‘งานอนุรักษ์บนแผนที่’ นิทรรศการรำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร [2]

‘งานอนุรักษ์บนแผนที่’ นิทรรศการรำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร [2]

‘งานอนุรักษ์บนแผนที่’ – ผมได้ไฟล์แผนที่นี้จากน้องบุ้ง ปัทมวรรณ ทองช่วย อดีตเจ้าหน้าที่ GIS เมื่อเกือบยี่สิบปีที่แล้วของเรา ส่งไฟล์แผนที่แนวเขตหมู่บ้านคลิตี้ล่างฝีมือของเธอมาให้ผมดู ว่าเธอยังเก็บรักษาไว้

เพราะเธอไปเจอเรื่องราวที่ผมเคยเขียนเล่าไว้ว่า

ปี พ.ศ. 2546 เมื่อ 18 ปีที่แล้ว ผมทดลองเดินแนวเขตกับพื้นที่เตรียมการอุทยานแห่งชาติลำคลองงูกับทีมงานของสำนักบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ที่สาม ซึ่งมีหัวหน้าพื้นที่ชื่อพี่ฉี หรือหัวหน้าธรรมรัฐ วงศ์โสภา ตอนนั้น บอย ภาณุเดช เกิดมะลิ เป็นหัวหน้าภาคสนาม แป๊ะ พงษ์ศักดิ์ ม่วงงาม เป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามคนแรกของเรา ผมยังสอนหนังสืออยู่ แต่ลางานมาเดินด้วยหลายวัน ที่ทำงานหนักมาก คือ แป๊ะ ทั้งสำรวจพื้นที่นำก่อน ทั้งดูแลชาวบ้าน ห้ามศึกใหญ่น้อยระหว่างชาวบ้านกับเจ้าหน้าที่มากมายหลายวีรกรรม

จากงานนำร่องครั้งนั้นได้แผนที่ขอบเขตชุมชนคลิตี้ล่างออกมา

ทำให้หัวหน้าฉี ธรรมรัฐ วงศ์โสภา จัดการพื้นที่อย่างมีส่วนร่วมกับชาวบ้านได้ง่ายกว่าเดิม

ไม่ต้องไปจับชาวบ้านรุกป่า ชาวบ้านส่วนใหญ่เมื่อได้วัดที่ทำกินแล้วก็ไม่ออกมาข้างนอกเขต มีที่ไม่เคารพกติกาบ้าง พี่ฉีก็ไปห้ามปรามร่วมกับกรรมการหมู่บ้าน

อยู่กันสงบสุขกว่าตอนไม่มีแนวเขตเยอะเลย 

พ.ศ. 2547-2551 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เสนอโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม ทำงานนำร่อง 40 หมู่บ้าน ในพื้นที่ป่าตะวันตก โดยเรียกเส้นแนวเขตว่า ‘ฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ’ ซึ่งเวลานั้นผมลาออกมารับงานผู้จัดการโครงการนี้เต็มตัว

ภายใต้คำแนะนำและทำงานร่วมกันของหัวหน้าที่ผมอยากบันทึกไว้ห้าคน

หัวหน้าครรชิต ศรีนพวรรณ อุทยานแห่งชาติพุเตย เปิดฉากทำแผนที่ทำกินที่เป็นไร่หมุนเวียน บ้านห้วยหินดำ กับ ตู่ ตะวันฉาย หงษ์วิลัย เจ้าหน้าที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียร จนสำเร็จ

หัวหน้าสมปอง ทองสีเข้ม เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ผู้ช่วยเราวางแนวทางตามข้อกฏหมายให้ดำเนินการได้จริงๆ จังๆ กับเจ็ดหมู่บ้านในป่าทุ่งใหญ่

หัวหน้าเสถียร (จำนามสกุลไม่ได้) เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ที่ขอให้เราช่วยทำในเจ็ดหมู่บ้านนำร่อง

หัวหน้ากมล นวลใย  ที่อุทยานแห่งชาติไทรโยค บ้านแม่น้ำน้อย 

และหัวหน้าสุชัย หรดี ที่ทำให้หมู่บ้านเขาเหล็ก ที่ถ้ำธารลอดเป็นต้นแบบการสำรวจของกรมอุทยานฯ มาถึงทุกวันนี้

ตอนนั้นกำลังหลักของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร คือ หัวหน้าภาคสนามในพื้นที่ 5 โซน ที่ได้รับฉายาว่า ห้าจอมป่า

แป๊ะ พงษ์ศักดิ์ ม่วงงาม ประจำพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี, พี่ตู่ ตะวันฉาย หงษ์วิลัย ประจำพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์, จอตือ ยุทธชัย บุตรแก้ว ประจำพื้นที่อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก, นริศ บ้านเนิน ประจำพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรี และป๋าโว่ สมบัติ ชูมา ประจำพื้นที่จังหวัดอุทัยธานี

และทีมงานอีกหลายคนที่ร่วมงานกันมาอีกสองสามรุ่น

อยู่ยาวกันมาถึงวันนี้ก็หลายคน จากไปทำงานที่อื่นก็หลายคน

น้องๆ ที่ยังฝ่าฟันกันมาถึงวันนี้ก็ต่อยอดงานไปไกล อย่างเช่น ปุ้ย ปราโมทย์ ศรีใย, เหล็ก ยุทธนา เพชรนิล, ปลาน้อย มนตรี กุญชรมณี, นาท อำนาจ สุขขวัญ, กิฟต์ นางสาวธิดารัตน์ กาญจนโพชน์ และมีที่ยังช่วยกันเป็นเครือข่ายใกล้ชิด ซ้ง ณรงค์ศักดิ์ มาลีศรีโสภา, พัช พัชราภรณ์ ต๊ะกู่ และอีกมากมายที่เคยได้ร่วมงานใหญ่นี้ด้วยกันมา

งานอนุรักษ์บนแผนที่

พ.ศ. 2551-2555 เราขยายการจัดทำแนวเขตหมู่บ้านบนชื่อ “ฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการ” ไปอีกประมาณเก้าสิบหมู่บ้านในป่าตะวันตก 

มีคำสั่งของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ให้ร่วมกันดูแลแนวเขตโดยมิให้ขยายจากอธิบดีคนดังชื่อ ดำรงค์ พิเดช ก่อนจะเกษียณอายุในปี พ.ศ. 2555

นับเป็นการยอมรับแนวทางจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ อย่างเป็นทางการครั้งแรก

ผมจำภาพ อาจารย์ รตยา จันทรเทียร นั่งกับพื้นห้องกางแผนที่ใหญ่อธิบายเรื่องราวให้อธิบดีดำรงค์ฟัง จนแกต้องลงมาคุกเข่านั่งกับพื้นด้วยติดตา

หลังจากนั้นเราผลักดันแนวทางการจัดทำแนวเขตร่วมกันโดยการเดินสำรวจแบบนี้กับกรมอุทยานแห่งชาติฯ มาตลอดแต่ก็ติดขัดที่ยังไม่มีกฎหมาย ที่สืบทำมาก็เป็นแค่โครงการนำร่อง เมื่อสิ้นสุดโครงการก็หมายความว่าสิ้นสุดการบริหารจัดการแบบนี้ไปด้วย

มูลนิธิสืบฯ เองก็หมดเงินทำงาน เพราะที่ทำได้เนื่องจากเราได้ทุนจากเดนมาร์คมา เขาสิ้นสุดโปรแกรมช่วยเหลือไปตั้งแต่ พ.ศ. 2552

พวกเรากัดฟันสู้หาเงินมาทำงานต่อ ดีที่ธนาคารไทยพาณิชย์ และ ปตท. ช่วยมา เลยสามารถต่อโครงการมาเรื่อยๆ กับกรมอุทยานแห่งชาติฯ เพื่อคงสภาพฐานข้อมูลมาอีก

ใช้เงินเดนมาร์กไปอย่างคุ้มค่าราวๆ 65 ล้าน ใช้เงินไทยๆ ไปอีกเกือบร้อยล้าน ไม่รู้ไประดมทุนอะไรมาได้ แต่กระนั้นมูลนิธิสืบฯ ก็แทบเจ๊งเหมือนกัน เราทุ่มสุดตัวจริงๆ

ต้องขอบคุณคุณนิ้ง วรลักษณ์ เจ้าหน้าที่สถานฑูตเดนมาร์คที่เห็นผลงานและผลักดันทุนให้เรามาตลอด และถ้าไม่มีคุณสี่ วัชรมงคล เบญจธนฉัตร เข้ามาชวนผมไปหาแหล่งทุนต่างๆ ก็คงหมดเงินทำไปตั้งนานแล้ว

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2557 มีคำสั่ง คสช. ไม่ให้ขยายรุกป่า แต่อย่าจับกุมคนยากไร้ โดนคำสั่งระบุว่า หากรุกป่าเพิ่มจากนี้ต้องจับหมดรวยจนไม่เว้น 

ดีที่เส้นฐานข้อมูลในป่าตะวันตกยันไว้ตั้งแต่ก่อนปี พ.ศ. 2552 ดังนั้น เมื่อมีคำสั่งนี้มา แนวเขตเราก็นิ่งอยู่เป็นส่วนใหญ่

หัวหน้าสมปอง ทองสีเข้ม ขยับมาเป็นผู้อำนวยการส่วนสัตว์ป่า ก็ทดลองใช้วิธีนี้กับหมู่บ้านกิ่วสามล้อที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่ตื่น โดยใช้คำสั่ง 66/57 มาเป็นเครื่องมือสำรวจแนวเขต

ผลการทำงานที่กิ่วสามล้อ ผมกับผู้อำนวยการสมปอง นำมาเป็นตัวอย่างเสนอให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ ใช้เป็นแนวทางจัดการพื้นที่ โดยความเห็นชอบจากรัฐมนตรี สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ และอธิบดีธัญญา เนติธรรมกุล เพื่อแก้ปัญหาความล่าช้าของการสำรวจข้อมูลตามมติ ครม. 41 ที่ทำเท่าไหร่ก็ไม่สามารถเสร็จสิ้นลงตัวเสียที และผมมีส่วนเป็นที่ปรึกษาโครงการอยู่เกือบสองปี

ในที่สุดช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 แนวเขตชุมชนในป่าอนุรักษ์ก็ได้สำรวจกรอบไว้สำเร็จ ก่อนเปลี่ยนรัฐบาลที่แล้ว นับชุมชนได้ 4,000 แห่งทั่วประเทศ มีคนในชุมชนน่าจะเกินสองล้านคน

มูลนิธิสืบฯ สนับสนุนแนวทางนี้เต็มที่ เราภูมิใจที่มีส่วนช่วยสนับสนุนงบประมาณจัดพิมพ์แผนที่ทั่วประเทศไปหลายแสนบาท เพราะช่วงนั้นงบประมาณไม่ได้ตั้งไว้ จนมีแผนที่ให้อธิบดีใช้ทันมอบให้หัวหน้าในช่วงปลายของรัฐมนตรีสุรศักดิ์

ในขณะเดียวกัน กรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็เสนอแก้กฎหมายให้มีมาตรารองรับการทำงานกับชุมชนโดยสำรวจแนวเขตและให้สิทธิ์ชุมชนอยู่อาศัยได้ตามกฏหมาย ผมโชคดีที่มีโอกาสเป็นคณะทำงานตั้งแต่ร่างกฎหมายมาตรานี้  และได้ร่วมเป็นกรรมาธิการก่อนที่กฎหมายจะถูกปรับแก้จนลงตัวผ่านออกมาเมื่อกลางปี พ.ศ. 2562 ในยุคของอธิบดี ธัญญา เนติธรรมกุล ที่ต้องบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์

และร่างอนุบัญญัติเป็นกฎกระทรวงและระเบียบปฏิบัติเรื่องนี้ทั่วประเทศ เพิ่งผ่านคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติที่ผมเป็นกรรมการอยู่ด้วยไปเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว

ผมมีส่วนร่วมกับงานใหญ่นี้มาตลอด เพราะเป็นภารกิจหลักที่ลาออกจากอาชีพสอนหนังสือ ก็มาทำงานนี้แหละครับ เกือบยี่สิบปีกว่าจะมาถึงวันนี้ได้

และไม่ได้ม่แต่มูลนิธิสืบฯ เราเดินไปพร้อมกับอีกหลายแห่งที่ทำงานกับพี่น้องชาวบ้าน ทั้งมูลนิธิเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน สมาคมหยาดฝน มูลนิธิเซฟอันดามัน มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ มูลนิธิรักษ์ไทย และองค์กรอื่นๆ เป้าหมายเพื่อให้ชุมชนอยู่ได้อย่างสันติกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้เสียที ป่าและสัตว์ป่าเมื่อมีแนวเขตชุมชนก็จะถูกรุกน้อยลง

เรื่องใหญ่ๆ มาไกล แต่ยังเหลือปัญหาบ้างเป็นธรรมดา หวังว่าไม่นานจะลงตัวได้

ได้ทำงานนี้มาขนาดนี้ ผมว่าพวกเราที่ร่วมกันทำมา ตายตาหลับแล้วครับ

ในวาระ รำลึก 32 ปี สืบ นาคะเสถียร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้จัดนิทรรศการ ‘งานอนุรักษ์บนแผนที่’ ระหว่างวันที่ 13-18 กันยายน พ.ศ. 2565 ณ โถงชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

นิทรรศการ ‘งานอนุรักษ์บนแผนที่’ นำเสนอแผนที่การทำงานของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เพื่อนำเสนอบทบาทการทำงานอนุรักษ์ขององค์กร โดยเฉพาะในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันตกซึ่งดำเนินการมานานกว่าสองทศวรรษ เป็นแบบอย่างของคำว่า “คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้”

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)