สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง และ 30 ปี มรดกโลก

สัตว์ป่า ห้วยขาแข้ง และ 30 ปี มรดกโลก

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นผืนป่าอนุรักษ์ที่มีคุณค่าและความสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศ

.
และคงจะไม่ใช่คำกล่าวเกินจริงนักถ้าจะกล่าวว่ายังเป็นผืนป่าที่มีความสำคัญของโลก จากการรับรองของยูเนสโกที่ประกาศให้ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติเมื่อปี 2534

ความพิเศษของ ‘ห้วยขาแข้ง’ มีมากมายหลายประการ เริ่มตั้งแต่ตำแหน่งที่ตั้งซึ่งอยู่ในเขตที่เป็นรอยต่อของชีวภูมิศาสตร์สี่ภูมิภาคของเอเชีย ได้แก่ ภูมิภาคซุนเดอิก ภูมิภาคอิโด-เบอร์มิส ภูมิภาคอินโด-ไชนิส และภูมิภาคไซโน-หิมาลายัน จึงเป็นศูนย์รวมของพรรณพืชและชนิดป่าหลายชนิดหลายแบบ

ภายในพื้นที่ราว 1.8 ล้านไร่ ประกอบด้วยชนิดป่าที่พบในพืชเขตร้อนชื้นถึงเจ็ดชนิด ได้แก่ ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา ป่าสนเขา ป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง และป่าเขาหินปูน ทั้งยังเป็นแหล่งต้นน้ำที่สำคัญของแม่น้ำแม่กลองและแม่น้ำสะแกกรัง

ห้วยขาแข้งเป็นบ้านของควายป่าฝูงสุดท้าย เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์กินพืชขนาดใหญ่ที่สุดอย่างช้างป่า มีนกเงือกคอยทำหน้าที่ดูแลป่า เป็นแหล่งพันธุกรรมของเสือโคร่งอินโดจีน สัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของโลก โดยในปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2564) พบว่าประชากรเสือโคร่งในป่าห้วยขาแข้งมีจำนวนเพิ่มขึ้น และยังกระจายตัวไปสู่ผืนป่าข้างเคียงอย่างอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน

ด้วยความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณและความหลากหลายจากชนิดของป่าทำให้ห้วยขาแข้งเหมาะสมสำหรับเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์ป่า มีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมไม่น้อยกว่า 159 ชนิด นกไม่น้อยกว่า 428 ชนิด โดยรวมมีสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 700 ชนิด บางชนิดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น (endemic species) เช่น ค้างคาวหน้ายักษ์จมูกปุ่ม งูลายสาบท้องสามขีด เขียดงูเกาะเต่า ฯลฯ

ในความหลากหลายของชนิดพันธุ์มีสัตว์เด่นที่ได้รับสมญานามว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่ทั้งเจ็ดแห่งห้วยขาแข้ง ได้แก่ ควายป่า เสือโคร่ง เสือดาว สมเสร็จ วัวแดง กระทิง และช้างป่า

อย่างไรก็ตาม ความอุดมสมบูรณ์แสนพิเศษที่ยกตัวอย่างมานั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นผลจากการทำงานอนุรักษ์อย่างเข้มข้น ไม่ว่าจากหน่วยงานของภาครัฐ องค์กรพัฒนาเอกชน หรือกระทั่งภาคประชาชนที่มีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่อง พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการปกปักรักษาผืนป่าแห่งนี้มาโดยตลอดนับแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน

ยกตัวอย่างเช่น การทำงานวิจัยของ ‘สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ’ ที่เฝ้าเพียรศึกษาพฤติกรรมความเป็นอยู่ของเสือโคร่งมาเป็นเวลากว่าสามทศวรรษ จนเป็นที่ยอมรับในด้านทักษะการทำงาน และเป็นแบบอย่างให้นานาประเทศได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้ ทั้งนำไปต่อยอดสู่งานดูแลพื้นที่ ยังผลให้วันนี้ห้วยขาแข้งได้ชื่อว่าเป็นแหล่งพันธุกรรมเสือโคร่งสายพันธุ์อินโดจีนที่สำคัญของโลกดังที่ได้กล่าวไป

ในการลาดตระเวนป้องกันรักษาป่า ห้วยขาแข้งเองเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกๆ ของไทยที่นำระบบ ‘การลาดตระเวนเชิงคุณภาพ’ (SMART Patrol) มาใช้ โดยการนำองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์มาเป็นเครื่องมือนำการทำงาน ผ่านการเก็บข้อมูล วิเคราะห์ สังคราะห์ และนำไปสู่การวางแผนงานป้องกันให้เกิดความรัดกุม ช่วยลดภัยคุกคามให้กับผืนป่าได้เป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน การส่งเสริมสนับสนุนของหน่วยงานภายนอกเองก็มีส่วนสำคัญไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนเครื่องมือ งบประมาณ ตลอดจนองค์ความรู้ต่างๆ ที่ช่วยพัฒนาศักยภาพคนทำงานให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ที่ขาดไม่ได้อีกประการหนึ่งคือการทำงานร่วมกับชุมชนรอบผืนป่าห้วยขาแข้งในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้ประชาชนเกิดความตระหนักและหวงแหนทรัพยากร ทั้งยังมีการจัดการในรูปแบบป่าชุมชน และพื้นที่กันชนเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรโดยไม่เป็นการรบกวนผืนป่าอนุรักษ์ เกิดเป็นความยั่งยืน คนอยู่ได้ ป่าอยู่ได้ สัตว์ป่าอยู่ได้

นอกจากนี้ ในภาพรวมใหญ่ยังได้บูรณาการงานอนุรักษ์ในรูปแบบของกลุ่มป่าที่เรียกกันในชื่อ ‘กลุ่มป่าตะวันตก’ ซึ่งประกอบด้วยป่าห้วยขาแข้งและพื้นที่อนุรักษ์อีก 16 แห่ง ที่ได้ยกระดับงานดูแลรักษาผืนป่าแต่ละแห่งให้มีมาตรฐานเดียวกัน อันเปรียบเสมือนเกราะคุ้มกันให้กับป่าห้วยขาแข้งและเพิ่มแหล่งกระจายตัวให้แก่สัตว์ป่าได้อาศัยและออกหากินอย่างปลอดภัยในอาณาเขตที่กว้างไกล

ที่กล่าวมานี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการร่วมทำงานอนุรักษ์ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาลจากความมุ่งมั่นศรัทธาของทุกฝ่าย จนทำให้ผืนป่าห้วยขาแข้งยังคงความอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางชีวภาพ และเป็นบ้านของสัตว์ป่ามาจนถึงวันนี้ และต่อไปในอนาคต

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


จากคำนำโดยมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในหนังสือสัตว์ป่าห้วยขาแข้ง รวมภาพถ่ายสัตว์ป่าโดยคุณณรงค์ สุวรรณณงค์