ความคืบหน้า กรณี “คัดค้านการผ่านรายงานการสร้างอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์” 

ความคืบหน้า กรณี “คัดค้านการผ่านรายงานการสร้างอุโมงค์ผันน้ำเขื่อนศรีนครินทร์” 

เนื่องจาก มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้คัดค้านการผ่านรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ของกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2566 ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้ 

1. พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือโคร่ง เลียงผา เก้งหม้อ ละองละมั่ง แมวลายหินอ่อน กระทิง วัวแดง ช้างป่า และพบว่าพื้นที่ก่อสร้างมีลักษณะเป็นภูเขาสูง มีพื้นที่ด้านเหนือและด้านตะวันตกอยู่ในอำเภอศรีสวัสดิ์ ถัดไปด้านตะวันออกเป็นที่ราบเชิงเขาอยู่ในอำเภอบ่อพลอย หนองปรือ เลาขวัญ และห้วยกระเจา พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่เกษตรกรรมซึ่งมีปัญหาเรื่องสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่ เช่น ช้างป่า หากมีการขุดเจาะอุโมงค์อาจเป็นการเพิ่มโอกาสให้เกิดสัตว์ป่าออกนอกพื้นที่มากขึ้น และเพิ่มปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับสัตว์ป่า  

2. โครงการยังไม่ได้มีการเข้ามาหารือกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรอย่างเป็นทางการ ตามที่คณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ได้เสนอแนะ   

3. โครงการไม่ได้มีการลงพื้นที่ศึกษาสำรวจตามแนวขุดเจาะอุโมงค์ ตามทางเลือกที่ 1 และ 7 มีเพียงการใช้ข้อมูลทุติยภูมิประกอบการทำรายงาน และการดำเนินโครงการดังกล่าวต้องมีการสำรวจ เก็บข้อมูลด้านนิเวศวิทยาป่าไม้ สัตว์ป่า สภาพธรณีวิทยา และสภาพภูมิประเทศ เพื่อจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งการใช้ข้อมูลทุติยภูมิอาจทำให้ขาดข้อมูลสำคัญที่ควรนำมาวิเคราะห์ผลกระทบ และวิเคราะห์แนวทางในการแก้ไขผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างละเอียดถี่ถ้วน  

4. โครงการควรศึกษาวิจัยผลกระทบต่อสัตว์ป่าในโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำแม่แตง-แม่งัด-แม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ ของกรมชลประทาน ให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เพื่อวิเคราะห์ระดับคลื่นความถี่ของความสั่นสะเทือนจากการขุดเจาะอุโมงค์ว่าระดับความลึกของการขุดเจาะจะมีผลกระทบต่อสัตว์ป่าขนาดใหญ่หรือไม่ และนำเข้าการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ อีกครั้งก่อนผ่านรายงาน  

5. หากดำเนินการขุดเจาะอุโมงค์ ตามทางเลือกที่ 1 และ 7 จะตัดผ่านกลางเขตพื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ผ่านลุ่มน้ำชั้น 1A เพื่อผันน้ำไปลงอ่างเก็บน้ำลำอีซู พื้นที่ตามแนวอุโมงค์เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าที่จะได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งจากเครื่องจักรและคนที่เข้าไปทำการสำรวจพื้นที่หากดำเนินการจะเป็นการรบกวนถิ่นอาศัยของสัตว์ป่าอย่างรุนแรง รวมทั้งอาจมีปัญหาการเข้าบำรุงรักษาในพื้นที่แนวอุโมงค์  

6. กรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ยังมีทางเลือกอื่นที่จะสามารถบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี โดยไม่ต้องใช้ทางเลือกที่ส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยตรง และควรดำเนินการเลือกพื้นที่เหมาะสมนอกพื้นที่คุ้มครอง 

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ทำจดหมายตอบกลับส่งถึงประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ลงวันที่ 31 มกราคม 2567 โดยนำข้อความกังวลดังกล่าวเสนอคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2567 โดยคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ มีมติยืนยันตามมติคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ เมื่อคราวประชุมครั้งที่ 26/2566 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2566 ให้นำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการดังกล่าว ซึ่งได้ดำเนินการปรับปรุง แก้ไข รายละเอียดข้อมูลตามความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ แล้วเสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของรัฐมนตรีต่อไป เนื่องจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการฯ ได้พิจารณาตามหลักวิชาการอย่างรอบคอบและครบถ้วนในทุกมิติแล้ว พร้อมทั้งมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการแจ้งกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในฐานะเจ้าของโครงการเพื่อพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป