สถานการณ์ป่าไม้

สถานการณ์ป่าไม้

ป่าไม้… นับได้ว่าเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อมนุษย์โลกทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างยิ่ง เป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติสำคัญที่ถือเป็นตัวช่วยในการรักษาอุณหภูมิของโลกให้คงที่ เพราะมีคุณสมบัติสำคัญคือสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) จากบรรยากาศ เพิ่มความชื้นจากการปล่อยไอน้ำสู่บรรยากาศ ปกป้องพื้นดินจากแสงแดด ช่วยรักษาสมดุลและความหลากหลายทางธรรมชาติ เป็นพื้นที่ต้นน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำตามธรรมชาติ และยังเป็นแหล่งที่อยู่ให้กับสัตว์ป่านานาชนิด

ป่าไม้ครอบคลุมพื้นที่ 4.26 พันล้านเฮคตาร์ หรือ 26,650 ล้านไร่ ของพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ของโลก

จากรายงานของสถาบันทรัพยากรโลก (WRI) และ Global Forest Watch ระบุว่า ปี 2021 โลกสูญเสียพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 12% จากที่เคยสำรวจเมื่อปี 2019 ถึง 4.2 ล้านเฮกตาร์ หรือประมาณ 262.50 ล้านไร่ โดยโลกสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ไปแล้ว 420 ล้านเฮกตาร์ หรือประมาณ 10.34% ของพื้นที่ป่าทั้งหมดในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา

“The State of the World’s Forests” (SOFO) ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ช่วง 30 ปีที่ผ่านมาโลกสูญเสียพื้นที่ป่าไม้ 420 ล้านเฮกตาร์หรือ 2,625 ล้านไร่ สาเหตุจากการตัดไม้ทำลายป่า ถึงแม้ว่าอัตราการตัดไม้ทำลายป่าจะลดลง แต่ในทุกๆปี โลกยังสูญเสียป่าไม้ปีละ 10 ล้านเฮกตาร์หรือ 62.50 ล้านไร่ โดยความหลากหลายทางชีวภาพของป่าไม้ยังคงอยู่ภายใต้การคุกคามจากการตัดไม้ทำลายป่า และความเสื่อมโทรมของป่า

ในปี 2021 โลกได้สูญเสียต้นไม้ที่ปกคลุมอยู่ทางตอนบนของโลกสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์

จากรายงาน Global Forest Watch ที่เผยข้อมูลบันทึกการสูญเสียพื้นที่ป่า โดยเฉพาะในรัสเซียและแคนาดาจากไฟป่าครั้งใหญ่ โดยตัวเลขของป่าทางเหนือเหล่านี้เพิ่มขี้น 30% ในปี 2021 ผลจากการเกิดไฟป่าครั้งใหญ่ในรัสเซีย และพี้นที่ป่าดิบแล้งเขตร้อนได้หายไปประมาณ 10 สนามฟุตบอลต่อนาที

รัสเซียสูญเสียพื้นที่ป่ามากที่สุดจากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุที่สำคัญที่สุดคือไฟป่า ตั้งแต่ต้นปี 2022 เกิดไฟป่าแล้วประมาณ 4,000 ครั้ง และครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,700 ตารางกิโลเมตรหรือ 1.69 ล้านไร่ ขณะที่ในปี 2021 กรีนพีชของรัสเซียระบุว่าเคยเกิดไฟป่ากินพื้นที่กว้างถึง 188,000 ตารางกิโลเมตรหรือ 117.50 ล้านไร่

“ป่าแอมะซอน” ป่าฝนที่ใหญ่ที่สุดในโลก ถูกทำลายสูงสุดในรอบ 15 ปี

ผืนป่าแอมะซอนของบราซิล ยังคงถูกทำลายอย่างต่อเนื่อง จากรายงานของสถาบันเพื่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อมแห่งแอมะซอน (Imazon) สถาบันวิจัยอิสระของบราซิล ร่วมกับระบบแจ้งเตือนการตัดไม้ทำลายป่า (DAS) ได้มีการใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อตรวจสอบและรวบรวมข้อมูลการตัดไม้ทำลายป่าตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค 2021 ที่ผ่านมา และเปรียบเทียบกับข้อมูลจากช่วงเวลาเดียวกันของปี 2020 พบว่า เมื่อเทียบกับช่วง 10 เดือนแรกของปี 2020 การตัดไม้ทำลายป่าในแอมะซอนเพิ่มขี้น 33% ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2021 นี้

การวิเคราะห์ยังพบว่า ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ต.ค. แอมะซอนสูญเสียพื้นที่ป่ามากกว่า 9.71 แสนเฮกตาร์หรือมากกว่า 6.07 ล้านไร่ หรือขนาดประมาณ จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นช่วงที่เลวร้ายที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา เฉพาะในเดือน ต.ค. เดือนเดียวมีพื้นที่เกือบราว 5.06 แสนไร่ ถูกทำลายไป ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2006 หรือในรอบ 15 ปี