตามวิถีธรรมชาติ

วิสัยทัศน์ พ.ศ. 2567-2570

คงคุณค่าผืนป่าห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่ฯ เพื่อเป็นต้นแบบการบริหารจัดการร่วมกันอย่างสมดุลระหว่างผืนป่า สัตว์ป่า และชุมชน พร้อมขยายสู่พื้นที่โดยรอบ รวมถึงเป็นองค์กรอนุรักษ์หลักในการเฝ้าระวังสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อผืนป่า สัตว์ป่า และทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อลดภัยคุกคามและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศไทยด้วยหลักวิชาการ

พันธกิจ

1. สนับสนุนการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่ฯ ให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล และขยายการทำงานสู่พื้นที่โดยรอบ

2. เฝ้าระวังสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ปกป้องผืนป่า สัตว์ป่า ร่วมขับเคลื่อนและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ

3. สร้างการรับรู้และความร่วมมือของเครือข่ายในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ

4. มุ่งสู่การเป็นองค์กรธรรมาภิบาล

ยุทธศาสตร์

1. พัฒนาต้นแบบการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ในการอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล เพื่อคงคุณค่าป่าห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่ฯ 

ระยะ 4 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์นี้ มูลนิธิจะสนับสนุนการดำเนินงานเชิงพื้นที่ป่าห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่ให้คงคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล โดยนำแนวทางการจัดการร่วมระหว่าง ผืนป่า สัตว์ป่า และชุมชน ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล พร้อมสร้างความตระหนัก การมีส่วนร่วมกันในการบริหารจัดการกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน เป็นพื้นที่ต้นแบบการจัดการร่วมกันของประเทศไทย

2. ขยายการทำงานสู่พื้นที่โดยรอบห้วยขาแข้ง – ทุ่งใหญ่ฯ เพื่อปกป้องผืนป่าสัตว์ป่า 

เพิ่มพื้นที่ป่าด้วยกรอบแนวคิดการเชื่อมต่อป่าที่เหมาะสม และรักษาป่ากันชนผืนป่าตะวันตกมรดกโลก แม่วงก์ – คลองลาน ลดปัญหาคนกับสัตว์ป่า ด้วยการสร้างอาชีพที่มั่นคง พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังและผลักดันสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ ส่งเสริมพัฒนาหน่วยป้องกันรักษาป่าต้นแบบ

3. เสนอแนะเชิงนโยบาย และขับเคลื่อนแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 

ขับเคลื่อนการทำงานในการจัดการป่าไม้และสัตว์ป่าของประเทศไทย ผลักดันการทำงานผ่านการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย พร้อมทั้งปรับปรุงและแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจพัฒนาโครงการในพื้นที่ป่าด้วยข้อมูลที่เป็นจริงตามหลักวิชาการและเป็นปัจจุบันที่สุดด้วยความละเอียดรอบคอบ ให้การพัฒนาเติบโตควบคู่ไปกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

4. เฝ้าระวังสถานการณ์ทรัพยากรธรรมชาติของประเทศไทย ปกป้องผืนป่า สัตว์ป่า ร่วมขับเคลื่อนและฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ 

คงบทบาทสำคัญในการเป็นองค์กรเฝ้าระวังโครงการหรือกิจกรรมที่จะมีผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่าของประเทศไทย โดยใช้องค์ความรู้ทางวิชาการ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมาเป็นแนวทางพิจารณา มีสาธารณชนเป็นส่วนสำคัญในการตัดสินใจและมีส่วนร่วมผลักดัน โดยมุ่งเน้นที่ผืนป่าตะวันตกเป็นลำดับแรก

5. สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการทำงานทุกมิติ

สนับสนุนและทำงานร่วมกับองค์กรเครือข่ายอนุรักษ์ในทุกมิติ ทั้งในระดับเยาวชน นักศึกษา ชุมชน และสาธารณชน ตลอดจนเครือข่ายสื่อมวลชนและผู้พิทักษ์ป่า ภายในประเทศและต่างประเทศ ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้นรวมถึงมีหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมสนับสนุนการทำงานอย่างเข้มแข็งและจริงจัง

6. การสื่อสาร

พัฒนาศักยภาพการสื่อสารอย่างมืออาชีพให้ทันสมัย เข้าใจ เข้าถึงง่าย และมีพลัง พัฒนาเนื้อหารวมถึงรูปแบบการนำเสนอให้ตรงกับเทรนด์ Social และกลุ่มเป้าหมาย เกิดฐานข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ พร้อมเผยแพร่ข้อเท็จจริงสู่สาธารณะและภาครัฐ รวมถึงผู้มีอำนาจตัดสินใจ เพื่อสร้างการตระหนักรู้และความเข้าใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และการทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

7. บริหารองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาล

ยุทธศาสตร์นี้เป็นยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากเป็นส่วนงานที่สนับสนุนการทำงานของทุกยุทธศาสตร์ โดยมีฝ่ายอยู่ภายในยุทธศาสตร์นี้ 3 ฝ่ายด้วยกัน ได้แก่

1) บริหารองค์กร ระยะ 4 ปี ตามแผนยุทธศาสตร์นี้ มูลนิธิจะบริหารจัดการองค์กรด้วยหลักธรรมาภิบาลเพื่อไปสู่การเป็นองค์กรที่ยั่งยืน นำคู่มือเจ้าหน้าที่และการบริหารงานขององค์กร 2566 มาใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการภายในองค์กรตลอด 4 ปี ต่อจากนี้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาตำแหน่ง โครงสร้าง เพื่อให้รองรับการจัดการกลุ่มงานเพื่อให้บุคลากรคล่องตัว พัฒนาระบบค่าตอบแทนและสวัสดิภาพให้มีความเป็นมาตรฐาน พัฒนาศักยภาพของบุคลากรอย่างสม่ำเสมอเพื่อนำไปสู่ความรับผิดชอบในการบริหารแผนงานกิจกรรมของมูลนิธิได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การยกระดับการทำงานในองค์กรที่มีมาตรฐานและมีความโปร่งใสทุกมิติ และยังคงยึดหลักสร้างสมดุลในการจัดการด้วยหลัก 4 M (Management Man Money Material)

2) งานระดมทุน เป็นการพัฒนาการสนับสนุนการทำงานของมูลนิธิในรูปแบบต่างๆ ผ่านการประชาสัมพันธ์และกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้สาธารณชนสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์มูลนิธิ

3) งานของที่ระลึก เป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์สื่อสารงานของมูลนิธิผ่านผลิตภัณฑ์ของที่ระลึกให้กับสาธารณชน ทำให้เกิดรายได้สำหรับใช้ในการดำเนินงาน และใช้เป็นการรณรงค์หรือประชาสัมพันธ์งานของงานของมูลนิธิไปด้วยในตัว