ความไม่เป็นธรรมในขบวนการเคาะกะลาทำลายป่า – ทำไมถึงเรียกร้องให้ คืนความชอบธรรม

ความไม่เป็นธรรมในขบวนการเคาะกะลาทำลายป่า – ทำไมถึงเรียกร้องให้ คืนความชอบธรรม

จากแถลงการณ์มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

จากระบบ ‘เคาะกะลา’ ทำลายป่า ที่อธิบดีรัชฎา (รัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา) โดนล่อซื้อ เรื่องการทุจริตผลประโยชน์เป็นเพียงสิ่งที่เห็นได้ชัด แต่ปัญหาที่ทำลายองค์กร และความเป็นธรรมที่ยังไม่ได้พูดกันมากนัก ได้แก่

1. อธิบดีรัชฎาเข้ารับตำแหน่งเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ ได้มีคำสั่งย้ายข้าราชการระดับบริหาร ซี 9 แทบจะในช่วงวันแรกเหมือนเตรียมการมานานเกือบทั้งหมด ราวๆ 20-30 คน ส่วนใหญ่ให้ไปอยู่ตำแหน่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดต่างๆ โดยไม่มีความผิดอะไร ไม่ได้ทำงานร่วมกัน หลายคนมีผลงานดีเป็นที่ประจักษ์ก็ย้ายไปทำงานในภารกิจที่ไม่มีความสำคัญเทียบเท่างานเก่า 

แต่ข้าราชการระดับนี้ คือ คนคุมระบบทั้งระบบในโครงสร้างงบประมาณ ที่สำคัญคือการแต่งตั้งข้าราชการระดับนี้เป็นอำนาจของระดับกระทรวงที่ต้องหาตำแหน่งในกระทรวงให้ และต้องออกคำสั่งให้ไม่ได้อยู่ในอำนาจของอธิบดีรัชฎา ดังนั้นความไม่ชอบธรรมเรื่องนี้เป็นเรื่องระดับกระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยตรง เรื่องนี้ไม่ผิด แต่ขาดความชอบธรรม

2. การโยกย้ายข้าราชการเข้ามารับตำแหน่งซี 9 แทนคนที่ถูกย้ายออก ก็เป็นอำนาจของระดับกระทรวงเช่นเดียวกับข้อ 1 ดังนั้น การย้ายทีมงานระดับบริหารมาเพื่อควบคุมโครงสร้างสำคัญที่ควรคัดสรรบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ มีประสบการณ์ มีข้อสังเกตว่าทำไมอธิบดีและการเสนอบุคคลไปยังกระทรวงให้ตัดสินใจจึงสามารถคัดสรรผู้คนมาได้อย่างรวดเร็วทันที ทั้งๆ ที่หลายๆ คนที่เข้ามามีมลทินด้านการทุจริตในระดับที่ ปปช. ชี้มูลด้วยซ้ำ ซึ่งความไม่ชอบธรรมนี้การตัดสินใจของกระทรวงก็มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงเช่นกัน

ดังนั้นใน ข้อ 1 และ 2 เมื่อมีกรณีที่อธิบดีรัชฎามีข้อหาที่มีหลักฐานชัดเจนต่อสังคมในระดับนี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมควรคืนความเป็นธรรมให้บุคลากรที่ถูกโยกย้ายในครั้งนั้น และปรับโครงสร้างการบริหารที่เกี่ยวเนื่องกับคดีความผิดของอธิบดีรัชฎา

3. คำสั่งให้ข้าราชการระดับ 8 นับร้อยตำแหน่ง พวกนี้เป็นข้าราชการที่อาวุโสทำงานมายาวนาน 20-30 ปี กลับไปประจำตำแหน่งสังกัดเดิม ถ้ามีคำสั่งให้คนอื่นมาแทนทันที เป็นเทคนิคที่แทบจะไม่เคยมีใครเคยเห็นว่าทำกันได้ขนาดนี้ ข้าราชการระดับผู้อำนวยการส่วน และหัวหน้าพ้นที่อนุรักษ์สำคัญ ถูกเป็นเป้าหมายเพื่อโยกย้ายคนอื่นเข้ามาแทนที่ได้ทันที โดยไม่ต้องหาตำแหน่งที่มีความสำคัญเทียบเท่ากันไว้รองรับเมื่อมีความต้องการที่จะหาคนใหม่ของตนเองเข้ามาแทน หากมีผลประโยชน์ตามขบวนการเคาะกะลาจริง ก็จะเป็นช่องให้เรียกรับผลประโยชน์สองต่อทั้งผู้ที่ย้ายมาแทน และการป้องกันไม่ให้ตัวเองถูกย้ายไป หรือหากถูกย้ายไปแล้วไม่มีงานหรือไกลจากบ้านปัจจุบันก็อาจจะเป็นช่องทางให้ต้องวิ่งเต้นหาเงินทองมาขอให้ได้กลับมาอยู่ในภูมิภาคเดิม 

ตำแหน่งเหล่านี้คือตำแหน่งที่ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางการดูแลงบประมาณที่มาจากสำนักส่วนกลางอีกที และเป็นตำแหน่งที่ดูแลบุคลากรในระดับหัวหน้าในพื้นที่อนุรักษ์ และหัวหน้าหน่วยงานภาคสนามอื่นๆ ที่ล้วนมีงบประมาณค่าใช้สอยประจำปี

4. มีการโยกย้ายหัวหน้าหน่วยงานภาคสนามแทบจะเป็นคำสั่งรายวันในระยะแรกๆ ที่อธิบดีรัชฎาเข้ารับตำแหน่ง โดยเฉพาะหัวหน้าอุทยานฯที่มีความสำคัญด้านเก็บเงินรายได้ พวกหัวหน้ามีการโยกย้ายประมาณ 60% ในร้อยกว่าตำแหน่ง ทั้งๆ ที่หัวหน้าอุทยานเหล่านี้ในช่วงที่ผ่านมาล้วนผ่านงานสำคัญในช่วงการปฎิรูปใหญ่ ทั้งการสำรวจพื้นที่แก้ไขปัญหาชุมชนในป่าตาม พรบ.ใหม่ปี 62 การสำรวจและจัดประชุมการใช้ทรัพยากรพวกของป่าตามพรบ.ใหม่ 62 เช่นเดียวกัน ที่ต้องใช้ความรู้และประสบการณ์การทำงานอย่างสูง การขยายระบบลาดตระเวนเชิงคุณภาพในพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศผ่านเกณฑ์ของศูนย์ความคุมจากส่วนกลางที่ทำได้อย่างดีเป็นที่ประจักษ์ทำให้ทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด การเก็บเงินรายได้เข้าอุทยานที่ไม่รั่วไหลเหมือนในอดีตเข้ามาส่วนกลางและคืนกลับไปสู่ท้องถิ่น คืนไปปรับปรุงบ้านพักเจ้าหน้าที่ การบริหารนักท่องเที่ยว ยานพาหนะ และโครงการต่างๆ ที่พลิกโฉมอุทยานอย่างผิดหูผิดตา หัวหน้าพื้นที่ที่มีผลการทำงานเหล่านี้ถูกโยกย้ายออกไปอย่างไม่เป็นธรรมเช่นกัน รวมถึงหัวหน้าภาคสนามอื่นๆ อีกจำนวนมาก

ดังนั้น ผู้ที่เข้ามาทำงานแทนอธิบดีรัชฎาก็ควรหาวิธีการคืนความชอบธรรมให้กับบุคลากรทั้งในข้อ 3 และ 4 นี้ด้วย

เรียนมาด้วยความปราถนาดีนะครับท่านนายกฯ’

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)