น้ำมันดิบรั่ว จ.ระยอง อาจเกิดผลกระทบที่มองไม่เห็นต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

น้ำมันดิบรั่ว จ.ระยอง อาจเกิดผลกระทบที่มองไม่เห็นต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว

วันที่ 26 มกราคม กรมควบคุมมลพิษ ได้รับแจ้งจากบริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน ว่าได้เกิดเหตุน้ำมันดิบจากท่อใต้ทะเลบริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึก หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเลของบริษัทฯ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด อ.เมืองระยอง

.
โดยมีปริมาณน้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลจำนวน 400,000 ลิตร

ความคืบหน้าที่เกิดขึ้น กรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เร่งยับยั้งไม่ให้น้ำมันเคลื่อนที่เข้าสู่ชายฝั่งทางด้านเหนือของจ.ระยอง และประกาศแจ้งเตือนประชาชน หยุดลงเล่นน้ำทะเล

เนื่องจากน้ำมันอาจเคลื่อนเข้าสู่ชายฝั่งทะเลหาดแม่รำพึง จนถึงอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด ในวันที่ 28 ม.ค.นี้ คาดจะมีน้ำมันไหลเข้าพื้นที่ ประมาณ 180,000 ลิตร

บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) แถลงการณ์ว่าได้ระดมทีมเพื่อควบคุมสถานการณ์ตามแผนรับมือเหตุฉุกเฉิน อีกทั้งหยุดกิจกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงทั้งหมด ตามขั้นตอนความปลอดภัย และแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและควบคุมสิ่งแวดล้อมต่างๆ

จากการบินลาดตระเวนของกองทัพเรือ ภาคที่ 1 เพื่อสำรวจการเคลื่อนที่ของน้ำมัน พบมีปริมาณน้ำมันหลงเหลืออยู่ในทะเลประมาณ 20 ตัน หรือ 20,000 ลิตร

และได้ประสานผู้เชี่ยวชาญจากประเทศสิงคโปร์ ให้ความช่วยเหลือ คาดว่าจะสามารถขจัดและเก็บคราบน้ำมันได้ทั้งหมดภายในไม่ช้า และจัดส่งทีมติดตามสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด

ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล ให้ความเห็นถึงเหตุการณ์นี้ว่า คล้ายกรณีน้ำมันรั่วบริเวณเกาะเสม็ด เพราะน้ำมันรั่วนอกฝั่งเหมือนกัน แต่ปริมาณครั้งนี้มากกว่า

ปัจจัยสิ่งแวดล้อม ลมพัดขึ้นเหนือไม่ค่อยแรง ต่างจากครั้งก่อนที่ลมพัดไปทางตะวันออก ค่อนข้างแรง พื้นที่เกิดผลกระทบอาจต่างกัน หนนี้น่าจะเป็นชายฝั่งเมืองระยอง หาดแม่รำพึง ก้นอ่าว และที่ต่างๆ ตรงนั้นเป็นหาดทรายยาว หากน้ำมันดิบมาถึงหาดทราย อาจเกิดคราบดำบนหาดหรือเกิดก้อนน้ำมันดิบ

การกำจัดคราบน้ำมันจากหาดทรายทำยากมาก อาจใช้แผ่นซับ เก็บก้อนน้ำมันดิน ไปจนถึงตักหน้าทรายออก แต่ทุกอย่างยากหมด และวิธีดีสุดอย่าให้ถึงฝั่ง

ส่วนการใช้สารเคมีทำให้จมตัวลง ต้องใช้ในที่ลึก อย่าใช้ในที่ตื้นเกินไป เพราะน้ำมันกับสารจะแตกตัวไม่ทัน ไปกองที่พื้นก่อน ซึ่งมีในคู่มือการใช้ ขอเพียงทำตามและระวังให้มาก เพราะพื้นทะเลแถวนั้นเป็นแหล่งประมงพื้นบ้าน

ทางด้าน ดร.เพชร มโนปวิตร นักวิทยาศาสตร์ด้านการอนุรักษ์ ได้ให้สัมภาษณ์กับ National Geographic Thailand ว่า แม้จะมีการแก้ไขสถานการณ์ในระยะสั้นได้ แต่ก็อยากให้คำนึงถึง “ผลกระทบระยะยาว”

ซึ่งเราอาจมองไม่เห็นผลกระทบต่อสัตว์ทะเลและระบบนิเวศทางทะเลที่มีความเปราะบางอย่างยิ่ง

ปัญหาน้ำมันรั่วได้ส่งผลทางสิ่งแวดล้อมมาตลอด ซึ่งอาจทำให้เกิดผลกระทบต่อบรรดานกทะเล หรือ เต่า เป็นต้น

หากพวกมันได้รับสารพิษปนเปื้อนในปริมาณมากก็อาจทำให้ตายได้ และถ้ามีน้ำมันถูกซัดมาที่หาด การประมงก็จะเสียหาย ปัญหานี้ไม่ใช่แค่ขจัดคราบน้ำมันหมดแล้วจะหายไป

โดยสารพิษที่เกิดจากน้ำมันที่รั่วไหลอาจไปสะสมอยู่ในห่วงโซ่อาหารของระบบนิเวศจนเกิดเป็นปัญหาที่มองไม่เห็น สารพิษดังกล่าวอาจวนเวียน เกิดการสะสม และรบกวนสมดุลนิเวศอย่างใหญ่หลวงในช่วงนั้นๆ โดยเฉพาะสัตว์ทะเลที่มีอายุยืน เช่นโลมา วาฬ หรือเต่าทะเล ก็อาจจะได้รับสารพิษสะสมซึ่งส่งผลต่อชีวิตพวกมันในระยะยาว

ทำให้ความพยายามในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลเหล่านี้ประสบความสำเร็จน้อยลงอีก

ในแง่ของการแก้ปัญหาหรือฟื้นฟู ยิ่งมีการรับรู้สถานการณ์ปัญหาที่แท้จริงมากเท่าไหร่ การควบคุมความเสียหายก็จะทำได้เร็วมากขึ้นเท่านั้น

แต่ไม่มีวิธีการฟื้นฟูหรือแก้ปัญหาที่ได้ผลอย่าง 100% เพราะสิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบไปแล้ว ทำได้แค่ควบคุมไม่ให้เกิดความเสียหายในวงกว้างมากขึ้นเท่านั้น

ในการพัฒนาโครงการทางเศรษฐกิจต่างๆ มักคำนึงถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเป็นหลัก แต่ถ้าการพัฒนาโครงการฯ มีการคำนวณเรื่องต้นทุนผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน จะส่งผลให้มีการวางระบบป้องกันอุบัติเหตุเช่นนี้ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอย หรือลดผลกระทบให้รุนแรงน้อยลงได้

เพราะเหตุการณ์เช่นนี้อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงที่เจ้าของธุรกิจต้องรับรู้ และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบต้องมีสิทธิรับรู้ข้อมูลได้อย่างโปร่งใส

ในส่วน กรีนพีซ ประเทศไทย ได้แถลงการณ์เรียกร้องด้านภาระรับผิด (accountability) ต่อ สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ว่า ไม่ใช่เพียงแค่ดำเนินการขจัดคราบน้ำมันรั่ว

แต่ต้องเปิดเผยข้อมูลทุกอย่างโดยทันทีเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อระบบนิเวศทางทะเล ชุมชนชายฝั่งทะเล และการท่องเที่ยว ข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณะจะต้องชัดเจนและโปร่งใส

รวมถึง เรียกร้องให้ รัฐบาลไทยทบทวนแผนพลังงานชาติโดยเร่งด่วนเพื่อ ปลดแอกเชื้อเพลิงฟอสซิล และยุติแผนการขยายการขุดเจาะน้ำมันหรือก๊าซฟอสซิลซึ่งทำให้วิถีชีวิต สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติและชุมชนต้องแบกภาระจากผลกระทบสิ่งแวดล้อมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 27 ก.ค. 2556 เกิดเหตุการณ์ท่อรับน้ำมันดิบของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล รั่วกลางทะเล ทางทิศเหนือและตะวันตกของเกาะเสม็ด จ.ระยอง

มีปริมาณน้ำมันรั่วไหลประมาณ 50,000 ลิตร หรือ 50 ตัน อยู่ในระดับที่ 2 จากทั้งหมด 3 ระดับ ตามการจำแนกในแผนป้องกันและขจัดมลพิษทางน้ำเนื่องจากน้ำมันแห่งชาติ

สำหรับครั้งนี้อยู่ในระดับ 3 เนื่องจากมีปริมาณน้ำมันรั่วไหลมากกว่า 1,000 ตันลิตร

อาจเกิดจากอุบัติเหตุที่รุนแรง และการขจัดคราบน้ำมันในระดับนี้ ต้องมีการร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ ในประเทศ และต้องอาศัยความช่วยเหลือระดับนานาชาติ

ร่วมรักษาป่าใหญ่ ผ่านระบบ Thai QR Code


 

อ้างอิง
Photo : GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน)

ผู้เขียน

Website | + posts

โซเชียลมีเดียที่เขียนบันทึกประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในยุคแอนโทโปรซีน