พบวาฬบรูด้าและโลมาอิรวดีที่อ่าวไทยตอนบน สัตว์สองชนิดสำคัญแห่งท้องทะเลไทย 

พบวาฬบรูด้าและโลมาอิรวดีที่อ่าวไทยตอนบน สัตว์สองชนิดสำคัญแห่งท้องทะเลไทย 

ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน (ศวทบ.) แจ้งว่าพบวาฬบรูด้าและโลมาอิรวดี จากภารกิจสำรวจสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์บริเวณ จ.สมุทรสาคร และ จ.เพชรบุรี เมื่อวันที่ 8-10 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา 

สัตว์ทั้งสองชนิดล้วนเป็นสัตว์หายากของทะเลไทย โดยวาฬบรูด้าพบทั้งหมด 10 ตัว ทราบชื่อจำนวน 5 ตัว ได้แก่ แม่ข้าวเหนียว เจ้าข้าวสวย แม่กันยา เจ้ามะลิ เจ้าสายฝน และวาฬไม่ทราบชื่ออีกจำนวน 5 ตัว บริเวณชายฝั่งทะล จ.สมุทรสาคร และจ.เพชรบุรี ห่างจากฝั่งประมาณ 24-33 กม. 

ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายนถือเป็นช่วงเวลาดี ในการจะพบเจอเหล่าวาฬบรูด้า เนื่องจากเป็นช่วงฤดูฝนที่มีการไหลของน้ำจืดลงสู่ทะเลเยอะ ทำให้แหล่งอาหารของพวกมัน อย่าง ปลากะตัก ปลาอกกะแล้ ปลาทูขนาดเล็ก ต่างเติบโตได้ดีมากยิ่งขึ้น 

ถัดมาโลมาอิรวดี สัตว์อีกหนึ่งชนิดที่ศวทบ.แจ้งว่าพบบริเวณอ่าวไทยตอนบนเช่นเดียวกัน โดยพวกมันถูกพบเจอทั้งสิ้น 4 ตัว ห่างจากชายฝั่งจ.สมุทรสาครประมาณ 5.02 กม. 

ความสำคัญและภัยคุกคามทางทะเลของวาฬและโลมา 

สัตว์ทุกชนิดล้วนมีบทบาทและหน้าที่สำคัญต่อระบบนิเวศ การมีอยู่ของสัตว์ชนิดต่าง ๆ ล้วนเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่นั้น หากพื้นที่ใดขาดสัตว์เฉพาะถิ่นของพื้นที่นั้นไป ก็อาจส่งผลต่อความสมดุลของสัตว์ในพื้นที่ดังกล่าวได้ 

วาฬบรูด้า (ชื่อวิทยาศาสตร์: Balaenoptera. Edeni) เป็นสัตว์สงวนลำดับที่ 16 ของประเทศไทย ถิ่นที่อยู่อาศัยของมันจะอาศัยอยู่บริเวณทะเลอ่าวไทย และเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชีย ถึงแม้ว่าวาฬบรูด้าถือเป็นสัตว์ประจำถิ่น แต่ก็มีสถานะเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ 

สัตว์ตระกูลวาฬนั้นมีประโยชน์ต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก อันดับแรก มูลของพวกมันมีธาตุเหล็ก นับเป็นปุ๋ยชั้นดีให้แก่พืชในทะเล และเป็นอาหารใกไฟโทแพลงก์ตอน (Phytoplankton) หรือแพลงก์ตอนพืช ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศ เนื่องจากพวกมันเป็นผู้ผลิตของห่วงโซ่อาหาร อีกทั้งยังสามารถผลิตออกซิเจนออกสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้มากถึงร้อยละ 50-80 เลยทีเดียว

แพลงก์ตอนเหล่านี้ยังช่วยดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นหนึ่งในก๊าซเรือนกระจกที่สร้างปัญหาต่อชั้นบรรยากาศโลกมากที่สุดชนิดหนึ่งด้วย 

วาฬจึงถือเป็นนักอนุรักษ์ตัวยงแห่งท้องทะเลเลยก็ว่าได้ เพราะการที่วาฬนั้นช่วยเพิ่มปริมาณแพลงก์ตอนสามารถช่วยโลกเราได้มากกว่าที่คิด เพราะแพลงก์ตอนในมหาสมุทรสามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างน้อย 37,000 ล้านต่อปี หรืออาจจะมากกว่าป่าอเมซอนถึง 4 เท่าเลยด้วยซ้ำ 

ส่วนโลมาอิรวดี (ชื่อวิทยาศาสตร์: Orcaella brevirostris) เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่อาศัยอยู่ได้ทั้งในน้ำเค็มและน้ำจืด และยังเป็นสัตว์คุ้มครองตาม พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. ๒๕๓๕ ถูกจัดให้อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง พวกมันถูกพบได้บริเวณชายฝั่งทะเลจากเอเชียใต้จรดตะวันออกเฉียงใต้ ในประเทศไทยกระจายตัวอยู่ทั้งอ่าวไทยและอันดามัน มีประชากรร่วมร้อยตัว 

โลมาคือตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์และผู้ควบคุมสมดุลของระบบนิเวศ เนื่องจากพวกมันจะกินปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร และเป็นอาหารของสัตว์นักล่าที่มีขนาดใหญ่กว่าเช่น วาฬและฉลาม ดังนั้นหากไม่มีพวกมัน เหยื่อของพวกมันก็จะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น และผู้ล่าของพวกมันก็จะไม่มีอาหารเพียงพอ  

ทั้งนี้สถานการณ์ของโลมาอิราวดีนั้นค่อนข้างน่าเป็นห่วงพอสมควร หากย้อนไปดูตัวเลขในช่วงปี 2550-2555 โลมาอิรวดีมีอัตราการตายอยู่ที่ 10 ตัวต่อปี 

โดยสาเหตุหลักที่ทำให้จำนวนประชากรของพวกมันลดลงนั้น ล้วนมีต้นตอมาจากมนุษย์ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางทะเล ความเสื่อมโทรมของแหล่งที่อยู่อาศัย การประมง ฯลฯ ถือเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อโลมาอิรวดี 

ด้วยความสำคัญของโลมาอิรวดีต่อทะเลไทย ทำให้เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2565 ที่ประชุมคณะกรรมการทะเลชาติ มีมติเห็นชอบยกสถานะโลมาอิรวดีให้เป็นสัตว์สงวนของไทย 

สัตว์สงวนของไทยนั้น หมายถึง การมีกฎหมายและแผนแม่บทการอนุรักษ์ที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนจะมีงบในการสนับสนุนการอนุรักษ์โลมาอิรวดีเพิ่มมากขึ้น 

แต่ถึงกระนั้น ขั้นตอนการบรรจุชนิดพันธุ์ไว้ในกลุ่มสัตว์ป่าสงวน จำเป็นต้องใช้เวลาและขั้นตอนที่ค่อนข้างมาก อีกทั้งยังต้องเสนอถึงคณะรัฐมนตรีและคณะกรรมการกฤษฎีกาอีกหลายขั้น ดังนั้นการที่เราจะเห็นโลมาอิรวดีอยู่ในรายชื่อสัตว์สงวนได้นั้นจึงอาจไม่ใช่วันสองวันนี้ 

การพบเจอสัตว์ทั้งสองชนิดในน่านน้ำประเทศไทยคือเครื่องย้ำเตือนว่าทะเลของเรายังมีความอุดมสมบูรณ์อยู่ไม่น้อย เพราะฉะนั้นแล้ว การร่วมกันอนุรักษ์สัตว์ทะเลทั้งสองชนิดนี้จึงเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการทำให้พวกมันจะอยู่ในทะเลไทยต่อไป 

อ้างอิง

ภาพประกอบ 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ