งานของหัวหน้า ผู้ช่วย เจ้าหน้าที่ ผู้พิทักษ์ป่า ในพื้นที่อนุรักษ์

งานของหัวหน้า ผู้ช่วย เจ้าหน้าที่ ผู้พิทักษ์ป่า ในพื้นที่อนุรักษ์

คณะบุคคลที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบตามกฎหมายที่จะเข้ามาปกป้องคุ้มครองผืนป่า สัตว์ป่า ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ รวมถึงเขตห้ามล่าสัตว์ป่า และวนอุทยาน ซึ่งรวมเรียกว่า ‘ป่าอนุรักษ์’ ก็คือ เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ตามชื่อเรื่องข้างต้น

ความสำเร็จหรือล้มเหลวในการปกป้อง คุ้มครองระบบนิเวศดั้งเดิมของเทือกเขาลำเนาไพร แหล่งต้นน้ำลำธาร ชีวิตของสัตว์ป่า และความหลากหลายทางชีวภาพ จะบังเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าปราศจากการทำงานอย่างเข้มแข็ง เต็มที่ จากท่านเหล่านั้น 

ป่าอนุรักษ์เป็นที่เก็บน้ำให้กับทุกคน ทุกชีวิต ทั้งภายในและภายนอกผืนป่า ไม่มีป่า ไม่มีน้ำ ไม่มีชีวิต และยังให้ประโยชน์ทางอ้อมในการผลิตอากาศบริสุทธิ์ รองรับคาร์บอนฯ แก่เราทั้งหลายในทุกวันนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ผู้ที่ต้องการใช้ประโยชน์โดยตรงจากป่าก็มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นการลักลอบตัดไม้ ล่าสัตว์ เก็บหาของป่าจนเกินกำลังที่ธรรมชาติจะรับได้ การบุกรุกขยายที่ทำกิน การขยายอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หรือการจัดสร้างเขื่อน อ่างเก็บน้ำ การสร้างเส้นทางคมนาคมโดยใช้พื้นที่ป่าอนุรักษ์

ขอปักหมุดมาที่ “การรักษาผืนป่าตะวันตกเชิงระบบนิเวศ” การทำงานมาถึง พ.ศ. 2561 ร่วม 20 ปีเศษ มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ว่ายังรักษาสัตว์ป่าไว้ได้ และเพิ่มพูนขึ้น ประจักษ์พยานคือภาพถ่ายของคณะหม่อมเชน ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ ถ่ายไว้เมื่อหน้าร้อนของปี 2558 เป็นภาพทุ่งใหญ่นเรศวรด้าตะวันออก ในภาพมีกระทิง และช้าง ร่วม 100 ตัว กำลังกินหญ้าระบัดและเล่นทุ่งอย่างสนุกสนาน

ยังมีผลงานทางวิชาการ งานวิจัยเสือโคร่งของสถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ ยืนยันว่า เสือโคร่งของผืนป่าตะวันตกเพิ่มจำนวนขึ้น และขยายที่อยู่จากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งขึ้นไปอยู่พื้นที่ป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ ที่ถ่ายรูปได้ในปี 2558 มี 10 ตัว และขยายผ่านแม่วงก์ไปอยู่อุทยานแห่งชาติคลองลาน ทางตอนใต้ก็ขยายไปอยู่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ฯลฯ เหล่านี้ เป็นคำตอบว่า ระบบนิเวศของผืนป่าตะวันตกยังคงอยู่
.

งานวิจัยเสือโคร่ง สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ l Photo ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

.
งานลาดตระเวนเชิงคุณภาพ (Smart Patrol) นำเสนอโดย ดร.อนรรฆ พัฒนพิบูลย์ องค์กร WCS เป็นการลาดตระเวนที่พัฒนาขึ้นจากการลาดตระเวนปกติ และได้ดำเนินการอย่างเข้มแข็งในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งก่อน แล้วขยายออกไปยังป่าอนุรักษ์ข้างเคียง หลักสำคัญนอกจากการลาดตระเวนเพื่อคุ้มครองการลักลอบตัดไม้ล่าสัตว์แล้ว ยังมีการเก็บข้อมูล สัตว์ป่า ผืนป่า ภัยคุกคาม โดยใช้ทั้งจีพีเอสและรูปถ่ายประกอบ ทุกๆ เดือนจะมีการประชุมนำผลการลาดตระเวนมาวิเคราะห์วางแผนการลาดตระเวนของเดือนต่อไป จึงรู้สถานการณ์จริง แก้ปัญหาได้ทันท่วงที

ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานฯ ที่มีชุมชนตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ยิ่งต้องทำงานหนักยิ่งกว่า เพราะไม่เพียงแต่ต้องทำงานดูแลลาดตระเวนต่อสู้กับพรานรับจ้าง และพวกลักลอบตัดไม้แล้ว ยังต้องทำงานมวลชน เพื่อทำให้เกิดความร่วมมือจากชุมชนในการช่วยดูแลผืนป่าด้วย พวกเขาจะต้องทำความรู้จัก ทั้งผู้นำ วิถีวัฒนธรรม สังคม เศรษฐกิจของชุมชนนั้นๆ รวมถึงพื้นที่ดินที่ชุมชนใช้ประโยชน์ไปแล้ว เมื่อเข้าใจความประสงค์กันแล้ว ก็จะร่วมกันเดินแนวเขตที่ดิน นำมากำหนดลงในแผนที่ ปรึกษาหารือกันจนลงตัว ร่วมกันสร้างกติกา ซึ่งข้อหนึ่งของกติกาคือจะร่วมกันรักษาแนวเขตไม่ขยายที่ดินทำกินเข้าไปในผืนป่าอีก ในหลายชุมชน มีการเดินลาดตระเวนรักษาแนวเขต (เส้นขาว) ร่วมกัน ระหว่างคณะกรรมการชุมชนและเจ้าหน้าที่ ในบางพื้นที่ได้ตั้งเจ้าหน้าที่ประจำชุมชน เรียกว่าเจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชน

นอกจากชุมชนในป่าแล้ว ชุมชนประชิดและใกล้ขอบป่าอนุรักษ์ก็มีความสำคัญที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติต้องใส่ใจ “รู้จัก” เช่นกัน นโยบายที่สนับสนุนให้แต่ละชุมชนมีป่าชุมชน นอกป่าอนุรักษ์เป็นของชุมชนเอง เพื่อให้ชุมชนทั้งหลายช่วยกันดูแลรักษาป่าชุมชนและใช้ประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน หมายถึงคงความเป็นป่าธรรมชาติไว้เก็บเห็ดเก็บหน่อไม้อย่างพอเพียง สนับสนุนให้คณะกรรมการป่าชุมชนลาดตระเวนดูแลป่าชุมชนไม่ให้มีผู้หนึ่งผู้ใดบุกรุกที่ดิน เข้าไปตัดไม้ ฯลฯ เพื่อป่าชุมชนจะได้ยังประโยชน์ให้ชุมชนได้ยั่งยืน
.

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าลาดตระเวรร่วมกับชุมชน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก พ.ศ. 2553 l Photo มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

.
งานเผยแพร่ และสร้างแนวร่วม เป็นอีกงานหนึ่งที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติดำเนินการ มุ่งไปยังชุมชนภายในและที่อยู่ประชิดขอบป่าก่อน ผ่านกิจกรรมการจัดค่ายธรรมชาติศึกษา รวมถึงการส่งเจ้าหน้าที่ไปเป็นวิทยากรในโรงเรียนพื้นที่ใกล้เคียง งานให้การศึกษาแก่ผู้เข้ามาท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติด้วยการพาเดินศึกษาเรียนรู้ในพื้นที่จริงในเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ รวมถึงการพาสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อจะได้ช่วยเผยแพร่ ล้วนเป็นเรื่องจำเป็น

ข้อสังเกตบางประการ การท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และอุทยานฯ เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมขึ้นทุกที ซึ่งต้องการ “ความพอดี” จึงจะยั่งยืน เป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและอุทยานแห่งชาติจะต้องศึกษาและเตรียมคำตอบแก่ฝ่ายที่ควบคุมดูแลระดับนโยบายถึง “ศักยภาพของพื้นที่ที่จะรองรับนักท่องเที่ยวได้อย่างพอดี” ไว้แต่เนิ่นๆ เพราะถ้าธรรมชาติพังแล้วก็ยากที่จะฟื้นได้

และสุดท้ายของเรื่องนี้ ในการทำงานร่วมรักษาป่าใหญ่ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียรตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ก็ได้รับความร่วมมือ ช่วยเหลือ อำนวยความสะดวก ประสานงาน ตลอดจนเป็นเพื่อนคู่คิด ร่วมกันทำงาน จากทั้งหัวหน้าพื้นที่ไปจนถึงพนักงานพิทักษ์ป่าและลูกจ้าง ร่วมมือร่วมใจทำงานเสมอมา

คนเหล่านี้ คือ ผู้รักษาป่าตัวจริง ที่เราทุกคนพึงควรระลึกถึง 

 


เผยแพร่ครั้งแรก หนังสือ บนถนนงานอนุรักษ์ รตยา จันทiเทียร จัดพิมพ์ครั้งแรก กันยายน 2561

หนังสือ”บนถนนงานอนุรักษ์”

ผู้เขียน

+ posts

พร้อมที่จะทำงานในมูลนิธิสืบนาคะเสถียรโดยเต็มกำลังความสามารถ เพื่อสืบสานเจตนาของคุณสืบ ผู้เสียสละได้แม้ชีวิตของตน เพื่อชีวิตของสัตว์ป่าและป่า และเพื่อสนองคุณแด่ทุกพระองค์และทุกท่านที่มีศรัทธาต่อคุณสืบ ได้ให้ความช่วยเหลือแนะนำ ร่วมทำงาน รวมถึงบริจาคทรัพย์สิ่งของเพื่อให้ได้ทำหน้าที่เป็นแกนกลาง ในการสืบสานเจตนาของคุณสืบ นาคะเสถียร ไปนานเท่านาน