[ก้าวสู่ปีที่ 31] อะไรคือ จอมป่า ?

[ก้าวสู่ปีที่ 31] อะไรคือ จอมป่า ?

ปี 2553 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรผ่านหลักหมายสำคัญของการทำงานกับชุมชนในผืนป่าตะวันตก นั่นคืองานเปิดโครงการจอมป่า 2 หรือการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมระยะที่ 2 ณ บริเวณด้านหน้าของที่ว่าการอำเภออุ้มผางอย่างลุล่วงผ่านไปได้ด้วยดี 

มีการลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และมูลนิธิสืบฯ เพื่อดำเนินโครงการในระยะที่ 2 เนื่องจากบันทึกความร่วมมือฉบับปัจจุบันจะสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคมปีนั้น

โครงการจอมป่า คืออะไร ขออธิบายอย่างนี้ครับ 

โครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (Joint Management of Protected Areas-JoMPA) หรือที่เรียกสั้นๆ ว่าโครงการจอมป่า เป็นวิธีทำการแบบใหม่ คือ ใช้คนกลางที่เป็น NGO (มูลนิธิสืบฯ) ทำงานกระบวนการชุมชนเพื่อจัดการความขัดแย้ง (Conflict management) ในเรื่องป่าไม้ที่ดินโดยเฉพาะปัญหาพื้นที่ชุมชนกลางป่าอนุรักษ์ ระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ 

เป้าหมายทำให้เกิดการมีส่วนร่วมจาก 3 ฝ่าย คือ เจ้าหน้าที่รัฐ ชาวบ้าน และมูลนิธิสืบฯ บนเวทีการปรึกษาหารือ สร้างกระบวนการสำรวจพื้นที่ การยอมรับต่อกัน และการถ่ายทอดความรู้ของฝ่ายรัฐในระบบการจัดทำแผนที่ให้ชุมชนได้รับรู้ร่วมด้วย 

จากนั้นพัฒนาไปสู่เป้าหมายของข้อตกลงที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขและรักษาระบบนิเวศคุณค่าดั้งเดิมของพื้นที่ไว้ให้ได้ด้วย โดยเป็นหลักการนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในอนาคตร่วมกัน 

โดยในระดับนโยบาย ได้ทำบันทึกข้อตกลงการทำงานร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พัฒนาโครงการร่วมกับกรมป่าไม้ เพื่อตกลงทำงานในพื้นที่คุ้มครอง 17 พื้นที่ทั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานแห่งชาติ ต่อเนื่องกันเป็นผืนป่าตะวันตก (Western Forest Complex) ในพื้นที่ 6 จังหวัด ตั้งแต่ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี 

ปัจจุบันโครงการจอมป่าได้ทำงานกับชุมชน 129 ชุมชนในผืนป่าตะวันตก ทั้งกลุ่มชาติพันธุ์กะเหรี่ยงและกลุ่มอื่นๆ ผลักดันให้เกิดการยอมรับในแนวเขตสำรวจร่วมกันของชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ในระดับพื้นที่กว่า 100 ชุมชน 

รวมทั้งการยอมรับในวิถีชีวิตการทำไร่หมุนเวียนที่รักษาป่าไว้แต่เดิม ขยายผลสู่การทำงานกับหมู่บ้านขอบนอกพื้นที่คุ้มครองในรูปแบบของการจัดตั้งป่าชุมชน 135 ชุมชน และกำลังดำเนินการพัฒนาเครือข่ายการทำงานร่วมกันของชุมชนภายใต้ชื่อเครือข่ายภูมินิเวศป่าตะวันตก เกิดเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังทรัพยากร เครือข่ายป่าชุมชน เครือข่ายชาติพันธุ์ ภูมิปัญญา และศิลปวัฒนธรรม เครือข่ายศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ เครือข่ายบ้านเรียนรู้ เครือข่ายพัฒนาอาชีพและระบบสวัสดิการ เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายวิทยากรกระบวนการ และเครือข่ายอื่นๆ รวม 9 ข่ายหลักๆ และกระจายเป็นกลุ่มกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ประมาณ 100 เครือข่าย 

งานที่พัฒนามาขนาดนี้ต้องขอบคุณแหล่งทุนจากเดนมาร์คที่เพิ่งสิ้นสุดไปและจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชนที่กำลังสนับสนุนต่อเนื่อง

โครงการดังกล่าวจะสร้างแนวทางใหม่ๆในการอนุรักษ์ป่าควบคู่ไปกับการรักษาความเป็นชุมชน โดยแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในเรื่องการประกาศเขตอนุรักษ์ทับพื้นที่ชุมชน ความขัดแย้งประเด็นการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยง และความขัดแย้งในเรื่องการขยายพื้นที่เกษตรกรรมของชุมชนบนพื้นที่ต้นน้ำที่ส่งผลกระทบทางระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง 

ตลอดจนเป็นตัวอย่างการทำงานจัดตั้งป่าชุมชนที่เกิดความร่วมมือระหว่างชุมชนและภาครัฐ โดยมีรูปธรรมชัดเจนในผืนป่าตะวันตก ซึ่งเป็นป่าอนุรักษ์ที่ต่อเนื่องใหญ่ที่สุดของไทย จึงน่าจะทำให้เกิดการแก้ปัญหาในพื้นที่รูปธรรมที่ส่งผลในการรักษาทรัพยากร เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนในการขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆต่อไป

ในอดีตความขัดแย้งในประเด็นชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์แก้ไขปัญหาโดยมองจากฝ่ายเดียว นั่นคือแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการอพยพชุมชนออกจากผืนป่าจากฝ่ายรัฐ และแนวทางการนำชุมชนเข้าเรียกร้องสิทธิและต่อต้านการประกาศพื้นที่อนุรักษ์ และเป็นสาเหตุที่ทำให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากต่างฝ่ายต่างมองในมุมเดียวคือมุมด้านการอนุรักษ์ และมุมด้านสิทธิมนุษยชน โดยไม่นำกระบวนการจัดการความขัดแย้งโดยใช้เทคนิคคนกลางและเวทีประชุมอย่างสร้างสรรค์ บนพื้นฐานที่เป็นไปได้และสร้างข้อตกลงที่สามารถยอมรับได้ร่วมกัน

จากการทำงานที่ผ่านมา ทำให้เกิดการปรับพฤติกรรมและทัศนคติของชุมชนทีมีต่อเจ้าหน้าที่รัฐให้เข้าใจกันมากขึ้น สามารถแยกแยะปัญหาในระดับพื้นที่และระดับนโยบายตลอดจนปัญหาในเรื่องแนวทางการปฏิบัติได้ ในขณะเดียวกันก็ปรับทัศนของเจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่มีต่อชาวบ้าน ปรับกระบวนการทำงานมาพูดคุยหารือร่วมกันโดยมีคณะกรรมการชุมชนร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆ 

ในระดับนโยบาย กระบวนการมีส่วนร่วม และยอมรับการดำรงอยู่ของชุมชนได้รับการยอมรับจากระดับนโยบายมากขึ้นเรื่อยๆ มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกัน และพัฒนากิจกรรมในโครงการจอมป่าให้อยู่ในภารกิจและงบประมาณปกติของกรมในหลายกิจกรรม

มักมีผู้ถามว่า โครงการนี้มีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการเป็นจำนวนเท่าใด ก็อาจกล่าวได้ว่าประชาชนที่อยู่ในชุมชนในป่าและขอบป่าประมาณ 100,000 คน เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ลดความขัดแย้งกับชาวบ้าน ประมาณ 1,000 คน หากมีการขยายผลในระดับนโยบายจะมีผู้ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้อีกมาก ยังไม่รวมถึงประโยชน์ที่สาธารณชนได้รับจากการรักษาป่าต้นน้ำและแหล่งพันธุกรรมระดับโลก

ขอบคุณทั้งฝ่ายรัฐที่เริ่มมองชาวบ้านเป็นเพื่อน และขอบคุณชาวบ้านที่เริ่มมองฝ่ายรัฐเป็นมิตรนะครับ เพราะนี่จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของทฤษฎีการรักษาป่าในปีแห่งความหลากหลายทางชีวภาพสากล 2010 ที่เผอิญตรงกับช่วงเวลาที่มูลนิธิสืบฯ ทำงานมา 20 ปี ด้วยเช่นกัน

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - 2566)