‘โลมาอิรวดี’ สถานะและอนาคตของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

‘โลมาอิรวดี’ สถานะและอนาคตของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์

‘โลมาอิรวดี’ ในแหล่งน้ำจืดของไทยตอนนี้เหลืออยู่เพียง 14 ตัว อาศัยอยู่ในทะเลสาบสงขลา ถือว่ามีสถานะที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

โลมาอิรวดี เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด ใช้ชีวิตอยู่ทั่วไปตามแนวชายฝั่งทะเล จากเอเชียใต้จรดตะวันออกเฉียงใต้ ประชากรในประเทศไทยกระจายตัวอยู่ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน นับจำนวนได้ร่วมๆ ร้อยตัว

แต่กลุ่มประชากรที่น่าหวั่นวิตกที่สุดคือโลมาอิรวดีในแหล่งน้ำจืด ปัจจุบันเหลือเพียง 14 ตัว อาศัยอยู่แถบทะเลสาบสงขลา

ตามข้อมูลของศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รายงานว่า 16 ปีที่ผ่านมา เราสูญเสียโลมาอิรวดีไปทั้งสิ้น 94 ตัว โดยเฉพาะในช่วงปี 2550-2555 อัตราการตายของโลมาอยู่ที่ 10 ตัวต่อปี

สาเหตุที่ทำให้โลมาอิรวดีตายเป็นจำนวนมาก มาจากการทำประมงที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วหลังปี พ.ศ. 2545 ซึ่งนำไปสู่การเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดฝันขึ้นกับสัตว์น้ำ โดยมีโลมาติดเครื่องมือประมงมากถึงร้อยละ 60 กอปรกับการทำประมงที่เติบโตขึ้นทำให้สัตว์น้ำแหล่งอาหารของโลมาถูกแย่งชิงไปในคราวเดียวกัน

นอกจากนี้ สาเหตุที่ทำให้โลมาลดลงยังเกิดขึ้นจากอุบัติเหตุ ชนใบพัดเรือ และการเพิ่มขึ้นของตะกอนที่ถูกชะล้างมาจากบกจนเกินพอดี ทำให้ที่อยู่อาศัยเปลี่ยนแปลง ตลอดจนภาวะเลือดชิดจากจำนวนที่เหลือน้อยจนต้องผสมพันธุ์กันในวงจำกัด จนทำให้โลมามีสภาวะร่างกายที่อ่อนแอ

ต่อสถานะที่เหลืออยู่ของโลมาอิรวดี ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล คาดการณ์ว่าหากอัตราการตายต่อปียังเฉลี่ยเท่าเดิม อนาคตของสายพันธุ์นี้คงไม่พ้นจุดจบที่คำว่า ‘สูญพันธุ์’

ความหวังการอนุรักษ์

แม้ด้วยสถานะที่เหลืออยู่เพียงน้อยนิด สวนทางกับภัยคุกคามที่มีมากมาย แต่ในทรรศนะของผู้เชี่ยวชาญและนักอนุรักษ์ ดร.ธรณ์ เชื่อว่ายังพอมีหนทางอนุรักษ์จำนวนที่เหลืออยู่และค่อยๆ ฟื้นฟูจำนวนเพิ่มขึ้นในอนาคตได้

จากภัยคุกคามที่โลมาอิรวดีเผชิญ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเลแจกแจงวิธีแก้ปัญหาและข้อควรวิตกว่า เรื่องเครื่องมือประมง คงไม่มีอะไรดีไปกว่าพูดคุยกับพี่น้อง ขอร้องให้ลดการจับในพื้นที่ทับซ้อนกับโลมา หาทางช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์เพื่อทดแทน

ประเด็นเรื่องเลือดชิด – เชื่อว่าอาจมีความเป็นไปได้ในการอยู่รอด ขอเพียงยืดเวลาให้พวกเธอไม่ตายหมดในวันนี้ ประเด็นเรื่องทะเลสาบตื้น – ด้วยอัตรานี้ เรายังพูดถึงหลายสิบปี ก่อนที่โลมาจะอยู่ไม่ได้จริงๆ เมื่อถึงวันนั้น อาจมีหนทางแก้ไข

อาหารน้อยลง – กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งร่วมกับหลายหน่วยงาน เริ่มทำซั้ง (ปะการังเทียมพื้นบ้าน เป็นเครื่องมือดึงดูดสัตว์น้ำให้มาอาศัยอยู่รวมกัน จำนวนมาก) เพื่อเพิ่มปลาให้โลมา ขอเพียงแค่พี่น้องเข้าใจ ไม่เข้าไปรบกวนมากเกินไป

และที่สำคัญคือการยกสถานะโลมาอิรวดีเป็นสัตว์สงวน

เสนอโลมาอิรวดี เป็นสัตว์สงวน

จากกระแสข่าวที่มีการพูดถึงโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายกันมากมายทำให้เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการทะเลชาติ มีมติเห็นชอบยกสถานะโลมาอิรวดีให้เป็นสัตว์สงวนของไทย

โดยความสำคัญของการเป็นสัตว์สงวนนั้น หมายถึงการกฎหมายชัดเจน มีแผนแม่บทการอนุรักษ์ที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนเรื่องงบประมาณในการดูแลที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงยังมีผลถึงโลมาอิรวดีในทะเลและที่อื่นๆ เช่น ดอนสัก อ่าวขนอม อ่าวไทยตอนใน ตรัง กระบี่ – ดร.ธรณ์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม การบรรจุชนิดพันธุ์ไว้ในกลุ่มสัตว์สงวนนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาทั้งการจัดทำข้อมูลและศึกษาบริบทแวดล้อมให้รอบคอบเสียก่อน และยังมีขั้นตอนที่ต้องเสนอถึงคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกหลายขั้น เงื่อนไขนี้จึงอาจไม่สำเร็จในเร็ววัน

แผนเพิ่มจำนวนโลมาอิรวดี เป็น 30 ตัว

สำหรับแผนการอนุรักษ์โลมาอิรวดี ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรแห่งชาติ นายวราวุธ ศิลปอาชา ได้สั่งการเร่งรัดไปยังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ให้ศึกษาแนวทางการผสมเทียมกับโลมาอิรวดีจากแหล่งอื่น เพื่อรักษาสายพันธุ์โลมาอิรวดีฝูงนี้ไว้ ควบคู่กับแผนระยะสั้น คือการเข้มงวดกวดขันพื้นที่ ดูแลความปลอดภัยของโลมาอิรวดี 14 ตัว ที่เหลืออยู่ตอนนี้ รวมไปถึงการออกทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชน และชาวประมงในพื้นที่ ถึงความสำคัญของ 14 ชีวิต ที่เหลืออยู่

นอกจากนี้ ยังสั่งให้เน้นเรื่องระบบการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ ของเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ให้มีความถี่ถ้วนมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

ด้าน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเผยถึงผลการหารือแก้ไขปัญหาวิกฤติโลมาอิรวดี 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา ร่วมกับนักวิชาการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่างแผนการดำเนินงานอนุรักษ์โลมาอิรวดี ซึ่งจะแบ่งเป็นแผนระยะสั้นและระยะยาว

โดยแผนระยะสั้น พ.ศ. 2565-2566 มี 5 แผนงาน ประกอบด้วย การลดภัยคุกคามโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย การเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำซึ่งเป็นอาหารของโลมาอิรวดี และจัดทำพื้นที่หวงห้าม การพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อการสร้างจูงใจในการอนุรักษ์โลมาอิรวดี การศึกษาวิจัยโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย และการช่วยชีวิตและดูแลรักษาโลมาอิรวดีเกยตื้น

ส่วนแผนงานระยะยาว พ.ศ. 2566 -2570 ประกอบด้วย การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประชากรโลมาอิรวดี โครงการฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา การพัฒนากลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา และการพัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครือข่าย

โดยเป้าหมายของแผนทั้งสองช่วงเวลานี้ ตั้งเป้าเพื่อเพิ่มประชากรโลมาอิรวดีให้เป็น 30 ตัวภายใน 10 ปี


อ้างอิง
รักษา 14 ชีวิต โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา ก่อนตายเหี้ยน
บอร์ด กทช.ให้ศึกษา “โลมาอิรวดี” ขึ้นเป็นสัตว์สงวน
กางแผนทส.อนุรักษ์ “โลมาอิรวดี” 14 ตัวสุดท้ายในทะเลสาบสงขลา
ทช.งัดแผน 10 ปีเพิ่ม “โลมาอิรวดี” ทะเลสาบสงขลาเป็น 30 ตัว

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม