เหตุผลและข้อกังวลถึงโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีฯ 

เหตุผลและข้อกังวลถึงโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีฯ 

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ลงพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ ตามคำเชิญของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและข้อมูลตามที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีข้อคัดค้านโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์เพื่อบรรเทาภัยแล้งในพื้นที่ด้านตะวันออกของอ.บ่อพลอย และพื้นที่อ.ห้วยกระเจา และอ.เลาขวัญ จ.กาญจนบุรี 

สทนช.เสนอผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ ไปตามท่อส่งน้ำขนาด 4.20 ม. เจาะทะลุจากหน่วยพิทักษ์ป่าแม่ละมุ่นด้านตะวันตก ผ่านกลางป่าสลักพระระยะทางประมาณ 20.53 กม. ไปออกที่หน่วยพิทักษ์ป่าลำอีซู ซึ่งอยู่ด้านตะวันออก โดยการดำเนินโครงการจะต้องระเบิดเปิดพื้นที่หัวงานและท้ายงานเพื่อติดตั้งเครื่องเจาะด้านละประมาณ 50 ม. ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน จากนั้นจึงใช้เครื่องเจาะผ่านใต้พื้นที่ป่าสลักพระซึ่งเป็นเทือกเขาสลับซับซ้อนตอนบนของตัวทุ่งนามอญพื้นที่อยู่อาศัยสำคัญของสัตว์ป่า ระยะเวลาเตรียมการ 2 ปี ก่อสร้างประมาณ 5 ปี งบประมาณก่อสร้าง 12,000 ล้านบาท (ยังไม่รวมค่าเสียโอกาส)

เบื้องต้นมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ได้ให้ความเห็นในการหารือครั้งนี้

1. มูลนิธิสืบฯ ไม่เห็นด้วยกับการพิจารณาคัดเลือกทางเลือกในการดำเนินโครงการดังกล่าว ซึ่งเดิมกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เคยเสนอให้โครงการฯ ศึกษาทางเลือกที่เหมาะสมและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผืนป่าสลักพระ โดยพิจารณาเลือกเส้นทางอ้อมลงด้านล่างของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ แม้ระยะทางเพิ่มมากขึ้น แต่จะลดผลกระทบกับสัตว์ป่าในพื้นที่ได้

2. ข้อกังวลที่กิจกรรมการก่อสร้างจะกระทบต่อสัตว์ป่าในพื้นที่ เนื่องจากปัจจุบันสัตว์ป่าใน ขสป.สลักพระ มีการฟื้นฟูประชากรสัตว์ป่าโดยธรรมชาติเอง และการปล่อยสัตว์ป่าที่เคยมีอยู่ให้กลับคืนสู่ธรรมชาติ เช่น ละมั่ง วัวแดง จนเกิดความอุดมสมบูรณ์ จากการมีส่วนร่วมการทำงานของหน่วยงานต่างๆ ช่วยสนับสนุน และประชาชนในพื้นที่เองมาช่วยกันดูแลพื้นที่กับเจ้าหน้าที่ของ ขสป.สลักพระ

ด้านบนของขสป.สลักพระ ติดกับเขตห้ามล่าสัตว์ป่าศรีสวัสดิ์ อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์และอุทยานแห่งชาติเฉลิมรัตนโกสินทร์ เชื่อมต่อกับป่าทุ่งใหญ่ ห้วยขาแข้งทางด้านบน ทำให้มีสัตวป่าเดินทางเคลื่อนย้ายไปมาในผืนป่าตะวันตกตอนล่างแห่งนี้อย่างเช่น เสือโคร่ง ช้างป่า กระทิง

กิจกรรมการระเบิดและขุดเจาะใต้ดิน อาจจะส่งผลต่อสัตว์ป่า รวมถึงจะเพิ่มปัญหาสัตว์ป่า เช่น ช้าง ที่จะออกไปนอกพื้นที่ป่าจนเป็นปัญหากับชุมชนบริเวณนั้นมากขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากบริษัทที่ปรึกษาร่วมกับสทนช.ได้ช่วยให้ข้อมูลและตอบข้อซักถามครั้งนี้เป็นอย่างดีเข้าใจถึงความพยายามจะลดผลกระทบต่อผืนป่าและสัตว์ป่าในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด

3. แต่เนื่องจากยังมีประเด็นข้อคิดเห็นต่าง รวมถึงข้อเสนอแนะ ที่ต้องใช้เวลารวบรวม วิเคราะห์ข้อมูลให้ชัดเจน มูลนิธิสืบฯ จึงเสนอให้มีการประชุมร่วมกับผู้แทนกรมอุทยานฯ เพื่อนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนอีกครั้ง เช่น มิติความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ การพัฒนาทางเลือกในการจัดการน้ำและการทำเกษตรที่เหมาะสมในพื้นที่ ฯลฯ โดยเบื้องต้นนัดหมายกันที่ สทนช. ต้นเดือนมีนาคมนี้

หมายเหตุ : เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกของประเทศไทย ประกาศเมื่อปี 2508 พื้นที่รวมประมาณ 536,594 ไร่ เป็นหนึ่งในกลุ่มพื้นที่อนุรักษ์ที่ต่อเนื่องกันเป็นป่าผืนใหญ่ ที่เรียกว่า ผืนป่าตะวันต