วิกฤติภูมิอากาศและกิจกรรมของมนุษย์ทำให้ทะเลสาบหดหาย

วิกฤติภูมิอากาศและกิจกรรมของมนุษย์ทำให้ทะเลสาบหดหาย

การศึกษาชิ้นล่าสุดเปิดเผยว่า ทะเลสาบและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งทั่วโลกสูญเสียปริมาณน้ำมหาศาลในช่วงสามทศวรรษที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์คาดว่าสาเหตุเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการใช้น้ำเกินปริมาณที่เหมาะสม

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากนานาประเทศตีพิมพ์งานวิจัยในวารสาร Science ว่าประชากรราวหนึ่งในสี่ของโลกอาศัยอยู่ในลุ่มน้ำของทะเลสาบที่กำลังแห้งเหือด แม้ว่าทะเลสาบจะคิดเป็นพื้นผิว 3 เปอร์เซ็นต์ของโลก แต่นี่คือแหล่งน้ำจืด 90 เปอร์เซ็นต์บนผิวโลก และเป็นทรัพยากรสำคัญในการผลิตน้ำดื่ม การชลประทาน พลังงาน และยังเป็นถิ่นอาศัยของพืชและสัตว์ อย่างไรก็ตาม ทะเลสาบเหล่านั้นกำลังเผชิญปัญหาสำคัญ

ปริมาณน้ำในทะเลสาบจะผันผวนตามการแปรปรวนของสภาพอากาศ อาทิ น้ำฝน และหิมะ แต่สภาพอากาศเหล่านั้นต่างได้รับผลกระทบมากขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์

ทะเลสาบสำคัญทั่วโลกต่างเผชิญปัญหาปริมาณน้ำที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทะเลสาบมีดของแม่น้ำโคโลราโดในสหรัฐอเมริกามีปริมาณน้ำลดลงอย่างมากเนื่องจากภัยแล้งรุนแรงและการใช้น้ำเกินขนาดต่อเนื่องหลายทศวรรษ ทะเลแคสเปียนที่คั่นกลางระหว่างภูมิภาคเอเชียและยุโรปซึ่งเป็นแหล่งน้ำที่ใหญ่ที่สุดในแผ่นดินก็มีปริมาณน้ำลดลงเนื่องจากสภาพอากาศและการใช้น้ำเช่นกัน

มีรายงานมากมายว่าปริมาณน้ำในทะเลสาบหลายแห่งเริ่มหดหาย แต่คำถามว่าปริมาณน้ำลดลงเท่าไหร่ และปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะสาเหตุใด กลับไม่มีการศึกษาอย่างชัดเจน

ทีมวิจัยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมสำรวจทะเลสาบและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 2,000 แห่งทั่วโลกซึ่งคิดเป็นปริมาณกักเก็บน้ำจืดของทะเลสาบ 95 เปอร์เซ็นต์บนโลก หลังจากประเมินภาพถ่ายกว่า 250,000 ภาพนับตั้งแต่ พ.ศ. 2535 ถึง 2563 ร่วมกับแบบจำลองภูมิอากาศ ทีมวิจัยก็สามารถสร้างประวัติศาสตร์ของทะเลสาบย้อนกลับไปได้ยาวนานหลายทศวรรษ และผลลัพธ์ที่ได้ก็นับว่าน่าตื่นตะลึง

พวกเขาพบว่าทะเลสาบและอ่างเก็บน้ำราว 53 เปอร์เซ็นต์ต่างสูญเสียปริมาณน้ำอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีปริมาณน้ำลดลงสุทธิราว 22 พันล้านเมตริกตันต่อปี โดยการสูญเสียกว่าครึ่งหนึ่งมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมของมนุษย์

รายงานฉบับดังกล่าวยังพบว่าการสูญเสียในแหล่งกักเก็บน้ำทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นเขตร้อนชื้นหรือทวีปอาร์กติกที่หนาวเย็น โดยระบุว่า “แนวโน้มภัยแล้งที่เกิดขึ้นทั่วโลกนั้นรุนแรงกว่าที่เคยคิดเอาไว้” ทั้งนี้ ทีมวิจัยยังระบุอีกว่าการหดหายของทะเลสาบแต่ละแห่งเกิดจากปัจจัยที่แตกต่างกัน

การใช้น้ำในปริมาณที่ไม่ยั่งยืนคือสาเหตุหลักที่ทำให้ทะเลอารัล ในอุซเบกิซสถาน และทะเลซัลตันในแคลิฟอร์เนีย ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝนและปริมาณน้ำท่าคือปัจจัยหลักที่ทำให้เกรตซอลท์เลคแห้งเหือดลง ส่วนที่อาร์กติก ทะเลสาบหดหายเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝน การระเหยของน้ำ และปริมาณน้ำท่า

“ผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อการลดลงของปริมาณน้ำในทะเลสาบคือสิ่งที่เราไม่เคยทราบมาก่อน ตัวอย่างเช่น การแห้งเหือดของทะเลสาบกู๊ด-เอ-ซาเรห์ (Lake Good-e-Zareh) ในอัฟกานิสถาน และทะเลสาบมาร์ชิคีตา (Lake Mar Chiquita) ในอาร์เจนตินา” Fangfang Yao หัวหน้าทีมวิจัยให้สัมภาษณ์กับ CNN เขายังเสริมอีกว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลอย่างรุนแรงต่อทะเลสาบ โดยเฉพาะการเร่งกระบวนการระเหยของน้ำ

เมื่อทะเลสาบหดตัวลงก็จะเร่งให้เกิด “ความแห้งแล้ง” ของทั้งลุ่มน้ำ ซึ่งจะยิ่งทำให้อัตราการระเหยเพิ่มขึ้นและเร่งกระบวนการแห้งเหือดให้รวดเร็วยิ่งขึ้น ส่วนทะเลสาบในเขตหนาวเย็น การระเหยของน้ำในหน้าหนาวทำให้ปัญหาเลวร้ายยิ่งขึ้น เพราะอากาศอบอุ่นทำให้น้ำแข็งซึ่งปกติจะปกคลุมทะเลสาบละลายลง ส่งผลให้ผิวน้ำปะทะกับชั้นบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเนื่อง ทั้งคุณภาพน้ำที่ต่ำลง และการเพิ่มขึ้นของสาหร่าย และการตายของสัตว์น้ำ

สำหรับอ่างเก็บน้ำ รายงานพบว่าสาเหตุหลักที่ทำให้ปริมาตรในอ่างเก็บน้ำลดลงคือปริมาณตะกอน เนื่องจากตะกอนที่ไหลมากับน้ำจะถูกกักไว้เหนือเขื่อน เปรียบเสมือน “ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ” ตัวอย่างเช่นที่ทะเลสาบโพเวลล์ อ่างเก็บน้ำที่ใหญ่ที่สุดอันดับสองของสหรัฐอเมริกากักเก็บน้ำได้น้อยลงราว 7 เปอร์เซ็นต์เนื่องจากตะกอนที่สะสม

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าทะเลสาบทุกแห่งจะหดตัวลง เพราะน้ำที่หายไปก็จะปรากฏอยู่ที่แห่งอื่นแทน โดยทะเลสาบราว 24 เปอร์เซ็นต์กำลังขยายตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนใหญ่มักจะเป็นทะเลสาบในภูมิภาคที่มีประชากรจำนวนไม่มาก เช่นที่ราบทางตอนเหนือของทวีปอเมริกา และที่ราบสูงทิเบต 

Catherine O’Reilly ศาสตราจารย์ด้านธรณีวิทยาที่ Illinois State University แสดงความเห็นต่องานวิจัยชิ้นนี้ว่าเป็นข้อมูลระยะยาวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง และช่วยให้เราเข้าใจถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีส่วนส่งผลให้ปริมาณน้ำในทะเลสาบลดน้อยลง

“การศึกษาชิ้นนี้เน้นย้ำความสำคัญของผลกระทบจากภูมิอากาศแล้วทำให้ปัญหาใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น นั่นคือปริมาณน้ำที่เราสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้ รวมทั้งคิดถึงทางเลือกต่างๆ ในการเพิ่มการกักเก็บน้ำ” Catherine แสดงความเห็นกับ CNN “ถือว่าน่ากลัวทีเดียวที่เราพบว่าระบบนิเวศน้ำจืดมีน้ำน้อยลงกว่าในอดีต”

เมื่อโลกของเราร้อนและแล้งกว่าในอดีต น้ำในทะเลสาบควรมีการจัดการอย่างเหมาะสม ไม่เช่นนั้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและกิจกรรมของมนุษย์อาจทำให้ทะเลสาบสูญหายเร็วจนหลายคนคาดไม่ถึง

ถอดความและเรียบเรียงจาก The world’s largest lakes are shrinking dramatically, and scientists say they have figured out why

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก