คุณค่าและความสำคัญของ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ’ 

คุณค่าและความสำคัญของ ‘เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ’ 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกของไทยเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2508 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 858.55 ตารางกิโลเมตร หรือ 536,594 ไร่ โดยมีเหตุผลท้ายพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระว่า “ป่าสลักพระมีสภาพภูมิประเทศเหมาะสมที่กำหนดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย เพื่อรักษาไว้ซึ่งพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่ายิ่งของประเทศชนิดหนึ่ง ที่อำนวยประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ วิทยาการ และรักษาความงดงามตลอดจนคุณค่าตามธรรมชาติไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่รัฐและประชาชน”  

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระตั้งอยู่ในเขตจังหวัดกาญจนบุรี บริเวณรอยต่อของอำเภอเมืองกาญจนบุรี อำเภอศรีสวัสดิ์ อำเภอบ่อพลอย และอำเภอหนองปรือ 

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีสภาพภูมิประเทศเหมาะสมที่จะกำหนดเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัยและรักษาไว้ซึ่งพันธุ์สัตว์ป่า ซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่ายิ่งของประเทศชนิดหนึ่ง ที่อำนวยประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ วิทยาการ และรักษาความงาม ตลอดจนคุณค่าคุณค่าตามธรรมชาติไว้ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมแก่รัฐและประชาชน 

ผืนป่าสลักพระ หนังสือสลักพระ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย บนรอยทางจากอดีตสู่ปัจจุบัน

พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีลักษณะคล้ายรูปลิ่มวางตัวตามแนวเหนือ-ใต้ พื้นที่ด้านทิศเหนือและตอนกลางมีลักษณะกว้างมากกว่าและค่อยเรียวลงไปทางด้านใต้ เช่นเดียวกับความลาดเทจากทิศเหนือไปทางทิศใต้ พื้นที่ทางตอนเหนือซึ่งอยู่ในเขตอำเภอศรีสวัสดิ์ส่วนใหญ่มีลักษณะเป็นทิวเขาสูงสลับซับซ้อน ยอดเขาสูงที่สุดคือเขาหัวโล้น นอกจากนี้เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระยังมีส่วนที่เป็นที่ราบสูงที่ถูกยกตัวขึ้นจากการเคลื่อนตัวของเปลือกโลก ซึ่งพบบริเวณตอนกลางค่อนไปทางเหนือของพื้นที่ เรียกว่า “ทุ่งนามอญ” บริเวณตอนกลางค่อนไปทางใต้ เรียกว่า “ทุ่งสลักพระ” 

เนื่องจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระเป็นพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ จึงเป็นส่วนหนึ่งของป่าต้นน้ำลำธารหลายสายของแม่น้ำแควใหญ่ซึ่งอยู่ทางด้านทิศตะวันตกและทางด้านทิศใต้ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและลำน้ำลำตะเพินซึ่งอยู่ทางด้านตะวันออกจะไหลลงไปทางทิศใต้ แล้วลงสู่แม่น้ำแควใหญ่ต่อไป ลำห้วยลำธารที่ปรากฏในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระมีมากกว่า 50 สาย ทั้งที่มีน้ำไหลตลอดปี และที่มีน้ำเฉพาะช่วงฤดูฝนเท่านั้น ลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดปี เช่น ลำห้วยแม่ละมุ่น อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ มีต้นห้วยอยู่บริเวณเทือกเขาพุน้ำร้อน ไหลลงสู่เขื่อนศรีนครินทร์มีความยาวประมาณ 27 กิโลเมตร ปัจจุบันลำห้วยแม่ละมุ่นและลำห้วยแม่ปลาสร้อยเป็นแหล่งสงวนพันธุ์พืชและพันธุ์สัตว์น้ำตามธรรมชาติ 

ทุ่งนามอญ บริเวณทุ่งนามอญอยู่ทางด้านทิศเหนือของทุ่งสลักพระ ลักษณะเป็นหุบที่ราบสูงกว้างใหญ่มีเนื้อที่ประมาณ 10,000 ไร่ สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 700 เมตร เป็นต้นน้ำลำธารหลายสาย เช่น ห้วยแม่ละมุ่น ห้วยสะด่อง และลำอีซู เป็นต้น มีน้ำตกและลำห้วยที่มีน้ำไหลตลอดทั้งปีโดยเฉพาะทางด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ของตัวทุ่ง บริเวณนี้มีโป่งธรรมชาติอยู่หลายแห่งเช่นเดียวกับทุ่งสลักพระ จึงทำให้สัตว์ป่าจำนวนมากสามารถเคลื่อนย้ายหากินและหลบภัยระหว่างทุ่งสลักพระและทุ่งนามอญได้ เป็นพื้นที่อาศัยสำคัญของสัตว์ป่าบริเวณนี้ ลักษณะสังคมพืชเป็นป่าดิบแล้งที่มีความอุดมสมบูรณ์และไม่มีการถูกรบกวน เนื่องจากพื้นที่บริเวณนี้ถูกจัดเป็นเขตสงวนธรรมชาติเข้มข้น เขตที่มีสภาพธรรมชาติเปราะบาง และมีทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญเป็นพิเศษ เป็นที่อาศัยของสัตว์ป่าสำคัญและหายาก ซึ่งเมื่อเสื่อมโทรมแล้วยากที่จะทำให้กลับคืนสู่สภาพเดิมได้ หรือง่ายต่อการถูกทำลายมาก จึงควรอนุรักษ์ไว้ด้วยความเข้มงวดกวดขันอย่างที่สุด โดยไม่ให้มีกิจกรรมมนุษย์เข้ามาเกี่ยวข้องในเขตนี้ ห้ามการพัฒนาใดๆ ในเขตส่วนนี้ ซึ่งพื้นที่เขตนี้ไม่ยอมให้มีการใช้ประโยชน์ใดๆนอกจากจะปล่อยไว้ให้เป็นสภาพธรรมชาติแบบดั้งเดิมเพื่อมิให้เกิดการรบกวนความเป็นอยู่ของสัตว์ป่า และสภาพธรรมชาติโดยรอบ (เนื้อหาบางส่วนจาก หนังสือสลักพระ : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย บนรอยทาง … จากอดีตสู่ปัจจุบันกับความท้าทายในอนาคต) 

ทรัพยากรสัตว์ป่า ป่าสลักพระมีสัตว์ป่าน้อยใหญ่ ประกอบไปด้วยนก สัตว์เลื้อยคลาน สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก ปลาน้ำจืด และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อาทิ ช้าง กระทิง เก้ง กวาง วัวแดง เป็นต้น มีความโดดเด่นมาตั้งแต่อดีตกาลก่อนที่พื้นที่แห่งนี้จะได้รับการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์  

ชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญในพื้นที่เขตสลักพระที่มีการเก็บข้อมูล โดยเฉพาะการปรากฏของเสือโคร่งที่ยืนยันข้อมูลแล้วว่าเกิดจากการขยายถิ่นอาศัยของประชากรเสือโคร่งจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของผืนป่าตะวันตก จากที่ประชากรเสือโคร่งได้หายไปจากพื้นที่ธรรมชาติเมื่อ 10 ปี ก่อน การพบเสือโคร่งและเหยื่อที่มีความสัมพันธ์กันอย่างยิ่งในระบบนิเวศเพราะเป็นตัวชี้วัดถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการดูแลรักษาพื้นที่และการฟื้นฟูตัวเองของพื้นที่ตามระบบนิเวศ 

พื้นที่ด้านในของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระเป็นพื้นที่รองรับการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ที่สำคัญของประเทศ และมีการศึกษาวิจัยซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินโครงการ จากสภาพพื้นที่ป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสมต่อการเป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งทุ่งสลักพระ และทุ่งนามอญ ทำให้มีโครงการศึกษาวิจัยในการสำรวจ การฟื้นฟู การอพยพย้ายถิ่น และการปล่อยคืนประชากรสัตว์ป่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่สำคัญระดับโลก และระดับประเทศ และเป็นโครงการที่อยู่ระหว่างการเก็บรวบรวมข้อมูล การรายงาน การวิเคราะห์ ทุกโครงการมีคุณค่าต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางระบบนิเวศ ดังนั้น การดำเนินโครงการพัฒนาในพื้นที่ศึกษาวิจัยย่อมมีผลกระทบต่อผลการศึกษาด้าน สัตว์ป่าที่มีการลงทุนทั้งด้านงบประมาณ บุคลากร เวลา และการได้มาซึ่งองค์ความรู้เพื่อนำไปบริหารจัดการพื้นที่อนุรักษ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ยกตัวอย่างการศึกษา เช่น  

การผสมเทียมละมั่งหลอดแก้วตัวแรกของประเทศไทย  

เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวนศาสตร์ ร่วมกับองค์การสวนสัตว์ในพระราชูปถัมภ์ ร่วมกันศึกษาวิจัยการรักษาสายพันธุ์ละองละมั่ง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนของประเทศและมีสถานะภาพใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่งโดยเฉพาะในพื้นที่ป่าธรรมชาติมีจำนวนลดน้อยมาก เมื่อมีการศึกษาสภาพพื้นที่แล้วพิจารณาได้ว่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระสามารถเป็นพื้นที่รองรับการฟื้นฟูประชากรละองละมั่งได้ จึงได้มีการจัดทำโครงการปล่อยสัตว์ป่าคืนสู่ธรรมชาติ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าอาทิตยาทรกิติคุณ ทรงเสด็จเป็นประธานปล่อยสัตว์ป่า เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2554 

ปัจจุบันพบว่าละองละมั่งมีการสืบพันธุ์และขยายประชากรเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่อยู่ในขั้นตอนการสรุปผลถึงความคงอยู่ของประชากรละองละมั่งในป่าธรรมชาติได้ ต้องอาศัยระยะเวลาการศึกษาเรื่องการฟื้นฟูประชากรละองละมั่งในพื้นที่ดังกล่าวถึงการสืบพันธุ์และขยายพันธุ์ได้จนถึงรุ่นที่ 3 – 4 จากประชากรตั้งต้น เนื่องจากละองละมั่งเป็นสัตว์ที่อ่อนไหว ตกใจง่าย และช็อคตายได้ง่าย จากการพบละองละมั่งตายติดต่อกันหลายตัวเมื่อ ปี พ.ศ. 2560 ส่งพิสูจน์ซากไม่มีบาดแผลพบว่าหัวใจสูบฉีดแรงเกินไป จึงถือว่าเป็นสัตว์ที่อ่อนแอต่อการถูกคุกคาม การเข้าพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการที่ผ่านพื้นที่อาศัยของสัตว์ชนิดนี้จึงถือว่าก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการฟื้นฟูประชากรละองละมั่งในป่าธรรมชาติ 

โครงการปล่อยวัวแดงคืนสู่ธรรมชาติอย่างเป็นทางการครั้งแรกของโลก  

เป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช คณะสัตวแพทยศาสตร์ คณะวนศาสตร์ ร่วมกับองค์การสวนสัตว์ในพระราชูปถัมภ์ ปล่อยวัวแดง เมื่อ ปี พ.ศ.2557 จนถึงปัจจุบันยังมีการดำเนินโครงการดังกล่าวอยู่ และมีการปล่อยคืนป่าธรรมชาติ เพื่อเพิ่มประชากรและโอกาสในการฟื้นฟูประชากรในป่าธรรมชาติได้อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากพื้นที่ป่าสลักพระในอดีตมีประชากรวัวแดงในธรรมชาติจำนวนมาก แต่ถูกล่าโดยมนุษย์ และเกิดภัยคุกคามถิ่นอาศัยจนไม่ปรากฏร่องรอยประชากรวัวแดงในพื้นที่ป่า คาดการณ์ว่าสูญหายไปหมดแล้วจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ การฟื้นฟูประชากรวัวแดงจึงเป็นการอนุรักษ์สายพันธุ์สัตว์ป่าที่สำคัญเพราะมีจำนวนประชากรประมาณ 10 ตัว ซึ่งถือว่ามีจำนวนน้อยมาก 

ภาพวัวแดงในกรงฟื้นฟู ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ

โครงการการกระจายของสัตว์ตระกูลแมวป่าในพื้นที่ทางทิศใต้ของผืนป่าตะวันตก  

เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยองค์การแพนเทอรา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียใต้ (Panthera) เพื่อติดตามประชากรเสือโคร่งในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระอย่างต่อเนื่องระยะยาว และเข้าใจถึงการเลือกใช้พื้นที่และการเคลื่อนที่ของเสือโคร่ง รวมถึงสถานภาพของเสือโคร่งแต่ละตัวและเหยื่อในพื้นที่ และปัจจัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อการอยู่อาศัยของเสือโคร่ง โดยการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า (Camera trap) ในแต่ละกริด กริดละ 2 ตัว อย่างต่อเนื่องในระยะยาว เพื่อให้ได้ภาพ ลายด้านข้างของเสือโคร่งมาใช้ในการจำแนกระบุตัว จากการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องทำให้สามารถสำรวจพบประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ โดยมีข้อมูลทั้งตัวที่พบใหม่ในพื้นที่ และตัวที่เดินทางย้ายถิ่นเพื่อขยายเขตหากินออกมาจากพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งมายังเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของการป้องกันรักษาพื้นที่ให้มีความปลอดภัยและมีความอุดมสมบูรณ์เพียงพอที่จะให้สัตว์ผู้ล่าขนาดใหญ่ที่อยู่บนสุดของห่วงโซ่อาหารกลับมาพื้นที่เพื่อสร้างถิ่นอาศัยทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศอีกครั้ง โดยเฉพาะความคาดหวังเรื่องการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในพื้นที่ เพื่อควบคุมประชากรช้างป่าตามวัฏจักรของระบบนิเวศ 

โครงการติดตามเสือดาวในพื้นที่ภาคตะวันตกและพื้นที่ภาคใต้ ประเทศไทย 

เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย ปัจจุบันมีข้อมูลว่าประเทศไทยมีเสือดาวเหลือเพียง 5% ของพื้นที่อาศัยทั้งหมด (Rostro-Garcia et al. 2016) แต่ไม่มีการพบเสือดาวกระจายทั่วพื้นที่อนุรักษ์ของผืนป่าตะวันตก และพบการกระจายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทางใต้เพียงบางแห่ง และเป็นพื้นที่ถูกตัดขาดจากผืนป่าอื่น และไม่ปรากฏการพบเสือดาวทางพื้นที่ป่าอนุรักษ์ขนาดใหญ่หลายแห่งทางภาคตะวันออก (เขาใหญ่) และตอนเหนือของประเทศไทย (กลุ่มป่าภูเขียว-น้ำหนาว) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประชากรเสือดาวมีสภาวะเสี่ยงมากต่อการสูญพันธุ์ 

มีข้อมูลบ่งชี้ว่าการอนุรักษ์เสือดาวในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทำได้ยากกว่าเสือโคร่ง อาจเพราะ เสือดาวไม่สามารถแย่งเหยื่อของเสือโคร่งและพื้นที่อาศัยอยู่บริเวณของพื้นที่ป่าอนุรักษ์ จึงถูกภัยคุกคามได้โดยง่าย จากการดำเนินโครงการติดตั้งกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่า ได้ภาพเสือดาว และเสือดาวลักษณะสีดำ (เสือดำ) ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ แต่ยังไม่สามารถประเมินความหนาแน่นของประชากรได้ 

ทั้งนี้มีแผนการดำเนินโครงการติดตามเสือดาวในระยะยาวเพื่อให้ทราบความหนาแน่นของประชากรเสืดาวในพื้นที่และจะกลายเป็นพื้นที่แรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีการดำเนินโครงการติดตามประชากรเสือดาว นำไปสู่การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นพื้นที่ต้นแบบต่อการอนุรักษ์ประชากรเสือดาวที่สำคัญ 

โครงการศึกษานิเวศวิทยาการกระจายและภัยคุกคามของลิ่นชวา (Manis javanica) ในพื้นที่กลุ่มป่าตะวันออกเฉียงใต้ของผืนป่าตะวันตก 

เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยสมาคมสัตววิทยาแห่งลอนดอน (ZSL) ประเทศไทย จากสถานการณ์การถูกคุกคามลิ่นชวาในด้านต่างๆ ทั้งการล่าตัวลิ่นและการถูกทำลายถิ่นอาศัยไปเป็นพื้นที่เกษตร ส่งผลต่อการลดลงของประชากรลิ่นชวาอย่างรวดเร็วและมีความเสี่ยงสูงต่อการสูญพันธุ์ เพราะการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสัตว์กลุ่มนี้ยังมีไม่มากพอเพื่อทำความเข้าใจด้านต่างๆ ที่เกี่ยวกับนิเวศวิทยาของลิ่นชวา จึงมีการสำรวจและศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวข้องเพื่อยืนยันการปรากฏของลิ่นชวาในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เพราะสภาพป่ามีลักษณะที่สามารถพบลิ่นชวาได้ และจากผลการสำรวจมีภาพลิ่นชวาที่ได้จากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ป่าในพื้นที่ แต่นับได้ว่ามีปริมาณการปรากฏที่น้อยมาก เป็นข้อบ่งชี้ว่าพื้นที่นี้มีนิเวศวิทยาของลิ่นที่อาศัยได้ตามธรรมชาติ แต่การพบปริมาณที่น้อยมากนั้นก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการหมดไปในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ข้อมูลดังกล่าวมีผลต่อการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่เพื่อเพิ่มศักยภาพการป้องกันบริเวณที่พบลิ่นชวา  

โครงการความเข้าใจพฤติกรรมช้าง ระยะที่ 2: บุคลิกภาพของช้างและปัญหาความขัดแย้งระหว่างช้างกับคนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี ประเทศไทย 

เป็นโครงการที่ดำเนินการโดยวิทยาลัยสัตวแพทย์ศาสตร์อัครราชกุมารี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ดำเนินการซ่อมแซมหอดูสัตว์ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เพื่อใช้สังเกตช้างป่าและเก็บข้อมูลทางด้านพฤติกรรมของช้าง ติดตั้งกล่องทดสอบความรู้คิด (cognition) ภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เพื่อสังเกตพฤติกรรมและความฉลาดของช้าง และทำการทดลองภาคสนามเพื่อประเมินอุปนิสัยของช้าง โดยแบ่งเป็นการวางวัตถุแปลกใหม่ การเล่นเสียงผ่านลำโพงควบคุมระยะไกล การติดตั้งกระจกเงาขนาดใหญ่ และการติดตั้งอุปกรณ์การแก้ไขปัญหาแบบกลุ่ม ซึ่งผลการศึกษาวิจัยนี้จะทำให้เกิดความเข้าใจพฤติกรรมของช้างป่าที่เข้ามาทำลายพืชไร่มากขึ้น สามารถนำไปสู่การพัฒนายุทธศาสตร์ที่ใช้แก้ปัญหาความขัดแย้งเพื่อให้ช้างป่าและคนในท้องที่อยู่ร่วมกันได้ 

ดังนั้นการเข้าพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระเพื่อดำเนินกิจกรรมใดๆ ให้เกิดสิ่งปลูกสร้างด้วยอุปกรณ์ขนาดใหญ่และมีระยะเวลานาน ถือเป็นการรบกวน ตลอดจนมีวงรอบหากินแนวเดิมด้านนอกพื้นที่ป่าอนุรักษ์ การดำเนินดังกล่าวเป็นข้อกังวลว่าจะเป็นปัจจัยการกระตุ้นให้ช้างป่ารับรู้ว่าพื้นที่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระถูกรบกวน อาจอพยพย้ายฝูงออกมาพื้นที่นอกชายป่า เมื่อพบเจอกับพืชเกษตรที่มีความสมบูรณ์ทั้งด้านปริมาณและรสชาติ เช่น อ้อย กล้วย มันสำปะหลัง จนนำพาฝูงออกมาหากินและอาศัยภายนอกพื้นที่ ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งที่ยากต่อการแก้ไขการดำเนินการใดๆ จึงต้องมีความรอบคอบมองรอบด้านทั้งปัญหาระสั้นและระยะยาว 

นอกจากโครงการศึกษาวิจัยชนิดพันธุ์สัตว์ป่าที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ที่อยู่ระหว่างการดำเนินโครงการนั้น ที่ผ่านเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นพื้นที่ศึกษาความหลากหลายทางระบบนิเวศที่สำคัญอีกหลายชนิด เช่น การศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมของหมี การศึกษาชนิดกระรอกหลากสี การศึกษามดต่างถิ่น การเก็บข้อมูลค้างคาวในพื้นที่ การศึกษาความหนาแน่นของหมาในและชนิดพันธุ์เหยื่อ การวางแปลงถาวรเพื่อศึกษาความหลากหลายของชนิดป่าในพื้นที่ และมีแผนจะดำเนินการสำรวจทรัพยากรป่าไม้ (inventory) ทั่วพื้นที่ ฯลฯ