เปิดฉากปีเสือเศร้า เสือโคร่งถูกล่า งบดูแลป่าหดหาย คุณภาพชีวิตพิทักษ์ป่า 10 ปี ยังเหมือนเดิม

เปิดฉากปีเสือเศร้า เสือโคร่งถูกล่า งบดูแลป่าหดหาย คุณภาพชีวิตพิทักษ์ป่า 10 ปี ยังเหมือนเดิม

เปิดฉากปีเสือเศร้า เสือโคร่งถูกล่า งบดูแลป่าหดหาย คุณภาพชีวิตพิทักษ์ป่า 10 ปี ยังเหมือนเดิม

.
เริ่มต้นปีขาลเพียง 2 สัปดาห์ ก็ต้องเจอกับข่าวน่าเศร้า เมื่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าเข้าตรวจยึดซากเสือโคร่งตาย 2 ตัว ในอุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ สันนิษฐานว่าเป็นเสือโคร่ง ที่ออกหากินระหว่างชายแดนไทย-พม่า ในที่เกิดเหตุพบแคร่ร้านย่างเนื้อสัตว์-ซากสัตว์ไม่ระบุชนิด พร้อมพบอาวุธปืน จำนวน 4 กระบอก และอุปกรณ์การกระทำผิดอื่น ๆ รวม 29 รายการ

ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีข่าวเสือโคร่ง เพศผู้ อายุประมาณ 10 ปี ออกนอกพื้นที่ป่าห้วยขาแข้ง ซึ่งเจ้าหน้าที่พบร่องรอยล่าสุนัข บริเวณสวนมะม่วงห่างจากสถานีควบคุมไฟป่าห้วยขาแข้งประมาณ 200 เมตร ซึ่งวานนี้ (12 ม.ค.2565) เจ้าหน้าที่สามารถจับตัวได้แล้วจึงนำไปปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ หลังแพทย์ประเมินอาการและติดปลอกคอติดตาม

เบื้องหลังเหตุการณ์สำคัญทั้งสองเหตุการณ์นี้ มีบุคคลสำคัญอยู่กลุ่มหนึ่งที่ไม่ค่อยถูกกล่าวชื่อ แต่หลายคนรู้จักพวกเขาในนามว่าเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า สัตว์ป่าและผืนป่าร้อยกว่าล้านไร่ทั่วประเทศไทย มีพวกเขาเหล่านี้คอยดูแลอยู่

แต่คุณภาพชีวิตและสวัสดิการของพวกเขากลับไม่ดีขึ้นเลย..

ค่าแรงขั้นต่ำถูกกำหนดไว้ที่ 320 บาทต่อวัน แต่เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่ากลับได้รับค่าตอบแทนเพียงเดือนละ 6-7 พันบาทเท่านั้น และไม่มีสวัสดิการต่าง ๆ หากนำมาหาร 25 วันทำงาน (ตัดวันหยุดเสาร์อาทิตย์ออกไป) จะตกวันละ 240-280 บาทเท่านั้น ขนาดพนักงานประจำยังต้องมีโบนัสเพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำงาน แต่สำหรับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า เงินเดือนเท่านี้ จะเอากำลังใจที่ไหนมาปกป้องป่าให้กับพวกคุณ
.

ปี 64 พิทักษ์ป่าเสียชีวิต 26 ราย

รายงานการช่วยเหลือผู้พิทักษ์ป่า “กองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่า” มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ปี 2564 พบว่าในปีที่ผ่านมามีเจ้าหน้าที่ที่เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติหน้าที่ รวม 26 คน บางรายเสียชีวิตจากการปะทะกับพรานล่าสัตว์ป่า บางรายเสียชีวิตจากอุบัติเหตุสัตว์ป่าทำร้าย บางรายเสียชีวิตด้วยโรคภัยระหว่างเดินลาดตระเวน แต่ทุกชีวิตที่เสียไปไม่อาจนับความสูญเป็นมูลค่าเงินได้ เพราะพวกเขาอาจเป็นพ่อ พี่ชาย ลูกชาย ญาติ เพื่อน หรือคนรักของใครสักคน

เจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ส่วนใหญ่เป็นพนักงานจ้างเหมาของอุทยานแห่งชาติ หรือ TOR งบประมาณสำหรับจ่ายค่าตอบแทนส่วนใหญ่มาจากรายได้หลักจากการเก็บค่าธรรมเนียมเข้าอุทยานฯ แต่ในปี 2564 นั้นรายได้ลดลงกว่า 975 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์โควิด ทำให้ส่งผลกระทบต่อการจัดจ้างพนักงานพิทักษ์ป่า (พนักงานจ้างเหมา) ในการดูแลและคุ้มครองผืนป่าและสัตว์ป่า ในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งอาจถูกเลิกจ้างถึง 50 เปอร์เซ็นต์

ทั้งยังพบว่ามีการปรับลดงบประมาณของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 เหลือเพียง 8,534 ล้านบาท จากเดิมในปี 2564 ได้งบประมาณ 16,143 ล้านบาท หรือลดลงกว่า 47 เปอร์เซ็นต์

ประเทศไทยมีเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าประมาณ 14,700 คน ดูแลพื้นที่ป่ากว่า 102,484,072.71 ไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.68 ของประเทศ แต่ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา เงินเดือนและสวัสดิการต่าง ๆ ไม่ได้ต่างจากเดิมเลย แม้รัฐบาลจะมีวาระอื่นที่เร่งด่วนกว่า แต่เรื่องของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าไม่ได้สำคัญน้อยไปกว่าวาระอื่นเลย หากครม. สามารถอนุมัติงบ 13,800 ล้าน จัดซื้อเครื่องบินขับไล่ได้ ก็คงไม่ยากอะไรที่จะเจียดเงินสักครึ่งหนึ่งเพื่อเอามาดูแลทรัพยากรของประเทศนี้
.

นักวิชาการ ชี้ อุทยานฯ พึ่งเงินท่องเที่ยวจ้างพิทักษ์ป่า ถือเป็นเรื่องเสี่ยง

หลังจากมีข่าวการยื่นหนังสือของมูลนิธิสืบถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้พิจารณาการจัดสรรงบประมาณจ้างงานของเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้ออกมานั้น

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการและนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ได้ออกมาให้ความเห็นเรื่องงบประมาณของหน่วยงานอนุรักษ์ การณีการจัดจ้างเจ้าหน้าที่อุทยานฯ และการลดงบประมาณของกระทรวงทรัพย์ฯ เนื้อหาระบุว่า

“กรมอุทยานมีงบประมาณ 2 ส่วนหลัก เงินงบประมาณและเงินรายได้ สมัยก่อนพึ่งเงินงบเป็นหลัก เพราะยังอยู่ในยุคสีเทา เงินรายได้มีน้อย หลังจากเกิดกรณีทวงคืนเงินอุทยาน รายได้พุ่งพรวด บางปีเกือบ 3 พันล้าน เมื่อมีรายได้เพิ่ม สำนักงบฯ จึงตัดเงินงบประมาณลง เพื่อให้อุทยานฯ ไปใช้เงินรายได้ในการจ้างบุคลากร ฯลฯ ช่วงนั้นยังไม่มีปัญหา เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเยอะ (ค่าเข้าอุทยานคนต่างชาติสูงกว่าคนไทยหลายเท่า)

ผมเคยเตือนว่ามีความเสี่ยง เพราะระบบไปพึ่งกับเงินรายได้มากไป แต่ก็ไม่รู้จะทำไง เพราะเรื่องงบประมาณไม่ได้ขึ้นกับกรมอุทยานฯ เพียงอย่างเดียว เมื่อเกิดโควิด ทุกอย่างเปลี่ยนไปฉับพลัน”

ดร.ธรณ์ ได้มีการเสนอทางออกให้กับเรื่องนี้คร่าว ๆ คือ

การเคลื่อนไหวจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง เพื่อกระตุ้นความสนใจของสังคม ในการการจัดสรรงบประมาณเป็นพิเศษ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ซับซ้อน เนื่องจากการจัดสรรงบพิเศษยังมีกฎหมายมากมายแม้แต่ปีต่อ ๆ ไปก็ยังน่าเป็นห่วง เพราะอยู่นอกเหนืออำนาจของกระทรวงทรัพยากรฯ ซึ่งต้องผ่านสำนักงบประมาณ และกรรมาธิการในสภา

การบริจาคเงินจากรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้ อาจช่วยได้เร็วกว่า แต่อย่าคิดว่าง่าย เพราะต้องขึ้นกับกฎกติกา ทำสุ่มสี่สุ่มห้าอาจโดนฟ้องกันทั้งบอร์ดทั้ง CEO รวมถึงผู้ถือหุ้นที่อาจร้องถามในที่ประชุมประจำปี

เราอาจช่วยกันแชร์ข่าวประเด็นนี้ให้เป็นกระแส ช่วยสนับสนุนร้านสวัสดิการ เข้าใจเจ้าหน้าที่ว่าช่วงนี้ลำบากมาก อะไรที่ทำได้ก็ช่วยกันไป

สำหรับทางออกในระยะยาว คงต้องพึ่งเทคโนโลยีให้มากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพโดยลดค่าใช้จ่าย เวลา และบุคลากร ผมพยายามดันงานเรื่องโดรนมากขึ้น รวมถึง Marine SMART patrol เพราะเห็นว่านี่คือหนึ่งในทางออก

ในการแสดงความคิดเห็นครั้งนี้ ดร.ธรณ์ได้ทิ้งท้ายประเด็นดังกล่าวว่า “ทั้งหมดที่เล่ามา ยากทั้งนั้น เพราะนี่คือการเปลี่ยนระบบเดิมของราชการ ซึ่งมีกติกามากมายและไม่ค่อยมีใครอยากเข้าไปแตะ หากอยากให้ระบบอนุรักษ์ธรรมชาติของเราอยู่คงทนและยืดหยุ่นในยุคโลกที่สับสน เราก็ต้องเริ่มหาเงื่อนปมต่าง ๆ ในกองเชือกที่ยุ่งเหยิง เพื่อหาทางปลดออก โดยส่วนตัว ผมคงยังเน้นการทำงานด้วยเทคโนโลยี ปีนี้น่าจะมีหลายงานที่ทำกับกรมทะเล จะพยายามช่วยกันเดินหน้าต่อไป เป็นกำลังใจให้ผู้ดูแลป่าพิทักษ์ทะเลทุกท่าน ส่งกำลังใจให้มูลนิธิสืบฯ ด้วยหวังว่าจะมีผลบ้างครับ”
.

วราวุธ แจง เห็นใจนายก ต้องใช้งบแก้ปัญหาโควิดก่อน

จากการรายงานของสำนักข่าวมติชน ออนไลน์ ระบุว่า ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เห็นใจนายกรัฐมนตรี และสำนักงบประมาณ ในการตัดลดงบประมาณแต่ละกระทรวงที่มี 20 กระทรวง ซึ่งแต่ละกระทรวงมีมิติความสำคัญแตกต่างกันไป ในส่วนของกระทรวงทรัพยากรฯ ที่ดูแลด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืน และงบประมาณที่ได้มาแต่ละปีก็น้อยกว่าเนื้องานที่เราได้ทำลงไป ซึ่งการตัดลดงบประมาณของรัฐบาลสืบเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 ที่จำเป็นต้องจัดสรรไปแก้ปัญหาโควิด

นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ทุกบาททุกสตางค์ที่กระทรวงทรัพยากรฯ ได้รับมาจะนำไปใช้อย่างเป็นประโยชน์สูงสุด แต่หากขาดเหลืออะไรก็สามารถไปของบกลางเพิ่มเติมได้ ซึ่งตนเข้าใจในความห่วงใยของมูลนิธิสืบฯ แต่อยากให้เข้าใจว่ารัฐบาลต้องแก้ปัญหาโควิด-19 ทั้งนี้งบประมาณที่ได้มา กระทรวงทรัพยากรฯ จะจัดสรรให้งานด้านการดูแล อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code

 


บทความ นูรซาลบียะห์ เซ็ง เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อสารองค์กร มูลนิธิสืบนาคะเสถียร
ภาพประกอบ เกศรินทร์ เจริญรักษ์
อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

นัก (อยาก) เขียน ผู้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านภาษาและเหตุการณ์ทางเมือง