การตัดงบสิ่งแวดล้อม อาจทำผู้พิทักษ์ป่าตกงานมากถึง 50% l SEUB TALK EP.1

การตัดงบสิ่งแวดล้อม อาจทำผู้พิทักษ์ป่าตกงานมากถึง 50% l SEUB TALK EP.1

ประเด็นที่ร้อนแรงที่สุดในแวดวงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้และสัตว์ป่า ในเดือนแรกของปี 2565 คือเรื่องที่รัฐบาลตัดเงินงบประมาณในการจัดจ้างผู้พิทักษ์ป่าทั่วประเทศ
.

ซึ่งเมื่อวันที่ 12 มกราคม มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ให้โปรดพิจารณาทบทวนการจัดสรรงบประมาณในการจัดจ้างพนักงานพิทักษ์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

หลังจากนำเสนอเรื่องสู่สาธารณะ ค่อนข้างจะมีผลตอบรับที่ดีทั้งจากประชาชนทั่วไปที่คอยเอาใจช่วยผู้พิทักษ์ป่า ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้เสียโดยตรง

ประเด็นปัญหาเรื่องงบประมาณที่หายไปนี้ ในแง่หนึ่งผูกพันกับเรื่องสำคัญอย่างจากจัดเก็บเงินรายได้ค่าเข้าพื้นที่อุยานแห่งชาติ เช่น ปลายปี 2564 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางไปอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่เป็นจำนวนมาก หรือที่ผ่านมาได้จากการการท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติทางทะเล เช่นที่ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จัดเก็บรายได้ในส่วนนี้ปีละเกือบพันล้านบาท หรือประมาณ 1 ใน 4 ของรายได้จัดเก็บงบส่วนนี้ของทั้งประเทศ

ที่ผ่านมากรมอุทยานแห่งชาติฯ นำรายได้ตรงส่วนนี้มาจ้างงานเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าบางส่วน งบประมาณบางส่วนนำไปใช้เรื่องบริการการท่องเที่ยว ดูแลลานกางเต็นท์ ดูแลบ้านพักนักท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ

ถ้าเราดูจากกราฟสถิติเงินรายได้ จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา เงินรายได้ส่วนนี้กระเตื้องขึ้นมาก จากระดับไม่ถึง 500 ล้านบาท ขึ้นมาเป็นเกือบพันล้านบาท และในปี 2560 รายได้จากการจัดเก็บเงินขึ้นมา 2,500 – 3,000 ล้านบาท แต่ในปี 2562 นักท่องเที่ยวจีนเริ่มหายไป และเริ่มเกิดการระบาดของโควิด-19 เงินรายได้ก็เริ่มลดลง แต่ยังอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 2,000 พันล้านบาท
.

.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเงินรายได้จากการจัดเก็บจะเพิ่มมากขึ้น ทว่างบประมาณที่เคยได้จากภาครัฐที่ให้มาดูแลป่ากลับลดลง เพราะถือว่าพึ่งตัวเองได้แล้ว โดยงบประมาณเริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2563 – 2564 ขณะที่รายได้ในช่วงที่เกิดการระบาด เช่นปี 2564 จัดเก็บได้เพียง 300 ล้านบาท ซึ่งได้จากนักท่องเที่ยวในประเทศ แต่หากปี 2565 ยังไม่มีการเปิดประเทศ รายได้ส่วนนี้ก็จะกระเทือนต่องบประมาณของผู้พิทักษ์ป่าโดยตรง

สำหรับงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดของกรมอุทยานแห่งชาติฯ ในปี 2562 เป็นต้นมา ตามยอดรวมจะได้รับงบประมาณ 11,858 ล้านบาทสำหรับทั้งกรม (เท่ากับราคาสร้างเขื่อนหนึ่งเขื่อนของกรมชลประทาน) และลดลงมาทีละน้อยจนในปี 2565 ลดมาเหลือ 9,971 ล้านบาท หรือลดลงประมาณ 100 ล้านบาท
.

.
หากดูตัวเลขอาจถือว่าไม่มาก แต่หากวัดโดยแบ่งตามสัดส่วนงบประมาณการใช้จ่ายในด้านต่างๆ จะเห็นว่า กราฟสีน้ำเงินหรืองบบุคลากร ซึ่งหมายถึงเงินข้าราชการ เงินเดือนอธิบดี และข้าราชการระดับปฏิบัติงาน ในปี 2562 ได้ 5,168 ล้านบาท ส่วนปี 2565 เหลือ 5,214 ล้านบาท

แต่กราฟสีส้ม คืองบดำเนินงาน ซึ่งเป็นงบประมาณจัดจ้างผู้พิทักษ์ป่า ที่เป็นพนักงานราชการหรือลูกจ้าง TOR ซึ่งงบประมาณส่วนนี้ไม่ได้หมายถึงแต่เงินเดือนเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงค่าน้ำมันสำหรับเดินทาง อุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการทำงานก็อยู่ในงบประมาณส่วนนี้

ซึ่งในรายละเอียดของงบประมาณส่วนนี้ งบสำหรับแบ่งจ่ายเป็นเงินเดือนผู้พิทักษ์ป่า พบว่าลดลงจากปี 2564 จาก 421 ล้านบาท เหลือ 121 ล้านบาทในปี 2565
.

.
ทางผู้รู้เล่าให้ฟังว่า น่าจะมาจากทางรัฐบาล สภาพัฒน์ หรือเรื่องทางนโยบายที่ให้ความสำคัญกับงบลงทุนเป็นหลัก เพราะเป็นงบที่ทำให้เกิดอนาคต เกิดรายได้

ต่อประเด็นนี้ในทางทฤษฎีอาจจะใช้กับกรมอื่นได้ แต่สำหรับกรมอุทยานแห่งชาติฯ “อนาคตมันอยู่ที่การรักษาป่า ถ้าไม่มีป่าให้รักษา จะลงทุนสร้างสำนักงานหรือสร้างห้องน้ำ มันก็ไม่รู้จะไปรักษาอะไร”

การลงทุนของกรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงต้องลงทุนในเรื่องของงานอนุรักษ์ ไม่ใช่กรมที่เอามาลงทุนสร้างสิ่งปลูกสร้าง เรื่องนี้รัฐบาลต้องทำความเข้าใจกันหน่อย

สำหรับงบประมาณในการจัดจ้างบุคลากร ซึ่งลดจากจากปี 2564 ประมาณ 300 ล้านบาท เป็นเรื่องที่มีความสัมพันธ์กับเงินจัดเก็บรายได้อุทยานแห่งชาติที่หายไปเพราะสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เงินรายได้เริ่มลดลง หากสถานการณ์ยังวิกฤตและไม่มีนักท่องเที่ยว จะทำอย่างไรกันดี

วันนี้เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่ตั้งใจทำงานกันเป็นพันคน ฝึกทักษะต่างๆ มามากมาย เขาจะรู้สึกอย่างไร ทราบมาว่าทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงก็กำลังดำเนินการเข้าไปของบประมาณส่วนกลาง แต่ก็เกิดขึ้นเพราะมีสาธารณชนร่วมกันส่งเสียงเรียกร้องและผลักดัน

การทำงานของผู้พิทักษ์ป่าในวันนี้ ตัวอย่างในกลุ่มป่าตะวันตก กรณีพื้นที่ใหญ่ๆ อย่างเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผางหรือห้วยขาแข้ง เฉลี่ยจากจำนวนพื้นที่แล้วเท่ากับว่าผู้พิทักษ์ป่าคนหนึ่งต้องดูแลพื้นที่ประมาณ 700 – 900 ไร่ ส่วนพื้นที่เล็กๆ อย่างอุทยานแห่งชาติเอราวัณ โดยเฉลี่ยก็อาจไม่มาก แต่ไปหนักที่งานบริการนักท่องเที่ยว และเวลาทำงานจริงๆ ไม่ใช่ว่าพิทักษ์ป่าคนหนึ่งต้องไปตระเวนดูแลการล่าสัตว์ตัดไม้ในพื้นที่ทั่วทั้ง 500 ไร่ แต่จะมีการนำระบบจัดชุดกำลังทีมละ 10 คน หรืออย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีทีมละ 5 คน แบกเป้เข้าป่าไปพร้อมเครื่องมือ เช่น จีพีเอส ไปจับพิกัดว่าพื้นที่ตรงไหนมีภัยคุกคาม เช่น ร่องรอยพราน ปลอกกระสุน ปลากระป๋อง ก้นบุหรี่ ร่องรอยการนั่งห้าง มีกับดักสัตว์ป่า ถ้าเกิดมีร่องรอยว่าพรานมีอาวุธร้ายแรงก็จะกลับมาประชุมกัน อาจสนธิกำลังเข้าไปดำเนินการ ซึ่งในแต่ละพื้นที่ก็ต้องขึ้นหน้าผา เดินตัดไปตามน้ำตก เป็นงานที่มีความเสี่ยงอันตราย

ผู้พิทักษ์ป่าเป็นผู้ที่ต้องเข้าไปใช้ชีวิตกินนอนกลางป่า ต้องฝึกอาวุธ ต้องฝึกความอดทน ต้องฝึกการใช้จีพีเอส ทักษะต่างๆ เหล่านี้ถ้าต้องถูกเลิกจากไปเป็นพันคน จะมีผลกระทบต่อการรักษาป่าอย่างแน่นอน

การพิจารณาตัดงบประมาณที่ทำให้กระเทือนเรื่องใหญ่อย่างการรักษาป่าไว้ ถือว่าเป็นความผิดพลาด ไม่รอบคอบ สะท้อนถึงตัวคณะมนตรี และตัวรัฐมนตรีว่ากระทรวงจะต้องออกแรงมากกว่านี้หน่อย


ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code