การใช้เขื่อนจัดการทรัพยากรน้ำจะล้มเหลว แต่อาจยังมีความสำคัญ

การใช้เขื่อนจัดการทรัพยากรน้ำจะล้มเหลว แต่อาจยังมีความสำคัญ

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ความสามารถในการพึ่งพาตนเองของเกษตรกรจะรับมือกับความหายนะจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้

แปลและเรียบเรียงจาก https://www.bangkokpost.com/thailand/general/2187767/dams-fail-but-still-vital โดย ปรัชญ์ รุจิวนารมย์ 26 กันยายน 2564 

การวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผลการปฏิบัติงานของโครงการชลประทานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือแสดงให้เห็นว่า เขื่อนชลประทานขนาดใหญ่นั้นล้มเหลวในการป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้ง และไม่สามารถประกันความมั่นคงในเรื่องน้ำสำหรับเกษตรกรในท้องถิ่น เนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หมู่บ้านบ้านแก่งศิลา อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ที่อยู่ห่างจากเขื่อนอุบลรัตน์ซึ่งเป็นเขื่อนชลประทานที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพียง 1 กิโลเมตร มีความจุน้ำ 2400 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือเกือบเท่าสระว่ายน้ำโอลิมปิกหนึ่งล้านสระ แต่เกษตรกรในพื้นที่ต้องทนกับสภาพความแห้งแล้งอย่างรุนแรงในช่วงปี 2561-2563 เนื่องจากน้ำในเขื่อนแห้งขอด

คุณสุจิตต์ เพชรดง เกษตรกรในหมู่บ้านบ้านแก่งศิลา กล่าวว่า “เราประสบปัญหาขาดแคลนน้ำไม่ใช่แค่น้ำสำหรับเพาะปลูกพืช แต่น้ำกินน้ำใช้ก็ยังมีไม่เพียงพอ เรามีเขื่อนอุบลรัตน์อยู่ใกล้ๆ แต่ในเขื่อนไม่มีน้ำ หมู่บ้านของเราอาศัยน้ำจากเขื่อนเพื่อกินเพื่อใช้รวมถึงการเพาะปลูกเพราะบริเวณนี้ไม่มีน้ำบาดาล ถ้าเขื่อนไม่ปล่อยน้ำเราก็จะลำบากมาก” คุณสุจิตต์ยังกล่าวอีกว่า “เมื่อไม่มีน้ำจากเขื่อนและมีภัยแล้งรุนแรงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ชาวนาจำนวนมากต้องหยุดปลูกข้าวในปี 2562 และ 2563 เป็นเวลาสองปีติดต่อกัน เนื่องจากไม่มีน้ำใช้ทำการเกษตร ชาวบ้านส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวต้องออกไปหางานทำในกรุงเทพฯเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวผมคิดว่าเขื่อนไม่สามารถป้องกันภัยแล้งได้ เราต้องพึ่งพาฝนแต่เพียงอย่างเดียวในการทำนา และแม้ว่าเราจะอยู่ใกล้เขื่อน แต่เมื่อฝนตกหนัก ที่ลุ่มจะถูกน้ำท่วมเพราะเขื่อนก็ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมได้” ความยากลำบากของประชาชนบ้านแก่งศิลา ที่ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่บ่งชี้ว่าโครงการชลประทานขนาดใหญ่ไม่สามารถป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้งได้
.

ข้อมูลแสดงภาวะขาดแคลนน้ำอย่างรุนแรง

จากข้อมูลของเขื่อนอุบลรัตน์ทีเผยแพร่โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปริมาณน้ำที่ใช้ได้ในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนลดลงต่ำกว่าร้อยละ ศูนย์ 3 ครั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาในช่วงฤดูแล้งของปี 2559, 2562 และ 2563. กรมชลประทานจะออกคำสั่งจำกัดการใช้น้ำเมื่อระดับน้ำในเขื่อนลดลงต่ำกว่า 30% ทำให้หน้าแล้งตั้งแต่เดือนเมษายน 2561 ถึงตุลาคม 2563 ไม่มีการปล่อยน้ำเพื่อการปลูกข้าว และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลปริมาณน้ำฝนประจำปีของจังหวัดขอนแก่นจะเห็นว่า ปริมาณน้ำสะสมที่มีอยู่น้อยในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ฯ สอดคล้องกับช่วงเวลาที่เกิดภัยแล้งเป็นประวัติการณ์ในช่วงปี 2555-2558 และ 2562 ของจังหวัดขอนแก่น ซึ่งปริมาณน้ำฝนในช่วงนั้นลดลงมากกว่าร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของกรมอุตุนิยมวิทยาย้อนหลังไป 30 ปี ขอนแก่นเป็นจังหวัดสำคัญที่มีผลผลิตข้าวจากการทำนามากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศไทย วิกฤตที่เกิดขึ้นติด ๆ กัน ได้แก่ มาตรการจำกัดการใช้น้ำของเขื่อนอุบลรัตน์และปรากฏการณ์ฝนแล้งในปี 2562-2563 ทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังลดลงอย่างมาก จากที่เคยผลิตข้าว ได้ 87,442 ตันลดลง 85% เหลือ 13,687 ตันในปี 2561และปีถัดมาผลผลิตลดลงถึง 90% ตัวเขื่อนเองก็มีความเสี่ยงในเรื่องความแข็งแรงในกรณีที่มีฝนตกหนัก พายุโซนร้อนซอนกาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2560 ทำให้น้ำเต็มเขื่อนห้วยทรายขมิ้นในจังหวัดสกลนครอย่างรวดเร็วและทำให้เขื่อนพังลงในที่สุด เกิดน้ำท่วมพื้นที่เกษตรกรรม บ้านเรือน และธุรกิจในเขตเมือง
.

เขื่อนที่สร้างมานานแล้วไม่ได้ช่วยแก้ไขปัญหา

ผศ.ดร. สิตางศุ์ พิลัยหล้า ผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการน้ำจากภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า “เขื่อนชลประทานขนาดใหญ่มักไม่สามารถบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งได้ เนื่องจากสภาพอากาศที่ผิดปกติซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เขื่อนชลประทานทั้งหมดได้รับการออกแบบตามสถิติของสถานการณ์น้ำในรอบ 30 ปี ณ บริเวณที่ตั้งของเขื่อน แต่ปริมาณน้ำฝนที่เกิดขึ้นอย่างมากมายแบบสุดขั้วเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรวดเร็ว ทำให้เขื่อนไม่สามารถทำงานได้ตามที่ได้ออกแบบไว้”

หน่วยงานของรัฐมีแผนสร้างโครงการชลประทานและบริหารจัดการน้ำใหม่กว่า 48,000 โครงการทั่วประเทศ ด้วยงบประมาณกว่า 35300 ล้านบาท ซึ่งมากกว่างบประมาณสาธารณสุขปี 2564เกือบสองเท่า แต่ผศ.ดร.สิตางศุ์ กล่าวว่าโครงการเหล่านี้ได้รับการออกแบบโดยอิงจากข้อมูลด้านน้ำในอดีต โดยไม่มีการพิจารณาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ตามแผนงบประมาณของรัฐบาลปี 2565 กรมชลประทานจะลงทุนในโครงการบริหารจัดการน้ำใหม่ 400 โครงการในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ด้วยงบประมาณ 27,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้มี 2 เขื่อนชลประทานใหม่ คือ อ่างเก็บน้ำลำน้ำชีและอ่างเก็บน้ำลำสะพุง จังหวัดชัยภูมิ และยังมีโครงการย่อยอีกมากมายภายใต้อภิมหาโครงการบริหารจัดการและปรับเปลี่ยนทิศทางแม่น้ำโขง เลย ชี มูน มูลค่ากว่า 3.8 ล้านล้านบาท ผศ.สิตางศ์เตือนว่าแม้ว่าประเทศไทยจะมีโครงการอีกมากมายที่มุ่งจะปรับปรุงการจัดการน้ำและการป้องกันภัยพิบัติ แต่เราจะเผชิญกับปัญหาเดิม ๆ และจะไม่สามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดย “เราจำเป็นต้องมุ่งไปที่โครงการจัดการน้ำขนาดเล็กที่เกี่ยวข้องกับชุมชนโดยตรงเช่น การขุดบ่อน้ำขนาดเล็กสำหรับที่ดินแต่ละผืน ซึ่งจะทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาแหล่งน้ำของตัวเองได้ เรายังต้องเชื่อมโยงโครงการชลประทานต่าง ๆ เพื่อสร้างระบบการจัดการน้ำที่เป็นเอกภาพ ซึ่งจะช่วยให้เราสามารถรับมือกับสภาพอากาศสุดขั้วได้ดียิ่งขึ้น”
.

แล้วเรายังต้องการโครงการขนาดใหญ่จริงหรือ?

คุณสมเกียรติ ประจำวงศ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (ONWR) ยืนยันว่าโครงการชลประทานขนาดใหญ่ยังคงเป็นเครื่องมือในการจัดการน้ำที่จำเป็นสำหรับขยายที่ดินในเขตชลประทานเพื่อป้องกันน้ำท่วมและภัยแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งที่ดินเพื่อการเกษตรส่วนใหญ่อยู่นอกระบบชลประทาน และมีแนวโน้มจะเกิดภัยพิบัติทางน้ำมากกว่าในภูมิภาคอื่น ๆ “ผู้มีอำนาจตัดสินใจตระหนักดีถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อระบบชลประทาน และหน่วยงานของรัฐกำลังทำงานอย่างหนักเพื่อปรับปรุงการจัดการน้ำในแต่ละลุ่มน้ำ แม้ว่าโครงการชลประทานขนาดใหญ่จะมีข้อจำกัดบางประการ แต่เรายังต้องการโครงการขนาดใหญ่สำหรับการจัดการน้ำในระยะยาว” นายสมเกียรติกล่าว

 


บทความนี้ได้รับการสนับสนุนจาก Mekong Data Journalism Fellowship ที่บริหารจัดการร่วมกันโดย Internews’ Earth Journalism Network และ the East West Center