[ก้าวสู่ปีที่ 31] จอมป่าโมเดล : แนวทางแก้ไขปัญหา “ชุมชนในป่า” ในผืนป่าตะวันตก

[ก้าวสู่ปีที่ 31] จอมป่าโมเดล : แนวทางแก้ไขปัญหา “ชุมชนในป่า” ในผืนป่าตะวันตก

ปี 2552 การเมืองเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้ง เช่นเดียวกับสถานการณ์การทำงานแบบองค์กรพัฒนาเอกชนแบบเรา ที่มีปัญหาใหญ่ที่สุดคือเรื่องทุนทำงานที่อยากจะทำโครงการใหญ่ๆ ก็ต้องเขียนโครงการ และหาแหล่งทุนมาสนับสนุน ซึ่งในปีนั้นประเทศเดนมาร์กกำลังสิ้นสุดโปรแกรมความช่วยเหลือด้านสิ่งแวดล้อมกับประเทศไทยพร้อมกับโครงการสำคัญสุดท้ายของพวกเขาคือ งานจอมป่าของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ปัญหาอีกประการหนึ่งในฐานะองค์กรอนุรักษ์ภาคเอกชน ที่ต้องเข้าไปทำงานเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายสลับซับซ้อนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดีที่ผ่านมาเราได้พบเจอผู้ร่วมงานในภาครัฐที่ทำงานในฐานะหัวหน้าอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่ที่เห็นพ้องกับแนวทางที่เราทำงาน และช่วยเราแก้ไขปัญหาความไม่เข้าใจของระดับนโยบายที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดมาจากวันที่เริ่มทำโครงการ 

ซึ่งหลายครั้งเกือบจะทำให้เราแทบจะต้องล้มเลิกการทำงานให้ชุมชนในป่าลดปัญหาความขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ของรัฐด้วยความไม่เข้าใจในข้อกฎหมาย ของเราเอง และการยึดมั่นแต่ในระเบียบกฎหมายของระดับนโยบาย 

โชคดีที่เราพบกับข้าราชการหลายท่านที่ช่วยแนะนำและสนับสนุน ด้วยเห็นว่าโครงการของเราน่าจะเป็นคำตอบของการรักษาป่าในบริบทปัจจุบันได้ดีที่สุด

ปี 2552 ก่อนครบ 20 ปี มูลนิธิสืบนาคะเสถียรในปีต่อมา เราคิดว่าได้พบคำตอบในการทำงานกับชุมชนในป่าในแง่กฎหมายและนโยบายจากคนทำงานในพื้นที่ดังที่ได้บันทึกไว้ก่อนการประชุมจอมป่าวิชาการเมื่อกลางปี 2552

กมล นวลใย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยค จังหวัดกาญจนบุรี รายงานให้ที่ประชุมหัวหน้าอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 11 แห่งรวมถึงผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์บ้านโป่งฟังว่า ทำข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการพื้นที่ชุมชนแม่น้ำน้อยเสร็จสิ้นและทำประชาคมกับชาวบ้านเพื่อการจัดการอย่างมีส่วนร่วมในพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนเรียบร้อยแล้ว ชาวบ้านมีความเข้าใจและพอใจดี นอกจากนี้ยังจัดทำพิกัดรายแปลงของที่ดินทำกินของแต่ละคนบนรูปถ่ายทางอากาศ เพื่อสร้างเงื่อนไขข้อตกลงในการไม่ขยายขอบเขตพื้นที่เข้าไปในป่า และไม่สามารถซื้อขายถ่ายโอนให้บุคคลภายนอกได้ เพราะวันนี้ชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ทราบดีว่าที่ดินภายนอกป่าก็ถูกใช้ประโยชน์ไปเกือบหมดหากสูญเสียที่ดินบริเวณ “ในป่า” นี้ไป วันข้างหน้าลูกหลานก็ยากจะหาที่ทำกินใหม่ได้

และนี่เป็นผลการดำเนินงานหนึ่งในแผนงานจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (Joint Management of Protected Area-JoMPA) หรือเรียกว่าโครงการจอมป่า ที่อุทยานแห่งชาติไทรโยคได้รับอนุมัติแผนงานจากกรมอุทยานร่วมกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรให้ร่วมกันแก้ไขปัญหา “ชุมชนในป่า”

ในเมืองกาญจน์และสุพรรณมีพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าที่มีปัญหาการประกาศเขตซ้อนทับกับชุมชนที่ไม่มีเอกสารสิทธิที่ดินอยู่ 86 ชุมชน ใน 8 พื้นที่อนุรักษ์ และทุกๆ พื้นที่ก็กำลังทำงานในแนวเดียวกันกับไทรโยคอย่างเข้มข้น

ย้อนไปเมื่อจัดทำแผนโครงการเราพยายามหา “สูตร” ที่ถูกกฎหมายในการแก้ไขปัญหากัน จำได้ว่าการเสนอโครงการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการนี้เป็นแนวทางสำคัญ และต้องให้เครดิตหัวหน้ากมลในการอธิบายช่องทางในการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยบทบาทของพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจปฏิบัติการในเขตอุทยานแห่งชาติ เพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะเรื่อง หรือเพื่อฟื้นฟู บำรุง ดูแลรักษา และเพาะพันธุ์สัตว์ป่า สัตว์น้ำ หรือทรัพยากรธรรมชาติอื่นๆ ในเขตอุทยานแห่งชาติให้ดีขึ้นตามนโยบายของทางราชการ ภายใต้กฎหมายอุทยานมาตรา 19 และระเบียบกรมข้อ 4 ดังนั้นหากจะแก้ไขปัญหาชุมชนขยายพื้นที่ก็สามารถดำเนินการได้ภายใต้โครงการที่รับอนุมัติจากอธิบดีกรมอุทยานฯ แต่เงื่อนไขก็คือต้องปฏิบัติโดยพนักงานที่ว่า ให้มีมูลนิธิสืบเป็นองค์กรสนับสนุน  

หัวหน้าสมปอง ทองสีเข้ม แห่งทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก ทางฝั่งพื้นที่อุ้มผางได้เสนอวิธีแก้ปัญหาที่มักจะได้ยินหน่วยงานในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชบอกว่า 

“มูลนิธิสืบทำอะไรไม่ค่อยเป็นลายลักษณ์อักษร อยากทำอะไรก็ทำ ก็ย้อนถามไปว่า แล้วเป้าหมายหรือผลลัพธ์ที่มูลนิธิสืบต้องการคืออะไร ก็เป็นเป้าหมายที่เราอยากทำอยู่แล้ว ทำไมเราไม่มาปรับเป็นทิศทางเดียวกัน เรามองแบบราชการมากเกินไปหรือเปล่า มูลนิธิสืบเป็นภาคเอกชนอาจมองแบบเอกชนเกินไปหรือเปล่า ดังนั้น ก็น่าจะปรับเข้าหากัน เป้าหมายเดียวกันก็เดินด้วยกันได้”

หัวหน้าอธิบายว่าโครงการจอมป่าต้องใช้ มติครม. 30 มิ.ย. 41 อ้างถึงเพื่อการดำเนินการแก้ปัญหาโดยพนักงานเจ้าหน้าที่

“เราปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ไม่ว่ามติ ครม. 30 มิ.ย. 41 หรือตัวอื่นๆ ถ้าวิเคราะห์มติครม. 30 มิ.ย. 41 พูดประเด็นหลักๆ อยู่ 3 ประเด็น คือจะพิสูจน์ว่า คนรุกป่าหรือป่ารุกคน คำว่าคนรุกป่าหมายความว่า มีป่าอยู่ก่อน แล้วคนเข้ามาบุกรุก ยึดถือครอบครองทีหลัง แต่ถ้าป่ารุกคนหมายความว่าคนอยู่มาก่อนแล้วเขตป่าอนุรักษ์มาทีหลัง อย่างเช่นประกาศเขตอนุรักษ์ทับหมู่บ้านเข้าไป อย่างนี้ถือว่า เราไปรุกเขา ป่าไปรุกคน ดังนั้น มติครม. 30 มิ.ย. 41 คือต้องการจะทำตัวนี้ให้ชัดเจน” 

หัวหน้าสมปองอธิบายว่า มติครม. 30 มิ.ย. 41 แบ่งช่วงเวลาเป็น 3 ช่วง ช่วงแรก คือชุมชนที่อยู่อาศัยก่อนประกาศเขตป่าอนุรักษ์นั้นๆ ช่วงที่สองคือ ตั้งแต่วันที่ประกาศเขตป่าอนุรักษ์ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 และช่วงสามคือ ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไป โดยเมื่อวิเคราะห์แนวทางการทำงานของโครงการจอมป่า จะอยู่ในช่วงที่สองของมติครม. 30 มิ.ย. 41

“ช่วงแรกอยู่มาก่อนประกาศเขตป่าอนุรักษ์ คำว่าประกาศเขตป่าอนุรักษ์ ก็คือป่าตามกฎหมาย ตั้งแต่เขตป่าสงวน เขตอุทยาน เขตรักษาพันธุ์ เขาอยู่ก่อนหรือเปล่า เพราะตามกฎหมายนั้น การบุกรุกป่าจะไม่มีความผิดอยู่ 3 กรณี หนึ่ง อยู่ก่อนประกาศเขตป่าอนุรักษ์ สอง มีการขอใช้พื้นที่ สาม ขาดเจตนา จะไม่มีความผิดในคดีอาญา ดังนั้น รัฐจะต้องออกเอกสารรับรองให้เขา แต่ไม่ใช่เอกสารสิทธิ เป็นเอกสารว่าเขามีสิทธิที่จะอยู่ เพราะเขาอยู่ก่อนประกาศเขตป่าอนุรักษ์ ช่วงที่สองคือ ตั้งแต่วันที่ประกาศเขตป่าอนุรักษ์ จนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2541 อันนี้จะแบ่งออกเป็น 2 กรณี คือถ้าอพยพออกได้ก็อพยพออกไป ถ้าไม่ได้ก็ต้องมีการควบคุมไม่ให้มีการขยาย โครงการจอมป่าเข้าอยู่ในช่วงที่สองนี้ คือควบคุมไม่ให้มีการขยายต่อไป ส่วนอันที่สามคือ ณ วันที่ออกมติครม. คือวันที่ 30 มิถุนายน 2541 ใครที่บุกรุกป่าตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป จับหมด อันนี้ชัดเจนทำงานง่าย คือหนึ่งกับสามทำงานง่าย แต่สองทำงานยาก

ดังนั้น ถือว่าเราปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ถามว่าจะโดนมาตรา 157 หรือเปล่า ก็เราปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล ดังนั้นตอนที่มีหน่วยงานถามว่าเราเอาอำนาจอะไรไปทำ พออธิบายให้เขาฟัง เขาก็เข้าใจ ตอนหลังก็ไม่มีปัญหานี้ แต่ก็มีการติงว่าการทำงานควรมีขอบเขตมีกรอบ เราก็อิงกฎหมาย กรณีเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าการจะทำอะไรต้องทำโดยพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น มูลนิธิสืบไม่สามารถทำได้เพราะไม่ใช่พนักงานเจ้าหน้าที่โดยตรง แต่ถ้ามูลนิธิสืบมาเป็นผู้ช่วยพนักงานเจ้าหน้าที่ คือมาทำร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ ปัญหาตรงนี้ก็จบ กฎหมายก็จบ นโยบายก็จบ ดังนั้น ข้อท้วงติงต่างๆ ก็ไม่มี”

วันนี้ชุมชน 129 ชุมชน ในพื้นที่อนุรักษ์ 13 พื้นที่อนุรักษ์ในผืนป่าตะวันตก กำลังใช้สูตรที่ว่า ในการแก้ไขปัญหาอย่างก้าวหน้า และอาจเป็นรูปแบบที่สามารถให้คนกับป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุข และลดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ได้ในระดับหนึ่ง

“จอมป่าโมเดล” จะได้รับการยอมรับจาก “คน” และ “ป่า” แค่ไหน คงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อไป

 


หมายเหตุ : หลังจากประชุมวิชาการในเดือนกรกฎาคม ปี 2552 ปัจจุบันโครงการนี้ได้รับการบันทึกความเข้าใจกับกรมอุทยานแห่งชาติ ให้ดำเนินการต่อไปในระหว่างปี 2553 -2557 ได้รับการสนับสนุนจากแหล่งทุนภายในประเทศหลายแห่ง

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)