[ก้าวสู่ปีที่ 31] มองงานสิบปีจอมป่าผ่าน “ปราโมทย์ ศรีใย”

[ก้าวสู่ปีที่ 31] มองงานสิบปีจอมป่าผ่าน “ปราโมทย์ ศรีใย”

ปราโมทย์ ศรีใย เจ้าหน้าที่ประสานงานแผนการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมส่งไลน์มารายงานผลการประชุมย่อยเพื่อวางแนวทางโครงการจอมป่าของกรมอุทยานแห่งชาติ จากพื้นที่ชุมชนเขาเหล็ก อุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตน์โกสินทร์ ว่าฝ่ายการมีส่วนร่วมของกรมอุทยานแห่งชาติ มีแนวโน้มที่จะรับดำเนินกิจกรรมต่อเนื่องจากที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรดำเนินการมาสิบปี ภายหลังสิ้นสุดแผนการทำงานในสิ้นปีนี้

.
ปราโมทย์ กำลังรับหน้าที่ประสานงานกับฝ่ายราชการเพื่อเปลี่ยนแปลงวิธีคิด วิธีการทำงาน กับชุมชนกลางป่าในป่าอนุรักษ์ที่มีปัญหายืดเยื้อยาวนานเป็น “ยาขม” ของการอนุรักษ์ป่าในบ้านเรา จากผลการทำงานชุมชนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรในผืนป่าตะวันตก 

หากทำสำเร็จ แน่นอนว่าแนวทางที่ทำให้ชุมชนในผืนป่าตะวันตกที่อยู่อย่างปกติสุขร่วมกับเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ทางราชการย่อมได้รับการปฏิบัติต่อไป แม้ว่างบประมาณโครงการนี้จะสิ้นสุดลง ซึ่งอาจหมายถึงว่าปราโมทย์เองก็อาจจะต้องเปลี่ยนไปทำงานอย่างอื่น แต่ผลงานที่ทำมาได้รับการสานต่อเชิงนโยบาย แต่นั่นเป็นเป้าหมายสูงสุดที่พวกเราวางเอาไว้

มินับถึงการขยายผลไปแก้ปัญหาในพื้นที่ป่าอื่นๆนอกจากป่าตะวันตก ที่เราแอบหวังลึกๆ

โครงการจอมป่า เป็นชื่อที่เราเรียกกันจากตัวย่ออักษรภาษาอังกฤษว่า “JoMPA” มาจาก Joint Management of Protected Areas แปลอย่างเป็นทางการว่าโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม (พื้นที่คุ้มครองในที่นี้คือพื้นที่อนุรักษ์ธรรมชาติอย่างอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า) เป็นโครงการที่มีเป้าหมายสำคัญในการแก้ไขปัญหาชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตคุ้มครองอย่างที่ว่ามา นับรวมๆ แล้วมีร่วมหนึ่งร้อยชุมชนในป่าตะวันตก

ปราโมทย์ ศรีใย บัณฑิตหนุ่มด้านประวัติศาสตร์เพิ่งเรียนจบจากราม มาสมัครงานกับผมเมื่อสิบปีที่แล้วบอกว่าสนใจงานโครงการจอมป่าที่มูลนิสืบนาคะเสถียรกำลังเริ่มโครงการร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช มีพื้นที่เป้าหมายการทำงานอยู่ที่ชุมชนในป่าอุทยานแห่งชาติ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า 17 พื้นที่ในกลุ่มป่าตะวันตก

วันที่ปราโมทย์ มาสมัครงาน มูลนิธิสืบฯ กำหนดแผนงานกับกรมอุทยานแห่งชาติว่าจะมีเจ้าหน้าที่ภาคสนามไปเก็บข้อมูลชุมชน และทำงานอำนวยความสะดวก (Facilitator) เพื่อให้เจ้าหน้าที่อนุรักษ์ฝ่ายข้าราชการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกับชุมชน และสร้างการมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ป่าร่วมกัน ตอนนั้นเรามีคนหนุ่ม 7 คน กระจายเก็บข้อมูลชุมชนอยู่แล้ว ปราโมทย์นับเป็นคนที่ 8 นับเป็นน้องสุด ทั้งวัยและประสบการณ์ แต่ดูจากบุคลิก คำพูดคำจา เด็กหนุ่มคนนี้มีอะไรซ่อนอยู่ลึกๆ ว่าเขาน่าจะทำงานแบบนี้ได้

ตอนเริ่มงานใหม่ๆ ผมเคยนั่งกินข้าวผัดในร้านอาหารแห่งหนึ่งกับปราโมทย์ สังเกตว่าเขาเขี่ยผักคะน้า มะเขือเทศทิ้งแบบเด็กผู้ชายในเมืองชอบทำ จำได้แม่นว่าผมสะกิดเตือนเขาให้ฝืนกินผัก เพราะเวลาเข้าไปทำงานชุมชนชาวบ้านเขาจะมองไม่ดี ว่าเป็นคนเมืองเรื่องมาก กินแต่หมูแต่เนื้อ ในชุมชนส่วนใหญ่ผักน้ำพริกเป็นอาหารประจำที่ต้องกินร่วมสำรับอาหาร ซึ่งเราก็ไม่ควรทำอะไรแปลกแยก 

ไม่กี่เดือนมานี้เราคุยรำลึกความหลังกัน ไม่ใช่ผมคนเดียวที่จำเหตุการณ์นี้ได้ ปราโมทย์ก็จำได้เช่นกัน และยอมรับว่านั่นเป็นคำสอนสำคัญในรายละเอียดที่ทำให้ชีวิตในชุมชนผ่านมาได้ด้วยดีเรื่องหนึ่งทีเดียว

ปราโมทย์ ถูกส่งไปเรียนรู้งานที่บ้านทุ่งนางครวญกับรุ่นพี่เดือนหนึ่ง หลังจากนั้นเขาถูกมอบหมายให้ไปทำงานกับชุมชนแม่น้ำน้อย ในอุทยานแห่งชาติโยค ซึ่งเป็นชุมชนคนภาคกลางที่ค่อยๆ อพยพไปทำสวนทำไร่มีบางส่วนอยู่มาตั้งแต่ก่อนประกาศอุทยานมาอยู่ในป่าเมืองกาญฯ ส่วนใหญ่เป็นสวนผลไม้ สวนมะนาว มีไร่ข้าวโพดแทรกอยู่บ้าง ปราโมทย์เข้าไปเก็บข้อมูลพื้นฐานประชากร ชีวิตความเป็นอยู่ โครงสร้างเครือข่ายญาติ ผ่านเทคนิคงานศึกษาชุมชนรูปแบบต่างๆ อาทิ แผนผังเครือญาติ แผนที่เดินดิน และการเก็บข้อมูลขอบเขตที่ทำกินโดยสังเขปโดยเครื่องมือสำรวจพิกัดภูมิศาสตร์ (GPS) และหาทางหนุนเสริมอาชีพชุมชนผ่านกิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการปรับทุกข์ผูกมิตร รวมถึงจัดกิจกรรมอนุรักษ์และประชุมหารือกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติที่มีหน่วยพิทักษ์ป่าอยู่ไม่ไกลชุมชน

ผมจำได้ว่าเราฝากปราโมทย์ให้พักกินนอนอยู่บ้านป้าชบา ผู้นำชุมชนโดยธรรมชาติที่คลับคล้ายคลับคลาว่าเคยทำงานราชการในกรุงเทพก่อนอพยพไปเป็นปัญญาชนอยู่ในป่าด้วยเหตุผลส่วนตัวอะไรสักอย่างหนึ่ง

ป้าชบาดูแล และเอ็นดูเด็กหนุ่มจากเมืองด้วยดี แต่เพื่อนบ้านในชุมชนก็เอื้ออาทรต่อเขาไม่น้อยกว่ากัน ในวงเหล้าขาวที่เป็นเครื่องดื่มของลูกผู้ชายทุกวัยที่นั่น ปราโมทย์ผ่าประสบการณ์วงสนทนาผ่านเครื่องดื่มไร้สีกลิ่นรุนแรงมาได้โดยสวัสดิภาพ 

ผ่านมาสองปีปราโมทย์ขยายกิจกรรมชุมชนไปสู่หมู่บ้านประชิดอุทยานไทรโยคอีกหมู่บ้านหนึ่ง ชื่อ บ้านหาดงิ้ว และได้รับมอบหมายให้เริ่มขยายงานไปเก็บข้อมูลชุมชนในอุทยานอื่นๆ คือ หมู่บ้านปิล็อคคี่ ซึ่งต้องนั่งเรือข้ามอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลมไปทำงานทั้งๆ ที่เขาว่ายน้ำไม่เป็น รวมถึงลองไปเก็บข้อมูลชุมชนเวียคะดี้ ที่ชายแดนพม่าทางตอนเหนือของอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ แต่แล้วงานประสานงานชุมชนที่หาดงิ้วกับหัวหน้าอุทยานแห่งชาติไทรโยคสมัยนั้นที่เป็นคนใต้ใจร้อนก็มีปัญหาในการตรวจยึดจำกุมแปลงคดีรุกป่าที่หัวหน้ามีความประสงค์ให้มูลนิธิสืบนาคะเสถียรสนับสนุนงบประมาณปลูกป่าตรวจยึด แต่ปราโมทย์ทำงานใกล้ชิดชุมชนอยากรอให้คดีที่ยังไม่เรียบร้อยสิ้นสุดก่อน มีความไม่ลงตัวในการทำงานหลายเรื่อง

ผมตัดสินใจหยุดงานที่แม่น้ำน้อย และหาดงิ้วไว้ก่อน และมอบหมายให้เขาย้ายไปฝังตัวทำงานที่ชุมชนปิล็อคคี่ ที่ต้องนั่งเรือข้ามฝั่งผ่านทะเลสาบเขาแหลมกว้างใหญ่ เขาทำงานได้ดีจนสามารถสำรวจแนวเขตพื้นที่ใช้ประโยชน์ชุมชนได้สำเร็จ แต่อย่างไรก็ดี การทำงานของเขาไม่ลงตัวนักกับผู้นำชุมชนที่เป็นนักการเมืองท้องถิ่นที่มีแนวคิดการจัดการที่ดินที่ต้องการแปลงกรรมสิทธิ์ที่ดินในป่า ซึ่งไม่ตรงกับเป้าหมายของเราที่วัดขอบนอกของชุมชนเป็นแปลงรวม อย่างไรก็ตามพื้นที่ปิล็อคคี่ได้เกิดการยอมรับกติกา และแนวสำรวจร่วมกันกับหัวหน้าอุทยานเขาแหลม ใช้เป็นแนวทางควบคุมอย่างมีส่วนร่วมกับกรรมการชุมชนต่อมาถึงปัจจุบัน

ปราโมทย์ เด็กหนุ่มจากรามได้รับการยอมรับในฝีมือการประสานงานมากขึ้นตามวัยและเรื่องราวที่ผ่านพบ ผมตัดสินใจมอบงานยากให้เขาเดินทางไปแก้ปัญหาชุมชน 7 ชุมชนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก แทนเจ้าหน้าที่คนเก่าของเราที่ลาออกไปเป็นครู

แนวทางแก้ไขความขัดแย้งเรื่องไร่หมุนเวียนในพื้นที่ป่าใหญ่ และชุมชนกะเหรี่ยงดั้งเดิมที่ยืดเยื้อยาวนานอย่างทุ่งใหญ่ท้าทายความสามารถของพวกเราผ่านการทำงานโครงการจอมป่าของปราโมทย์มาอีกหลายปี

ฤดูฝนปี 2551 ผมพาปราโมทย์ ศรีใย ที่ตอนนั้นเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามประจำพื้นที่ชุมชนปิล็อคคี่ ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาแหลม เดินฝ่าฝนเข้าไปเยี่ยมชุมชนในป่าทุ่งใหญ่นเรศวร ที่เรียงรายจากชายป่าเข้าลึกสุดเขตรักษาพันธุ์ 7 ชุมชน

นี่เป็นชุมชนในป่าลึกที่สุดของป่าจังหวัดกาญจนบุรี ป่าผืนนี้ถูกประกาศเป็นเขตพื้นที่มรดกโลก ร่วมกับป่าห้วยขาแข้งโดยการเขียนรายงานความสมบูรณ์เสนอยูเนสโกของสืบ นาคะเสถียร เมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว

ชื่อภาษากะเหรี่ยงโผล่วของชุมชน ทั้งเจ็ด คือ กองม่องท่ะ สเนพ่อง เกาะสะเดิ่ง ไล่ไว่ ซาละวะ ทิไล่ป้า และ จะแก ระยะทางจากขอบป่าเดินเข้าไปถึงจะแก ร่วมๆ 100 กิโลเมตร

ด้วยความมุ่งหมายจะมอบหมายงานให้เขาเข้ามาทำงานที่นี่ เนื่องจากผลงานที่ผ่านมาพิสูจน์แล้วว่าเด็กหนุ่มคนนี้มีฝีมือ และความตั้งใจมากพอที่จะเป็นตัวแทนของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นเจ้าหน้าที่ภาคสนามเพื่อประสานงานระหว่างชุมชนและฝ่ายเจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติในการแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนที่มีวิถีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์อย่างกะเหรี่ยงทุ่งใหญ่ที่ยังคงวิถีฟันไร่ เผากอกไผ่เพื่อทำไร่ข้าวตามวัฒนธรรมไร่หมุนเวียน กับ ข้อกฎหมายเคร่งครัดของเขตรักษาพันธ์ ที่ห้ามแผ้วถางต้นไม้ใบหญ้าใดๆ แต่ก็ต้องผ่อนๆ จับๆ กันตลอดมา เพราะชุมชนอยู่กันมาก่อน และยืนยันวิถีที่ทำกันมาแต่ปู่ย่าตายาย โดยมีประเพณีมากมายที่แสดงถึงการรักษาป่า และไม่รุกล้ำก้ำเกินพื้นที่ที่เคยทำหมุนเวียนมาแต่เดิม

ตอนนั้นเจ้าหน้าที่หนุ่มชาวกะเหรี่ยงของเราที่เป็นลูกชายบ้านจะแก บัณฑิตคนแรกของหมู่บ้านที่ออกไปเรียนจนจบปริญญาตรีจากราชภัฎกาญจนบุรี ลาออกจากงานยากๆ ของเราไปเป็นครูตามวิชาชีพที่เขาเรียนจบมา

แต่เหตุผลสำคัญคือการทำงานกับเราในโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วม หรือ โครงการจอมป่า (JoMPA-Joint Management of Protected Area) ที่มูลนิธิมีแผนงานร่วมกับกรมอุทยานจะแก้ไขความขัดแย้งระหว่างชุมชนและเจ้าหน้าที่ที่ว่ามาไม่มีความคืบหน้า เพราะเด็กหนุ่มจากชุมชนกะเหรี่ยงพื้นที่ไม่ได้รับความเชื่อถือจากผู้ใหญ่ในหมู่บ้านเท่าไหร่นักแม้จะออกไปเรียนหนังสือมาก็ตาม และประการสำคัญคือ ด้วยพื้นเพที่โตในป่า การมาเรียนในเมืองเพียงสี่ปีในสาขาพลศึกษาย่อมไม่ทำให้เขาเข้าใจรากความขัดแย้ง ที่ลึกไปจากข้อมูลที่ไม่ตรงกัน ใครผิดใครถูกจากสองฝ่าย ความสัมพันธ์อันระหองระแหงมายาวนานจนเป็นความหลังฝังใจที่ไม่ไว้ใจกัน ค่านิยมของคนที่ถือประเพณีทำไร่ข้าวหมุนเวียนกับการอนุรักษ์แบบตะวันตกที่ไม่อยากให้มีคนอยู่ในป่า ไปจนถึงผลประโยชน์สลับซับซ้อนของฝ่ายข้าราชการและชาวบ้านที่ทำผิดกฎหมาย แน่นอนข้อใหญ่ที่สุดคือ ความติดขัดจากข้อกฎหมายเข้มงวดไม่มีช่องผ่อนปรน ใช้หลักปล่อยๆ จับๆควบคุมกันไป และโครงสร้างทางเชื้อชาติที่แตกต่างกับระหว่างคนชนเผ่าบนภูเขา กับคนไทยพื้นราบที่ถูกส่งไปเป็นข้าราชการ

เจ้าหน้าที่ภาคสนามเราถูกใช้ให้อยู่ตรงกลางความขัดแย้งนี้ ชาวบ้านมองมูลนิธิสืบอย่างไม่ไว้วางใจว่าเป็นพวกเดียวกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ส่วนเจ้าหน้าที่ก็คิดว่าอย่างไร NGO อย่างสืบ ก็เข้าข้างแต่ชาวบ้าน

แน่นอนว่าความกดดันแบบนี้เกินกว่าภาระของเด็กหนุ่มบ้านป่าจะแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าทุกวันวี่ได้ในการทำงานโดดเดี่ยวในชุมชน ไกลโพ้นจากผม แม้จะเป็นบ้านเกิดเขาเอง

ผมจำได้ดีว่าเจ้าศักดิ์ กะเหรี่ยงหนุ่มคนนั้นพกแววตาว้าวุ่นกังวลมารายงานผลการดำเนินงานสำรวจข้อมูลชุมชนและประสานงานกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทุกครั้ง

“ผมไม่รู้ว่า วันหนึ่งผมจะเลือกอยู่ข้างไหนกันแน่” หนุ่มศักดิ์ บ้านจะแกบอกผม ทั้งๆ ที่หน้าที่ของเขาคือ การเข้าไปเป็น “คนกลาง” 

แต่ก็นั่นแหล่ะ เรื่องแบบนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายๆ และที่จริงแล้วยังไม่เคยมีใครทำได้ด้วยซ้ำไป

มูลนิธิสืบ ไม่มีเจ้าหน้าที่ภาคสนามในชุมชนที่นี่อยู่เกือบสองปี ผมเทียวไปเทียวมาด้วยการเดินเท้าเข้าไปบ้าง ขับรถเข้าไปในหน้าแล้งบ้างอยู่หลายครั้ง เพื่อคงสภาพการปรับทุกข์ผูกมิตรกับผู้นำชุมชน และเจ้าหน้าที่อนุรักษ์ จนได้อาสาสมัครที่เป็นคนพื้นที่ที่มีความคิดสอดคล้องกันกับเรา ช่วยเก็บข้อมูลพื้นที่ขอบเขตไร่หมุนเวียนด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ที่เรียกว่า GPS มาให้เราลงพื้นที่ขอบเขตได้คร่าวๆ ห้าในเจ็ดหมู่บ้านแต่เป็นการสำรวจของชาวบ้านฝ่ายเดียว แต่นั่นก็เป็นข้อมูลพื้นฐานให้ผมประสานงานเชิงนโยบายกับเจ้าหน้าที่ระดับนโยบายของกรมอุทยานมาเรื่อยๆ

จำได้ว่าวันที่ปราโมทย์ เดินเข้าป่าทุ่งใหญ่ครั้งแรกเขาเหนื่อยมาก เพราะงานในพื้นที่เก่าไม่ได้ไกลโหดแบบนี้ แต่แววตาสู้ และอยากรู้อยากเรียนเมื่อฟังคำปราชญ์เฒ่า และปัญญาชนท้องถิ่นชาวบ้านพูดคุยในวงสนทนาแต่ละบ้าน ทำให้เขากระตือรือร้น และตัดสินใจรับงานใหญ่ของเราไปทำต่อ นั่นอาจจะเป็นเพราะเนื้องานที่นี่มันตรงกับความเข้าใจและความสนใจจากความรู้เชิงสังคมประวัติศาสตร์ของเขาก็เป็นได้

ปราโมทย์ นำแผนที่ขอบเขตไร่หมุนเวียนชุมชนคร่าวๆ ของอาสาสมัคร ไปประสานงานกับหัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคนใหม่ที่มีท่าทีเข้าใจปัญหา และพร้อมทำงานร่วมกับเรา ตามแผนงานโครงการที่ถูกยอมรับเชิงนโยบายมากขึ้นจากการประสานงานเข้มข้นจากผู้บริหารมูลนิธิสืบ และผู้หลักผู้ใหญ่ระดับกระทรวง และกรม

ปราโมทย์สามารถปรับปรุงแผนที่ให้ชัดเจน มีชื่อภาษากะเหรี่ยงทางวิถีวัฒนธรรมกำกับไร่หมุนเวียนแต่ละบริเวณให้ทางราชการเห็นว่าไม่ใช่เป็นเพียงไร่เลื่อนลอย ประสานงานกับผู้นำท้องถิ่นที่ยังไม่ไว้ใจเราจนสามารถนำเจ้าหน้าที่ราชการมาร่วมเดินสำรวจกับกรรมการชุมชนสำเร็จ ได้ข้อมูลครบทั้งเจ็ดหมู่บ้าน เสนอกรมอุทยานในระดับคณะกรรมการโครงการ พร้อมๆ กับหมู่บ้านอื่นๆ อีกราวๆ แปดสิบหมู่บ้าน ทั่วทั้งป่าตะวันตกอย่างเป็นทางการ เมื่อปี 2555 จนได้มีบันทึกข้อความจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติคนดัง ที่ชื่อดำรงค์ พิเดช ที่ยอมรับขอบเขตการสำรวจร่วมและใช้หลักตามมติคณะรัฐมนตรี 30 มิ.ย.41 มอบให้เจ้าหน้าที่ทุกพื้นที่ควบคุมมิให้ชุมชนขยายแนวเขตตามฐานข้อมูลของเรา โดยผ่อนปรนให้ชาวบ้านทำกินในขอบเขตได้ไม่จับกุมกัน

ปีที่แล้วผมดึงปราโมทย์ กลับเมืองหลวงมาทำงานประสานงานในภาพรวมโครงการ มอบหมายภารกิจสำคัญให้เกิดข้อตกลงจากกรมอุทยานแห่งชาติว่าจะรับแนวทางการทำงานและข้อมูลทั้งหมดไปทำงานต่อโดยเป็นภารกิจปกติของกรมหลังจากโครงการสิ้นสุดลงในสิ้นปี 2558 รวมถึงการขยายผลไปทำต่อในพื้นที่อื่นๆ 

โดยพวกเราก็ยังไม่รู้อนาคตว่าจะหาเงินทุนมาทำงานแบบนี้ต่อไปได้อีกหรือไม่

ปราโมทย์กำลังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับการทำงานอนุรักษ์และแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับป่าที่ยืดเยื้อยาวนานมาอย่างน่าติดตามความสำเร็จในระยะเวลาก่อนสิ้นสุดโครงการในไม่กี่เดือนข้างหน้า เขาเปลี่ยนจากบทบาทคนเดินป่า ประสานงานชาวบ้านกับราชการในพื้นที่ มาวิ่งเข้ากรมหาคีย์แมนในแต่ละสำนักส่วนกลาง อธิบายความซับซ้อนของปัญหา ชี้แจงผลการทำงานที่ผ่านมาในช่วงสิบปีที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายภายในกรมให้ทำงานการมีส่วนร่วมกับชุมชนอย่างจริงจัง

ผมยกตัวอย่างการทำงานของเด็กหนุ่มอย่างปราโมทย์ ที่ทำงานต่อเนื่องสิบปีในโครงการจอมป่าจากเด็กจบใหม่ในวันนั้น จนมาถึงวันนี้ที่เขาเติบโตและทำงานที่น่าภูมิใจร่วมกับเพื่อนๆ พี่น้องๆ มาจนถึงวันที่ใกล้จะสำเร็จผลในขั้นสำคัญ

แน่นอนละ งานของเรายังไม่จบแค่นี้ ความยั่งยืนของชุมชนและการอนุรักษ์ยังคงต้องการการทำงานเรื่องอื่นๆ อีกมาก แต่นับว่าก็เป็นสิบปีที่น่าสนใจ น่าภูมิใจยิ่งของคนเล็กๆ ที่อาสาทำงานใหญ่เมื่อมองผ่านชีวิตของเขาที่เริ่มทำงานในชีวิตกับเรามาต่อเนื่องสิบปี “ปราโมทย์ ศรีใย”

 


เผยแพร่ครั้งแรก นิตยสารสารคดี 2557

ผู้เขียน

Website | + posts

ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร (18 กันยายน 2558 - ปัจจุบัน)