การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจเป็นสาเหตุของวิกฤติอุทกภัยในยุโรป

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจเป็นสาเหตุของวิกฤติอุทกภัยในยุโรป

ฝนฟ้าคะนองที่ตกอย่างรุนแรงก่อให้เกิดอุทกภัยซึ่งคร่าชีวิตประชาชนจำนวนมากในทางตะวันตกของประเทศเยอรมันและเบลเยียมน่ากังวลอย่างยิ่ง หลายประเทศในสหภาพยุโรปต่างตั้งคำถามว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือสาเหตุของภัยพิบัติครั้งนี้หรือไม่
.

นักวิทยาศาสตร์กล่าวเตือนมาอย่างยาวนานว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะทำให้ฝนตกทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แต่การจะระบุว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือสาเหตุของฝนที่ตกหนักในครั้งนี้อาจจำเป็นต้องใช้เวลาวิจัยอีกหลายสัปดาห์

“อุทกภัยนั้นเกิดขึ้นเสมอ มันเกิดขึ้นไม่ต่างจากเหตุการณ์โดยบังเอิญ เสมือนกับการทอยลูกเต๋า แต่ว่าเป็นพวกเราเองที่เปลี่ยนความน่าจะเป็นในการทอยลูกเต๋านั้น” Ralf Toumi นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจาก Imperial College London กล่าว

นับตั้งแต่ฝนเริ่มตก น้ำก็ทะลักตลิ่งและท่วมเข้าสู่เขตชุมชน โค่นเสาสัญญาณโทรศัพท์และทำลายบ้านเรือนตลอดเส้นทาง เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมามีประชาชนเสียชีวิตอย่างน้อย 120 คนและสูญหายอีกหลายราย อุทกภัยในครั้งนี้ทำให้หลายคนตื่นตระหนก 

อุทกภัยครั้งนี้สร้างความตื่นตระหนกให้คนจำนวนมาก อังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมันเรียกน้ำท่วมครั้งนี้ว่าภัยพิบัติและสัญญาว่าจะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบเพื่อให้ผ่านพ้น “ช่วงเวลาที่น่าหวาดกลัวและยากลำบาก”

อุณหภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบันราว 1.2 องศาเซลเซียสจากค่าเฉลี่ยก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าอาจทำให้ฝนตกหนักมีแนวโน้มเกิดบ่อยครั้งขึ้น อากาศที่อบอุ่นจะเก็บกักความชื้นได้ดีกว่า นั่นหมายความว่าน้ำฝนก็จะมีปริมาณมากขึ้นเช่นกัน เมื่อวันอังคารและวันพุธที่ผ่านมามีปริมาณน้ำฝนมากกว่า 15 เซนติเมตรตกที่เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมัน

“ตอนที่เราต้องเจอกับฝนตกหนัก ในชั้นบรรยากาศมันเหมือนจะเป็นฟองน้ำ คุณบีบฟองน้ำแล้วมีน้ำไหลออกมา” Johannes Quaas ศาสตราจารย์ด้านอุตุนิยมวิทยาจาก Leipzig University กล่าว

นักวิทยาศาสตร์ระบุว่า การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยโลก 1 องศาเซลเซียสจะเพิ่มความสามารถในการกักเก็บน้ำในชั้นบรรยากาศประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ เป็นการเพิ่มโอกาสที่จะเกิดฝนตกหนักมากขึ้น ปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วยสภาพภูมิศาสตร์ในแต่ละพื้นที่ และแรงกดอากาศซึ่งจะส่งผลกระทบเฉพาะบริเวณ

Geert Jan van Oldenborgh จาก World Weather Attribution เครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ กำลังวิเคราะห์ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีส่วนอย่างไรบ้างต่อการเกิดเหตุการณ์วิกฤติในครั้งนี้ ซึ่งเขาคาดว่าจะใช้เวลาหลายสัปดาห์เพื่อแสดงความเชื่อมโยงระหว่างฝนตกหนักกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “เราทำงานเร็วนะ แต่ไม่ได้เร็วขนาดนั้น” van Oldenborgh นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศจากสถาบันอุตุนิยมวิทยาแห่งเนเธอร์แลนด์กล่าว

การศึกษาข้อมูลเบื้องต้นบ่งชี้ว่าฝนครั้งนี้อาจได้รับแรงหนุนจากระบบความกดอากาศต่ำที่หยุดอยู่เหนือยุโรปตะวันตกเป็นเวลาหลายวันโดยถูกกันไม่ให้เคลื่อนที่เนื่องจากความกดอากาศสูงที่อยู่ทางตะวันออกและทางเหนือ

อุทกภัยครั้งนี้เกิดขึ้นไม่กี่สัปดาห์หลังจากคลื่นความร้อนครั้งประวัติศาสตร์คร่าชีวิตในแคนาดาและสหรัฐอเมริกาไปหลายร้อยชีวิต นักวิทยาศาสตร์ต่างแสดงความเห็นว่าคลื่นความร้อนสุดขั้วเช่นนี้ “แทบไม่มีทางเป็นไปได้” หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งทำให้เหตุการณ์เช่นนี้มีโอกาสเกิดเพิ่มขึ้น 150 เท่า ที่ยุโรปเองก็เผชิญความร้อนในระดับผิดปกติเช่นกัน ในกรุงเฮลซิงกิ เมืองหลวงของฟินแลนด์ ก็เพิ่งผ่านเดือนมิถุนายนที่ร้อนที่สุดนับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2387 ส่วนฝนสัปดาห์นี้ก็ทุบสถิติฝนตกและระดับน้ำในแม่น้ำของพื้นที่ยุโรปตะวันออก 

ถึงแม้นักวิจัยจะพยากรณ์มาเนิ่นนานหลายทศวรรษว่าสภาพอากาศเลวร้ายจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่หลายคนก็เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ก็ทำให้พวกเขาประหลาดใจ “ฉันรู้สึกกลัวมากเพราะมันดูเหมือนกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว” Hayley Fowler นักอุทกศาสตร์จาก Newcastle University ในอังกฤษกล่าว “เราเผชิญกับเหตุการณ์ทุบสถิติเดิมทั่วโลกภายในไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา”

คนอีกจำนวนมากมองว่าฝนตกนั้นไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจเท่ากับจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวนมากซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าพื้นที่ดังกล่าวขาดระบบเตือนภัยและอพยพผู้คนที่สามารถรับมือกับวิกฤติภูมิอากาศ “ฝนตกหนักไม่ได้เท่ากับหายนะ แต่สิ่งที่น่ากังวลคือตัวเลขผู้เสียชีวิตซึ่งทำให้เราต้องกลับมาทบทวนกันใหม่” Ralf Toumi แสดงความเห็น

ในสัปดาห์นี้สหภาพยุโรปจะดำเนินนโยบายหลายประการเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยลดการปล่อยแก๊สเรือนกระจกของภูมิภาคภายในปี พ.ศ. 2573 การลดแก๊สเรือนกระจกนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการชะลอการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ Stefan Rahmstorf นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลและนักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศจาก Potsdam Institute for Climate Impact Research กล่าว

“เรากำลังอยู่ในโลกที่อุ่นขึ้นและน้ำแข็งกำลังละลาย ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น เหตุการณ์ภูมิอากาศรุนแรงขึ้น ซึ่งจะอยู่กับพวกเราและคนรุ่นหลัง” Rahmstorf กล่าว “แต่เรายังสามารถหยุดยั้งมันไม่ให้เลวร้ายลงไปกว่านี้ได้”

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก As floods hit western Europe, scientists say climate change hikes heavy rain

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก