‘คณะกรรมการอนุรักษ์ชุมชน’ กับบทบาทการสร้างการมีส่วนร่วมในการรักษาป่า 

‘คณะกรรมการอนุรักษ์ชุมชน’ กับบทบาทการสร้างการมีส่วนร่วมในการรักษาป่า 

การทำงานรักษาผืนป่ากับชุมชนในพื้นที่ป่าตะวันตกของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรนั้น มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าระหว่างเจ้าหน้าที่ป่าไม้ กับชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ เป้าหมายที่สำคัญเพื่อลดความขัดแย้งอันเกิดจากวิถีชีวิตที่แตกต่าง โดยมองข้ามเงื่อนไขในอดีตที่ผ่านนำไปสู่การร่วมรักษาป่า ซึ่งรูปธรรมที่เป็นกลไกขับเคลื่อนในพื้นที่ คือ “คณะกรรมการอนุรักษ์ชุมชน” 

เมื่อวันที่ 21 -27 มกราคม พ.ศ. 2566 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้จัดอบรมพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการร่วมอนุรักษ์ชุมชน 7 ชุมชนในพื้นที่ผืนป่ามรดกโลก (เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก) โดยผู้เข้าร่วมเป็นคณะกรรมการอนุรักษ์ของชุมชน 7 ชุมชน จากบ้านจะแก, บ้านทิไล่ป้า, บ้านสะลาวะ -ไล่โว่, บ้านสะเนพ่อง, บ้านเกาะสะเดิ่ง และบ้านกองม่องทะ จำนวน 115 นาย 

เนื้อหาในการอบรมเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 อบรมการอ่านแผนที่และการใช้เครื่องมือจับพิกัดบนพื้นผิวโลก GPS อีกทั้งได้มอบชุดคณะกรรมการอนุรักษ์ชุมชนให้กับคณะกรรมการทั้ง 7 ชุมชน เพื่อใช้ในกิจกรรมลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก 

คณะกรรมการอนุรักษ์ชุมชน คือใคร ? 

ปี พ.ศ. 2547 – 2557 มูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ดำเนินโครงจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก หรือเรียกสั้น ๆ ว่าโครงการจอมป่า (Jompa) โดยทำงานกับชุมชนในผืนป่าตะวันตก และชุมชนประชิดขอบป่าตะวันตกกว่า 400 ชุมชน โดยมีเจ้าหน้าที่ภาคสนามเข้าไปดำเนินในพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ทั้ง 17 พื้นที่อนุรักษ์ ใน 6 จังหวัดทั่วผืนป่าตะวันตก 

กระบวนการหนึ่งในการสร้างการมีส่วนร่วมตามเป้าหมายโครงการฯ คือ การลดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เรื่องแนวเขตที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นความขัดแย้งกันมาอย่างยาวนาน โดยที่ทั้งสองฝ่ายยังหาข้อยุติไม่ได้ในช่วงเวลานั้น 

และเมื่อเจ้าหน้าที่ภาคสนาม เข้าไปดำเนินงานตามภารกิจ กิจกรรมหนึ่งที่ดำเนิน “สำรวจพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชน” โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ในพื้นที่ และตัวแทนชุมชน จึงเกิดแผนที่แนวเขตการใช้ประโยชน์ชุมชนที่ชัดเจน และใช้เป็นฐานข้อมูลในการแสดงการใช้ประโยชน์พื้นที่ยึดถือรวมกัน เพื่อลดความขัดแย้งเกี่ยวกับพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ โดยมีขอบเขตที่ชัดเจน พร้อมกำหนดกฎ กติกา การใช้ประโยชน์ทรัพยากรในพื้นที่ 

ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่รักษาเส้นแนวขอบเขต กฎ กติกา ดังกล่าว คือ “คณะกรรมการอนุรักษ์ชุมชน” โดยได้รับแต่งตั้งจากที่ประชุมหมู่บ้าน ซึ่งในแต่ละชุมชนจะมีจำนวนแตกต่างกันไป ตั้งแต่ 10 – 15 คน มีโครงสร้างประกอบด้วย ที่ปรึกษา ประธาน เลขาฯ กรรมการรับผิดชอบแต่ละโซนพื้นที่ 

บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการอนุรักษ์ชุมชน กลไกขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมรักษาป่า  

หน้าที่หลักของคณะกรรมการอนุรักษ์ชุมชน คือการทำหน้าที่เป็น “คนกลาง” ประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่อนุรักษ์กับชุมชน เจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อลดความขัดแย้ง และให้เกิดกลไกการมีส่วนร่วมในการรักษาทรัพยากรในพื้นที่ ซึ่งแต่เดิมความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมขนที่มีบริบทพื้นที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ โดยคณะกรรมการจะมีการประชุมร่วมกับเจ้าหน้าที่เดือนละ 1 ครั้ง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลสถานการณ์ภายในพื้นที่ และกำหนดแผนเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น กิจกรรมการลาดตระเวน,   

อีกภารกิจคือการเฝ้าระวังและป้องกันดูแล ฟื้นฟูพื้นที่ป่า ในแนวเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชน ซึ่งมีกิจกรรมลาดตระเวนร่วมระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชน โดยจะเดินลาดตระเวนกันตามแนวเขตใช้ประโยชน์ของชุมชน รวมทั้งเก็บข้อมูลร่องรอยสัตว์ป่า และภัยคุกคามที่เกิดขึ้นในพื้นที่ เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจจะนำข้อมูลที่ได้จากการลาดตระเวนมาหารือร่วมกันในที่ประชุมอีกครั้ง เพื่อจัดทำเป็นแผนในการเดินลาดตระเวนครั้งต่อไป รวมทั้งกิจกรรมด้านการฟื้นฟูดูแลป่า ฟื้นฟูลำห้วย และกิจกรรมอนุรักษ์อื่นที่อยู่ในพื้นที่ชุมชน

กรณีตัวอย่างหากการลาดตระเวนของคณะกรรมการชุมชน หากพบภัยคุกคาม เช่น การแผ้วถางพื้นที่เป็นป่า หรือล้ำเส้นขอบเขตที่ได้ตกลงไว้ เบื้องต้นทางคณะกรรมการและเจ้าหน้าที่ จะจัดเก็บข้อมูลภาพถ่าย ค่าพิกัด จากนั้นจึงเข้าที่ประชุมหมู่บ้านเพื่อพิจารณากรณีดังกล่าว หากเป็นการกระทำผิดครั้งแรกโดยรู้เท่าไม่ถึงการ หรือไม่มีเจตนา จะถูกตักเตือนโดยคณะกรรมการ และพื้นที่ที่ถูกแผ้วถาง จะมีสถานะเป็น “เขตอนุรักษ์ชุมชน” แต่หากพื้นที่แผ้วถางอยู่ในเขตอนุรักษ์ จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เพื่อจัดทำการตรวจยึดเป็น “แปลงคดี” 

การเสริมศักยภาพคณะกรรมการอนุรักษ์ชุมชน

ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นกับบทบาทหน้าที่ และภารกิจของคณะกรรมการอนุรักษ์ชุมชน ทั้งการด้านประสานงานกับเจ้าหน้าที่ การลาดตระเวนร่วม และการฟื้นฟูดูแลป่า จำเป็นต้องมีองค์ความรู้ เครื่องมือ และเทคนิคในการทำงาน ดังนั้น มูลนิธิสืบนาคะเสถียรภายใต้  “โครงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของเครือข่ายคณะกรรมการอนุรักษ์ ทั้ง 7 กลุ่มบ้าน ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก” โดยเจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบฯ 

ซึ่งการอบรมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการอนุรักษ์ชุมชน เพื่อให้คณะกรรมการมีองค์ความรู้  ทั้งความรู้ด้านกฎหมาย โดยเฉพาะ พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับชุมชนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า โดยเนื้อหาจะนำส่วนที่เกี่ยวข้องกับชุมชน เช่น การใช้ประโยชน์ทรัพยากรพื้นที่ตาม มาตรา 57 พื้นที่ใช้ประโยชน์ ตามมาตรา 121 ซึ่งคณะกรรมการจะนำไปใช้เพื่อทบทวน กฎ ระเบียบ การใช้ประโยชน์ในพื้นที่อีกครั้ง  

นอกจากการให้ความรู้ด้านกฎหมายแล้ว ทางมูลนิธิสืบฯ ได้อบรมด้านเทคนิคเกี่ยวกับการใช้เครื่องมือจับพิกัดบนพื้นผิวโลก หรือ GPS และการอ่านแผนที่ เช่น การอ่านค่าพิกัด, การกำหนดค่าพิกัดบนพื้นที่เป้าหมาย เพื่อใช้ในภารกิจการลาดตระเวนร่วมกับเจ้าหน้าที่

หากเปรียบเทียบบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการอนุรักษ์ชุมชน ก็คือกลุ่มบุคคลในชุมขนที่ทำหน้าที่ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ชุมชน โดยมีบทบาทเป็น คนกลางประสานงาน เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม และเป็นกลไกที่สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างชุมชน กับเจ้าหน้าที่ เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ของตนเอง  

ผู้เขียน

+ posts

กองบรรณาธิการ ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และโปรดิวเซอร์รายการ Seub Talk