ดีหรือไม่ดี? พบแร่ลิเทียมในประเทศไทย ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ที่พ่วงด้วยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ดีหรือไม่ดี? พบแร่ลิเทียมในประเทศไทย ความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ที่พ่วงด้วยปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

ทำเอาประชาชนและนักลงทุนตื่นเต้นไม่น้อย จากกระแสพบเหมืองแร่ลิเทียมใน จ.พังงา เพราะประเทศไทยอาจเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ใหม่ของโลก ถือเป็นข่าวดีในมิติเศรษฐกิจของประเทศไทย แต่ก็มีคำถามตามมาว่า จะดีต่อมิติสิ่งแวดล้อมด้วยหรือไม่ ? 

เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา รัฐบาลประกาศพบแหล่งแร่ริเทียมในแหล่งเรืองเกียรติและแหล่งบางอีตุ้ม จ.พังงา ซึ่งเป็นแร่สำคัญในการผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า และนี่อาจจะเป็นการพลิกโฉมประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตแบตเตอรี่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนดึงดูดนักลงทุนไทยและต่างชาติ ที่มีศักยภาพเข้ามาตั้งโรงงานและอุตสาหกรรม จนเกิดการแข่งขันกันอย่างแน่นอน 

กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ระบุว่า ไทยสำรวจพบแหล่งแร่ลิเทียมมากกว่า 14.8 ล้านตัน ด้านรัฐบาลจึงได้ประกาศว่าเราพบแร่ลิเทียม ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากโบลิเวีย และอาร์เจนตินา และด้วยกระแสรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ที่กำลังมาแรงอย่างมากทั่วโลก จึงได้คาดการณ์ว่าความต้องการลิเทียมจะเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า ภายในปี 2568 และมากกว่า 2 ล้านตัน ภายในปี 2573 

อย่างไรก็ดีวันที่ 19 มกราคม 2567 ทาง กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ได้ออกเอกสารเผยแพร่ข้อเท็จจริงทั้งหมดว่า แหล่งแร่ริเทียมเรืองเกียรติ ที่อยู่ระหว่างการสำรวจนั้นมีปริมาณทางธรณีของทรัพยากรแร่ ประมาณ 14.8 ล้านตัน ที่เกรดลิเทียมออกไซด์เฉลี่ย 0.45 เปอร์เซ็นต์ หรือมีปริมาณลิเทียมคาร์บอเนตเทียบเท่า (LCE) ประมาณ 164,500 ตัน 

หากออกแบบผังการทำเหมืองอย่างเหมาะสม จนสามารถนำแร่ขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้ 25 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าจะสามารถนำลิเทียมมาเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าขนาด 50 kWh ได้ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคัน 

หรืออธิบายอย่างเข้าใจง่าย การค้นพบปริมาณทางธรณีวิทยาของทรัพยากรแร่ประมาณ 14.8 ล้านตัน นั้น ยังไม่ใช่แร่ลิเทียมที่นำไปใช้งานได้เลย ดังนั้น การนำข้อมูลปริมาณทางธรณีวิทยาของทรัพยากรแร่ (แร่ดิบ) ไปเปรียบเทียบกับปริมาณทรัพยากรโลหะลิเทียม (แร่ลิเทียม) ของต่างประเทศ จึงทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนว่าประเทศไทยมีปริมาณลิเทียมมากเป็นอันดับตั้น ๆ ของโลก 

ถัดมารองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมายอมรับว่าข้อมูลที่ชี้แจ้งไปก่อนหน้ามีความคลาดเคลื่อน และได้ขยายความรายละเอียดที่คาดเคลื่อนในบางประการ โดยสรุปแล้วข้อมูลที่เผยแพร่ไปตั้งแต่ต้นนั้นทั้งหมดคือเรื่องจริง แต่ที่ไม่จริงคือ “ไทยไม่ได้มีแร่ลิเทียมมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก” 

ทำให้หลังจากนี้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ เตรียมพิจารณาคำขออาชญาบัตร เพื่อสำรวจแหล่งแร่เพิ่มเติมในพื้นที่ จ.ราชบุรี และ จ.ยะลา ซึ่งในอนาคต หากประเทศไทยสามารถสกัดแร่ลิเทียมออกมาได้ อาจจะทำให้ไทยดันตัวเองเข้าสู่สมรภูมิเศรษฐกิจโลก ด้วยการสร้างตัวเองเป็นอุตสาหกรรมแบตเตอรี่แห่งใหม่ของโลกก็ได้ 

แล้วการทำเหมืองแร่ลิเทียมสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร

แม้ว่าสถานการณ์แร่ลิเทียมจะยังไม่ถือเป็นการพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยเสียทีเดียว แต่นั่นก็แสดงให้เห็นถึงโอกาสและช่องทางใหม่ ๆ ของการลงทุนในไทย ทว่าการที่เราพบแหล่งแร่ลิเทียมในประเทศอาจจะไม่ได้ดีต่อทุกมิติเสมอไป โดยเฉพาะเมื่อมองถึงประเด็นทางสิ่งแวดล้อมแล้ว การมีเหมืองแร่ลิเทียมอาจเป็นฝันร้ายของประชาชนในพื้นที่บริเวณโดยรอบได้เลย

มีตัวอย่างกรณีตัวอย่างจากชิลี ประเทศในแทบอเมริกาใต้ที่มีการทำเหมืองแร่ลิเทียมอย่างกว้างขวาง ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ มีการทดสอบและพบกรดซัลฟิวริกและโซเดียมไฮดรอกไซด์ที่ใช้ในการสกัดลิเทียมแทรกซึมเข้าไปในดินและน้ำบริเวณพื้นที่โดยรอบเหมือง ซึ่งมันเป็นพิษต่อระบบนิเวศและอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต มีงานวิจัยเผยให้เห็นว่า นกฟลามิงโกสัตว์ท้องถิ่นชิลีถูกคุกคามอย่างรุนแรงจากการทำเหมืองแร่ลิเทียม

งานวิจัยพบว่าประชากรนกฟลามิงโกใน Salar de Atacama ลดลง 10-12 เปอร์เซ็นต์ ระหว่างปี 2545 ถึง 2556 และจากการเชื่อมโยงการลดลงกับการเพิ่มขึ้นของการขุดลิเธียมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยพบว่าผิวน้ำของทะเลสาบลดลง 11 เแอร์เซ็นต์ ในช่วงฤดูหนาว

ปัญหาลำดับถัดมาคือการตัดไม้ทำลายป่า แน่นอนว่าการทำเหมืองนั้นจำเป็นต้องใช้พื้นที่ค่อนข้างเยอะ ทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมเหมืองลิเทียม ซึ่งนำไปสู่ปัญหาการเสียสมดุลทางธรรมชาติ เนื่องจากเมื่อป่าถูกทำลาย สัตว์และมนุษย์ก็จะสูญเสียที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหาร ตลอดจนนำไปสู่ผลกระทบระยะยาวอย่างผลกระทบด้านสภาพอากาศ ฝุ่นควัน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก 

ทั้งนี้การทำเหมืองยังสร้างความขัดแย้งต่อชุมชนโดยรอบพื้นที่ด้วย อย่างในประเทศชิลี ชนพื้นเมืองจำนวนมากสูญเสียที่อยู่อาศัยไปเพราะการทำเหมืองแร่ และในท้ายที่สุดจะนำไปสู่ความขัดแย้งในระดับที่ใหญ่ขึ้น อย่างความขัดแย้งระหว่างนายทุนและชุมชน หรือภาครัฐกับชุมชน ซึ่งชุมชนพื้นเมืองในชิลีเองก็กำลังเผชิญกับความขัดแย้งนี้อยู่ และแน่นอนว่ากฎหมายไม่ได้มีพลังมากพอที่จะสนับสนุนพวกเขาได้ 

ท้ายที่สุดแล้วในมิติทางเศรษฐกิจการเจอแหล่งแร่ลิเทียมอาจเป็นข้อดีต่อการยกระดับประเทศให้ก้าวหน้ามากขึ้น ทว่ามันกลับพ่วงมาด้วยปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่ยากจะจัดการ ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอาจต้องคำนึงถึงผลกระทบต่าง ๆ อย่างถี่ถ้วน 

มิฉะนั้นแล้ว ต่อให้เราผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเพื่อรักษ์โลกมากเท่าไหร่ มันก็อาจจะยิ่งทำลายโลกมากเท่านั้นด้วย  

อ้างอิง

ภาพประกอบ

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ