สรุปประเด็น “เบื้องหลังเพิกถอน 2.6 แสนไร่ อุทยานแห่งชาติทับลาน” 

สรุปประเด็น “เบื้องหลังเพิกถอน 2.6 แสนไร่ อุทยานแห่งชาติทับลาน” 

1. ที่มาที่ไปของแถลงการณ์ คัดค้านการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จำนวน 265,286.58 ไร่ ออกจาการเป็นพื้นที่ป่าอนุรักษ์ ของมูลนิธิสืบนาคะเสถียร   

ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ติดตามเรื่องนี้มาโดยตลอดพบว่า แท้จริงแล้วสถานการณ์ของพื้นที่บริเวณดังกล่าว มีปัญหาในเรื่องของการทับซ้อนกันของพื้นที่ ทั้งของชุมชน หน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงส่วนของพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานด้วย โดยปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ความพยายามในการเปลี่ยนแปลงสถานะของพื้นที่จากพื้นที่อุทยาน ให้กลายเป็นพื้นที่ สปก. (สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม) ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ขัดต่อการดำเนินงานของคณะติดตามการแก้ปัญหาเรื่องของชุมชนในพื้นที่ป่า ซึ่งมีนายภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร เป็นหนึ่งในคณะติดตามฯ  

ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวดำเนินการมาถึงคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งทางคณะฯ ที่แนวโน้มค่อนข้างชัดเจนที่จะยกพื้นที่กว่า 2.6 แสนไร่นี้ ให้อยู่ภายใต้พื้นที่ของ สปก. ด้านนายภาณุเดชได้ชี้แจงถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงอธิบายภาพรวมกลุ่มคนในพื้นที่ดังกล่าว โดยแบ่งได้ออกเป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้ 

 1) กลุ่มชุมชน อยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่เดิม ซึ่งพวกเขาก็ควรมีสิทธิ์ตามกระบวนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในพื้นที่  

2) กลุ่มเทา ๆ เป็นกลุ่มคนที่มีการขยายและจับจองพื้นที่เพิ่มเติม ตลอดจนมีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดินไปเกินกว่าที่มีการตกลงกันไว้ 

3) กลุ่มทุน ที่เข้าไปพัฒนาที่ดินโดยมิชอบ โดยมีการพัฒนาที่ดินให้กลายเป็นภาคธุรกิจ  

มูลนิธิสืบฯ มองว่าการแก้ไขปัญหาที่ดินด้วยกระบวนการดังกล่าว ขัดต่อเจตนารมณ์ของกรมอุทยานฯ ในการอนุรักษ์ที่ดินบริเวณดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้นในอนาคตอาจนำไปสู่การสูญเสียที่ดินหรือพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ได้ นี่จึงเป็นสาเหตุให้มูลนิธิสืบฯ ออกแถลงการณ์ฉบับดังกล่าวขึ้นมา โดยมีประเด็นหลักๆ มีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน ได้แก่  

1) การประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ในวันดังกล่าว ได้บรรจุหัวข้อการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ ซึ่งถือเป็นการข้ามขั้นตอนการให้ข้อเสนอแนะอย่างละเอียดรอบคอบของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ โดยประเด็นการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าวได้มีการนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติมาแล้ว 2 ครั้ง โดยที่ประชุมได้มีข้อเสนอแนะให้มีการใช้แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ ตามมาตรา 64 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562  

2) การเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน อาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน และจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่เกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ที่มีปัญหาการทับซ้อนในลักษณะเดียวกันนี้ทั่วประเทศ 

3) กรมอุทยานฯ มีภารกิจเกี่ยวกับการอนุรักษ์ ส่งเสริม และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ในเขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ แต่กลับปล่อยให้เกิดกระบวนการเพิกถอนพื้นที่ป่าอนุรักษ์สองแสนกว่าไร่ ซึ่งขัดต่อภารกิจหลักของหน่วยงานตนเอง  

2. ข้อมูลเชิงลึกของพื้นที่และสถานการณ์อุทยานแห่งชาติทับลาน  

นายภาณุเดชได้ชี้แจงให้เห็นว่า อุทยานแห่งชาติทับลานมีปัญหาในเรื่องของการทับซ้อนของพื้นที่ใช้ประโยชน์ โดยที่ชุมชนและประชาชนในพื้นที่เองก็ได้รับความเดือดร้อนเช่นเดียวกัน โดยแก่นของปัญหาหลัก ๆ คือ แต่ละหน่วยงานในพื้นที่ต่างก็ดำเนินกิจกรรมตามกฎหมายของตนเอง นอกจากนี้เรายังมองว่าการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ควรจะบริหารจัดการตามสภาพปัญหาในแต่ละจุด ซึ่งแท้จริงแล้วแต่ละหน่วยงานควรจะมาช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว ตลอดจนพัฒนาการทำงานร่วมกันในอนาคต เพื่อเป็นโมเดลสำหรับใช้ในการทำงานกับชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์อื่น ๆ ด้วย  

ภาพรวมของพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานนั้นมีสภาพปัญหาในพื้นที่ค่อนข้างมาก ทั้งในเรื่องของการซ้อนทับกันของพื้นที่ทำกินของชุมชน รวมทั้งยังมีปัญหาการขยายพื้นที่และการบุกรุกป่า ตลอดจนการเข้าไปใช้พื้นที่ในอุทยานโดยไม่ชอบ สาเหตุที่นายภาณุเดชยกปัญหาต่างๆ มาให้เห็น เพื่ออยากให้ทุกคนยอมรับว่ามันมีความหลากหลายมากในพื้นที่ การที่เราจะแก้ไขด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งมันอาจจะไม่ถูกต้องเท่าที่ควร  

ถ้าเราดูตามพื้นที่เดิมของอุทยานแห่งชาติทับลานเป็นป่าไม้ถาวรตามมติรัฐมนตรี พ.ศ.2506 โดยมันถูกสงวนไว้สำหรับเรื่องของการคุ้มครองพื้นที่ป่า หากดูตามภาพถ่ายทางอากาศจะพบเลยว่าเราแทบจะไม่พบเรื่องของการใช้ประโยชน์ในพื้นที่เลย ยกเว้นส่วนพื้นที่ของวังน้ำเขียว ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตอุทยานอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าหากพื้นที่ดังกล่าวถูกประกาศเป็นป่าไม้ถาวร การจะดำเนินการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงสภาพใดใดก็ตาม จำเป็นต้องดำเนินการผ่านคณะรัฐมนตรี โดยจะต้องออกมาเป็นมติในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ และต้องมีกรมป่าไม้เข้ามาเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการในส่วนนี้  

นายภาณุเดชได้ไล่เรียงเหตุการณ์ในปีต่างๆ ที่นำไปสู่การทับซ้อนกันของที่ดินและความหลากหลายของปัญหาในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ดังนี้ 

– พ.ศ. 2521 มีการประกาศเขตปฏิรูปที่ดิน ซึ่งมีบางส่วนทับซ้อนกับเขตป่าสงวนและป่าไม้ถาวร  

– พ.ศ. 2524 มีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งทับซ้อนทั้งสามเขตที่ได้แบ่งไว้ในตอนแรก ได้แก่ เขตป่าสงวน เขตป่าไม้ถาวร และเขตปฏิรูปที่ดิน  

อย่างไรก็ดีตลอดระยะเวลาที่มีปัญหา ทางหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้มีความพยายามอย่างยิ่งในการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนของที่ดิน ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนในพื้นที่และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องนั้นมีกระบวนการการดำเนินการแก้ไขปัญหาร่วมกันมาโดยตลอด ดังนั้น นายภาณุเดชมองว่ากระบวนการต่างๆ ที่ดำเนินการมานั้นน่าจะช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ร่วมกับทางชุมชนได้  

ถัดมาเป็นข้อคิดเสนอของกรมอุทยานฯ ในการแก้ไขปัญหาพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน โดยแยกย่อยออกเป็นแต่ละข้อดังนี้  

1) ยกเลิกการดำเนินการของ สปก. ในพื้นที่ทั้งหมด 

2) ตรวจสอบเอกสารสิทธิตามประมวลกฎหมายที่ดินในพื้นที่  

3) ดำเนินการผลักดันให้มีการออกพระราชกฤษฎีกาเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ส่วนราษฎรถือครองทำกินตามแนวเขตสำรวจปี พ.ศ. 2563  

ในมุมมองด้านกฎหมาย นายภาณุเดชได้แสดงความคิดเห็นต่อมติเรื่องของการขยายเวลาการดำเนินการจัดทำกฎหมายลำดับรองตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ออกไปอีกไม่มีกำหนดว่า ส่งผลต่อกระบวนการสำรวจที่ดินของกรมอุทยานฯ ที่ดำเนินการมาร่วมกับชุมชนเรียบร้อยแล้ว ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจนว่ากรมอุทยานฯ จะดำเนินการอย่างไรต่อ 

ซึ่งปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานเพียงแห่งเดียว แต่มันส่งผลต่อพื้นที่ชุมชนและพื้นที่อนุรักษ์ทั่วประเทศ ไม่มีความชัดเจนว่ารัฐบาลไทยจะทำอย่างไรต่อ เกี่ยวการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งนายภาณุเดชได้แสดงความกังวลต่อว่ากรณีดังกล่าวจะกลายเป็นโดมิโนและล้มต่อไปเรื่อย ๆ ต่อไปในอนาคตได้  

3. เจาะลึกเรื่องสปก. 

ปัจจุบันจะเห็นได้ว่ารัฐพยายามสนับสนุนการแปลงพื้นที่สปก.ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร โดยที่โฉนดดังกล่าวสามารถใช้เป็นหลักทรัพย์หรือนำไปใช้ในเชิงธุรกิจได้ ซึ่งมันจะส่งผลให้พื้นที่เกิดการเปลี่ยนสภาพที่ค่อนข้างสูง นายภาณุเดชจึงมองว่า นี่อาจจะเป็นการเอื้อต่อหลายฝ่ายที่มีผลประโยชน์ร่วมกันในพื้นที่ ซึ่งแท้จริงแล้วการจัดการร่วมกันระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ยังคงเป็นทางออกที่สามารถสร้างสมดุลระหว่างแต่ละฝ่ายได้ดีที่สุด 

โดยปกติแล้ว การประกาศพื้นที่สปก.ได้นั้นจะต้องมาจากกฤษฎีกา และจะต้องเป็นพื้นที่ที่มีสภาพเสื่อมโทรมชัดเจน ตัวอย่างเช่น พื้นที่ป่าสงวนฯ ที่มีความเสื่อมโทรม ทางป่าสงวนฯ ก็ต้องทำเรื่องยกพื้นที่นี้ให้กับสปก. นำไปจัดสรรต่อ ภายใต้กติกาที่กำหนดร่วมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งสัดส่วนชัดเจนกับพื้นที่ที่คงสภาพเป็นป่าชัดเจน แต่ถึงอย่างนั้นนายภาณุเดชได้ตั้งข้อสังเกตว่า ยังไม่มีพื้นที่สปก.ไหนที่ คืนกลับพื้นที่คงสภาพให้กรมป่าไม้เลยแม้แต่พื้นที่เดียว แต่กลับพบการออกสปก.โดยไม่ชอบ รวมถึงการบุกรุกพื้นที่ป่าเกิดขึ้นมากมายแทน นั่นหมายถึงตัวโครงการสปก.ยังมีจุดที่ต้องเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิดอยู่  

4. มุมมองของนิเวศวิทยา ต่อการหายไปของผืนป่า 2.6 แสนไร่  

อุทยานแห่งชาติทับลานมีสภาพเป็นเหมือนไข่แดง ท่วมกลางผืนป่าทั้งสองฝั่ง โดยฝั่งนึงคืออุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ส่วนอีกฝั่งเป็นอุทยานแห่งชาติตาพระยาและอุทยานแห่งชาติปางสีดา ซึ่งอุทยานแห่งชาติทับลานเป็นทางเชื่อม (corridor) ทางธรรมชาติของสัตว์ป่า หรือก็คือเป็นตัวเชื่อมระหว่างสองผืนป่าของสัตว์ป่าในการเดินทางข้ามไปมาระหว่างสองพื้นที่นั่นเอง  

จากข้อมูลเบื้องต้นได้มีการพบการใช้ประโยชน์ของสัตว์ป่า รวมถึงการเพิ่มจำนวนของประชากรเสือโคร่งในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งบ่งชี้ให้เราเห็นว่าผืนป่าบริเวณดังกล่าวมีศักยภาพและความอุดมสมบูรณ์มากพอต่อการขยายตัวของจำนวนเสือโคร่ง  

ถึงแม้ว่าทางคทช. (คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ) จะเสนอมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติอีกเกือบแสนไร่ให้ เพื่อเอามาเติมในส่วนที่เสียไปกว่า 2.6 แสนไร่นี้ ทว่าเราได้ทำการตรวจสอบพื้นที่ตรงนั้นแล้ว กลับพบการใช้ประโยชน์ของที่ดินโดยชุมชน และในขณะเดียวกันกรมป่าไม้ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่และชาวบ้านอาจจะไม่ยินยอมยกพื้นที่ตรงนี้ให้ก็ย่อมได้  

เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อเกิดการจัดการในลักษณะนี้ของภาครัฐขึ้นมา มันอาจส่งผลต่อแนวการเชื่อมต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่า ซึ่งมันจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสัตว์ป่าที่ใช้พื้นที่ในการข้ามไปมา และท้ายที่สุดมันอาจทำให้ผืนป่าขาดความสมดุลทางธรรมชาติไป

ถอดความและเรียบเรียงจากเสวนา “เบื้องหลังเพิกถอน 2.6 แสนไร่ อุทยานแห่งชาติทับลาน” จัดโดย Green News ถ่ายทอดผ่าน facebook live เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ