ตั้งคณะกรรมการพิจารณาชดเชยเยียวยา ลดความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลา รอบพื้นที่เขาสามร้อยยอด 

ตั้งคณะกรรมการพิจารณาชดเชยเยียวยา ลดความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลา รอบพื้นที่เขาสามร้อยยอด 

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ประชุมจัดตั้งคณะกรรมการพิจารณาชดเชยเยียวยา ลดความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลา รอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด

เสือปลา สัตว์ป่าคุ้มครอง มีถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชุ่มน้ำของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่บริเวณโดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด จ.ประจวบคีรีขันธ์ 

จากข้อมูลงานวิจัยฯ ระบุว่าพบจำนวนประชากรเสือปลา ทั้งในและนอกพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด รวม 67 ตัว โดยอาศัยอยู่ในป่าต้นธูป บึงน้ำ ทุ่งหญ้ารกร้าง พฤติกรรมการออกหากินของเสือปลา จะออกหากินในเวลากลางคืน โดยเหยื่อของเสือปลา ได้แก่ ปลา ปู หอย หนู นก และสัตว์ขนาดเล็กอื่น ๆ รวมถึงสัตว์เลี้ยงของชาวบ้าน เช่น ไก่ ปลา นำมาซึ่งความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่าง “คน กับ เสือปลา” เกิดการวางกับดัก การล่า อันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จำนวนประชากรเสือปลาลดลง  

จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2566 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ภายใต้โครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชน รอบพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด ร่วมกับองค์กรแพนเทอร่าประเทศไทย อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด องค์การบริหารส่วนตำบลบ้านดอนยายหนู ได้จัดประชุมเพื่อจัดตั้ง ‘คณะกรรมการพิจารณาเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเสือปลา’ ขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างชุมชน กับ เสือปลา 

โดยคณะกรรมการจะประกอบไปด้วย กำนันตำบลดอนยายหนู,นายกองค์การบริหารส่วนตำบลดอนยายหนู และองค์การบริหารส่วนตำบลไร่เก่า ไร่ใหม่ นักวิชาการจากองค์กรแพนเทอร่าประเทศไทย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด และผู้ใหญ่บ้านทั้ง 7 หมู่บ้าน 

ทำไมจึงต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการชดเชยเยียวยา  

จากอดีตที่ผ่านมาการที่เสือปลาเข้าไปกินไก่ชนในกรงเลี้ยง ปลาในบ่อของชาวบ้านนั้น เมื่อผู้ได้รับผลกระทบแจ้งต่อผู้ใหญ่บ้าน ปศุสัตว์อำเภอเรื่องจะเงียบหายไป ไม่ได้รับการตอบรับหรือชดเชยใด ๆ เนื่องจากความเสียหายดังกล่าวไม่เข้าหลักเกณฑ์ของทางราชการ จึงทำให้ชาวบ้านเลือกวิธีการป้องกันด้วยตัวเอง ตั้งแต่การเลี้ยงสุนัข การติดไฟส่องสว่าง การใช้กับดัก จนถึงขั้นใช้ปืนยิง 

และในหลายกรณีพฤติกรรมดังกล่าวอาจจะไม่ใช่พฤติกรรมการหากินของเสือปลา แต่เป็นสัตว์นักล่าประเภทอื่นที่อาศัยอยู่บริเวณเดียวกัน ดังนั้น เพื่อสร้างความเข้าใจต่อพฤติกรรมของเสือปลา ลดปัญหาความขัดแย้งดังกล่าว จึงต้องมีกลไกคณะกรรมการเพื่อพิจารณา กรณีปัญหาที่เกิดขึ้น อีกทั้งยังเป็นช่องทางที่ชุมชนสามารถแจ้งข้อมูลเพื่อลดผลกระทบได้ในเบื้องต้น 

รูปแบบขั้นตอนของการชดเชยเยียวยาเป็นอย่างไร ?   

นางสาวปารีณา ธนโรจนกุล เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร หัวหน้าโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนฯ ได้กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของการชดเชยเยียวยา คือการลดความขัดแย้งระหว่าง ชุมชน กับ เสือปลา รอบพื้นที่อุทยานฯเขาสามร้อยยอด เพื่อให้เสือปลาสามารถดำรงชีวิตอยู่ร่วมกับคนได้โดยส่งผลทบน้อยที่สุด  

โดยกระบวนการชดเชยเยียวยาจะเริ่มจากการได้รับแจ้งเหตุจากผู้ได้รับความเสียหายพบร่องรอยเสือปลาในพื้นที่ จากนั้นจึงทำการตรวจสอบข้อมูลจากที่เกิดเหตุ หากพบมีร่องรอยเสือปลาอย่างชัดเจนจะลงบันทึก ‘แบบฟอร์มความเสียหายจากเสือปลา’ และนำส่งให้คณะกรรมการพิจารณา 

หากร่องรอยหลักฐานไม่ชัดเจนทางคณะทำงานจะเข้าไปติดตั้งกล้องดักถ่ายเพื่อหาหลักฐานอีกครั้ง กรณีถ้ามีหลักฐานภาพถ่ายชัดเจนจะยื่นเรื่องต่อ ‘คณะกรรมการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเสือปลา’ เพื่อพิจารณา

ปารีณา ธนโรจนกุล l PHOTO : คชาณพ พนาสันติสุข

ซึ่งขั้นตอนนี้หากไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการทางคณะทำงานก็จะไปตรวจสอบข้อมูลร่วมกับนักวิจัยฯ ในพื้นที่อีกครั้ง กรณีผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการ จะแบ่งผลกระทบออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 

1. พฤติกรรมเสือปลาก่อความรำคาญต่อ หรือสร้างปัญหาต่อทรัพย์สินเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ฉี่ หรือ ขี้ ใส่บริเวณขนำ จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคณะกรรมการ 

2. พฤติกรรมของเสือปลาเข้าไปกิน เป็ด ไก่  ในกรงเลี้ยง หากเป็นจำนวนไม่มาก (ไม่เกิน 10 ตัว) ทางคณะกรรมการจะพิจารณาชดเชยด้วยพันธุ์เป็ด และไก่ ที่สูญเสียไป หากเป็นจำนวนมากจะชดตามที่สุญเสียและสร้างกรงเลี้ยงให้แข็งแรงเพิ่มขึ้นด้วย 

3. การติดตามประเมินผล คณะทำงานจะติดตามประเมินผลทุกเดือนจากกล้องดักถ่าย และการพูดคุยกับชุมชนในพื้นที่ 

การพิจารณาให้ความเห็นของคณะกรรมการ จะให้ความเห็นผ่านภาพถ่ายจากกล้องดักถ่าย โดยในส่วนนี้จะมีผู้แทนจากองค์กรแพนเทอร่าประเทศไทย ซึ่งทำวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมเสือปลาในพื้นที่ ร่วมพิจารณาให้ความเห็นด้วยประกอบด้วย ซึ่งจะเป็นการสอดแทรกความรู้ให้กับชุมชน รวมทั้งรวบรวมข้อมูลพฤติกรรมของเสือปลาที่ส่งผลกระทบกับชุมชนต่อยอดเป็นฐานข้อมูลอีกด้วย  

ส่วนเงินที่ใช้ในการชดเชยเยียวยา อยู่ภายใต้แผนงานโครงการส่งเสริมการอนุรักษ์เสือปลา โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนฯ โดยการสนับสนุนของกองทุนสิ่งแวดล้อม เพื่อนำมาจัดตั้งเป็นกองทุนในเบื้องต้นก่อน ต่อจากนั้นจึงดำเนินกิจกรรมระดมทุน   

การส่งเสริมการมีส่วนร่วมอนุรักษ์เสือปลา กับชุมชนรอบพื้นที่อุทยานฯ เขาสามร้อยยอดในอนาคต  

ปารีณา  ธนโรจนกุล  ได้กล่าวต่อว่า การชดเชยเยียวยา เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อลดความขัดแย้ง ในส่วนของโครงการฯ ยังมีการกิจกรรมที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เสือปลาในพื้นที่อีกหลายกิจกรรม ซึ่งตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการฯ ได้จัดทำสื่อนิทรรศการเคลื่อนที่เรียนรู้เกี่ยวกับเสือปลา ทั้งในพื้นที่ และช่องทางของมูลนิธิสืบฯ และกิจกรรมศึกษาดูงาน 

ซึ่งต่อไปทางโครงการฯ ดำเนินการกิจกรรมเพื่อส่งเสริมให้เกิดรายได้กับชุมชนโดยใช้เสือปลาเป็นสัญลักษณ์ และเป็นสื่อกลาง เช่น พัฒนาวัตถุดิบที่มีในชุมชน  เพื่อการต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ ส่วนที่มีอยู่แล้วจะช่วยออกแบบบรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อ (Packaging) ให้ทันสมัย น่าใช้ ยิ่งขึ้น 

รวมทั้งเพิ่มช่องทางด้านการตลาดออนไลน์ และกิจกรรมให้ความรู้กับเยาวชนในพื้นที่ผ่านการอบรม ‘มัคคุเทศก์น้อย’  เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับระบบนิเวศพื้นที่ชุมน้ำ และเสือปลาในพื้นที่เขาสามร้อยยอดอีกด้วย  

การตั้งคณะกรรมการพิจารณาชดเชยเยียวยาเพื่อลดความขัดแย้งระหว่างคนกับเสือปลาครั้งนี้ นับเป็นกลไกที่สำคัญของกระบวนการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เสือปลา กับชุมชนรอบพื้นที่อุทยานฯ เขาสามร้อย โดยผ่านกลไกการพิจารณาจากทั้งหน่วยงานท้องถิ่น ตัวแทนชาวบ้าน นักวิจัยฯ และชุมชน พร้อมทั้งกิจกรรมส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากชุมชน 

โดยมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่า พื้นที่ชุ่มน้ำรอบอุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอดจะเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของประชากร ‘เสือปลา’ สัตว์ผู้ล่าขนาดเล็กตราบนานเท่านาน

ผู้เขียน

+ posts

กองบรรณาธิการ ฝ่ายสื่อสารองค์กรมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และโปรดิวเซอร์รายการ Seub Talk