สุดจะหายาก! พบ ‘วาฬโอมูระเผือก’ โผล่กลางทะเลภูเก็ต ทช.สั่งออกสำรวจเพิ่ม จนพบแต่ไม่เผือก 

สุดจะหายาก! พบ ‘วาฬโอมูระเผือก’ โผล่กลางทะเลภูเก็ต ทช.สั่งออกสำรวจเพิ่ม จนพบแต่ไม่เผือก 

นับเป็นข่าวดีต้อนรับปี 2567 หลังจากที่พบวาฬโอมูระเผือกปรากฏตัวกลางทะเลภูเก็ต ซึ่งเป็นสัตว์ทะเลหายากอันดับต้น ๆ ของเมืองไทย ด้านกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเร่งออกสำรวจเพิ่มจนพบวาฬโอมูระ แต่ไม่ใช่วาฬเผือก

วันที่ 4 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา โลกออนไลน์ได้มีการแชร์คลิปวาฬเผือกตัวใหญ่ โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำให้บรรดานักท่องเที่ยวได้ชมความงดงาม บริเวณทะเลเกาะพีพี หลังจากนั้น ด้าน ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล เผยผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Thon Thamrongnawasawat ยืนยันว่าวาฬที่พบเป็นวาฬเผือก และเป็นวาฬเผือกตัวแรกของไทย อีกทั้งยังมีความเป็นไปได้ว่าจะเป็นวาฬโอมูระเผือกตัวแรกของโลกด้วย ซึ่งวาฬโอมูระมีความแตกต่างจากวาฬบรูด้าชัดเจนคือสันบนหัว โอมูระมี 1 สัน ส่วนบรูด้ามี 3 สัน 

นอกจากนี้ผศ.ดร.ธรณ์ยังได้ระบุเพิ่มเติมถึงความหายากของวาฬชนิดดังกล่าวไว้ว่า “ภาพจากคลิปพอบอกได้ว่า วาฬเผือกตัวนี้มีสันเดียว เป็นวาฬโอมูระ หมายความว่าเป็นดับเบิ้ลหายาก ! ลำพังวาฬโอมูระ ถือว่าหายากในโลกอยู่แล้ว พบเฉพาะเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปถึงตอนใต้ญี่ปุ่น ในไทยมีรายงานน้อยกว่าบรูด้าอย่างเห็นได้ชัด ปรกติจะเจอฝั่งอันดามัน ในอ่าวไทยมีบ้างแต่น้อยกว่า และอยู่ลงไปทางใต้ ไม่ค่อยเข้ามาในอ่าวไทยตอนใน โอกาสที่เราลงเรือดูวาฬแถวสมุทรสงคราม/เพขรบุรีแล้วเจอวาฬโอมูระแทบไม่มี ส่วนใหญ่มักเป็นนักท่องเที่ยวไปสิมิลัน สุรินทร์ พีพี เกาะรอบภูเก็ต ที่รายงานเข้ามา

เมืองนอกก็ยิ่งหายากครับ อันที่จริง เมืองไทยที่ว่าหายาก ยังรายงานการพบเจอเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แล้วถ้าเป็นโอมูระเผือกล่ะ ? โอย ผมไม่รู้จะบอกยังไง มีเงินร้อยล้านพันล้านอยากเจอก็ไม่ใช่จะได้ ต้องใช้โชคล้วนๆ ประเภทหนึ่งในสิบล้านหรือกว่านั้น จึงยินดีเป็นอย่างยิ่งที่มีรายงานแรกของโลกในบ้านเรา” โดยสถานที่พบอยู่ทางตอนใต้ของเกาะคอรัล (เกาะเฮ) จ.ภูเก็ต ประมาณ 9 กิโลเมตร และเรือที่พบคือ เรือ Happy Ours  

จากการพบวาฬเผือกสู่การลงพื้นที่สำรวจวาฬเพิ่มเติม

ถัดมาวันที่ 8 มกราคม 2567 นายปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้มอบหมายให้ ทช. ร่วมกับ ดร.ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง และนายวิษณุ แจ้งใจ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 (กระบี่) นำเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน และเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ลงพื้นที่สำรวจ ตลอดจนเฝ้าระวังสัตว์ทะเลหายาก รวมถึงลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเรือนำเที่ยวเรื่องของการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายาก เพื่อให้ทุกฝ่ายรับทราบโดยทั่วกัน 

เจ้าหน้าที่ได้ลงสำรวจ ได้ใช้วิธีเก็บข้อมูล 3 แบบ คือ (1) วิ่งเรือสำรวจด้วยวิธีการวางเส้นแนวสำรวจ (Distance Transect Sampling) โดยใช้เรือของทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 805 และเรือสปีดโบ๊ท สำรวจบริเวณอ่าวพังงาตอนล่างถึงบริเวณตอนบนของเกาะราชาใหญ่ ซึ่งครอบคลุมพื้นที่กว่า 200 ตารางกิโลเมตร (2) บินสำรวจด้วยอากาศยานไร้คนขับ บริเวณตอนใต้แหลมพรหมเทพ ครอบคลุมทะเลบริเวณตอนเหนือเกาะราชาใหญ่ถึงเกาะเฮ และ (3) ติดตามและลงพื้นที่สอบถามข้อมูลการพบเห็นจากภาคการท่องเที่ยวและเรือประมง นอกจากนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์แนะนำข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยต่อวาฬโอมูระ

จากการลงสำรวจของคณะสำรวจในครั้งนี้ พบวาฬโอมูระสีปกติ จำนวนทั้งหมด 3 ครั้ง โดยในครั้งแรกพบวาฬโอมูระ 1 ตัว บริเวณฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะไม้ท่อน ช่วงเวลาประมาณ 13.30 น. ครั้งที่ 2 พบเพิ่ม 2 ตัวบริเวณฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของเกาะไม้ท่อน ในส่วนครั้งที่ 3 พบอีก 2 ตัว ระหว่างเกาะไม้ท่อนและเกาะเฮ 

อย่างไรก็ดีการปฏิบัติงานทั้ง 3 วันยังไม่พบวาฬเผือกแต่อย่างใด ทว่ายังมีข่าวดีที่เราได้พบว่ามีวาฬโอมูระ 4-6 ตัว บริเวณอ่าวพังงาตอนล่าง จากเกาะไม้ท่อนถึงเกาะพีพีและเกาะราชา ทั้งนี้คณะทำงานจะเฝ้าระวังและติดตามข่าวการพบวาฬโอมูระอย่างต่อเนื่องต่อไป 

วาฬโอมูระสัตว์ลึกลับแห่งท้องทะเล 

หลังจากได้อ่านข่าวการพบวาฬเผือกและการออกสำรวจวาฬจนพบวาฬโอมูระเพิ่มเติม เชื่อว่ายังมีอีกหลายคนที่อาจเคยหรือไม่เคยได้ยินชื่อเจ้าวาฬโอมูระมาก่อน เดี๋ยวเราจะเล่าให้ฟังว่าทำไมพวกมันถึงขึ้นชื่อว่าเป็นหนึ่งในสัตว์ทะเลที่ลึกลับที่สุดกัน

วาฬโอมูระ หรือ ชื่อภาษาอังกฤษ Omura’s whale (ชื่อวิทยาศาสตร์ Balaenoptera omurai) จัดอยู่ในกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาศัยอยู่ในทะเล ตัวเต็มวัยมีขนาดตัว 10-11.5 เมตร น้ำหนักตัวไม่เกิน 20 ตัน เป็นหนึ่งในวาฬสายพันธุ์หายาก และมักถูกเข้าใจผิด เนื่องจากมีลักษณะคล้ายคลึงกับวาฬบรูด้า แต่พวกมันทั้งคู่มีความแตกต่างกันในหลายจุด อย่างแรกคือ วาฬโอมูระจะมีขนาดตัวที่เล็กกว่า รอยจีบใต้ลำคอมีจำนวนมากกว่า มีครีบหลังสูงกว่าและมีความโค้งน้อยกว่าของวาฬบรูด้า และสุดท้ายตามที่ผศ.ดร.ธรณ์ระบุไปถึงความแตกต่างบริเวณสันตรงกลางหัว 

วาฬมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก เนื่องจากอึของพวกมันจะอุดมไปด้วยไนโตรเจน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารสำคัญและจำเป็นต่อแพลงก์ตอน ซึ่งเป็นผู้ผลิตขั้นต้นของห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศทางทะเล

ซากวาฬยังเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศเช่นกัน นอกจากจะเป็นแหล่งอาหารให้สัตว์ก้นทะเลแล้ว ยังเป็นแหล่งผลิตคาร์บอน ซึ่งมากถึง 190,000 ตัน ทว่าคาร์บอนเหล่านี้ไม่ได้ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศแต่อย่างใด แต่จะกลายเป็น อ่างคาร์บอน สำหรับดักและกักเก็บคาร์บอนส่วนเกินในทะเล เพื่อชะลอการเกิดภาวะโลกร้อนด้วย 

การพบวาฬโอมูระในครั้งนี้ถือเป็นข่าวที่น่ายินดีต้อนรับปี 2567 เป็นอย่างมาก ทำให้พวกเราได้เห็นว่าน่านน้ำของไทยยังมีความอุดมสมบูรณ์ ซึ่งเป็นเรื่องดีที่ภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ และดำเนินการส่งเสริมการอนุรักษ์ ตลอดจนเผยแพร่องค์ความรู้ให้แก่ประชาชนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว เพื่อให้ทุกคนรับรู้โดยทั่วกันถึงความสำคัญของวาฬต่อระบบนิเวศทางทะเล

อ้างอิง

ภาพประกอบ

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ