เสวนา จากทับลานถึงเขาใหญ่ ผืนป่าที่ถูกเฉือน ?

เสวนา จากทับลานถึงเขาใหญ่ ผืนป่าที่ถูกเฉือน ?

สิทธิและที่ดินทับซ้อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศเป็นปัญหาที่คาราคาซังต่อเนื่องมาอย่างยาวนานของประเทศไทย แม้จะมีแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหานี้ให้เสร็จสิ้นเป็นที่ยุติได้จนถึงปัจจุบัน

อุทยานแห่งชาติทับลาน ได้รับการประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 39 เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2524 โดยมีเนื้อที่ประมาณ 1,400,000 ไร่ เป็นอุทยานฯ ที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 2 ของประเทศ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติกลุ่มป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ในปี 2548 แต่พื้นที่อุทยานฯ บางส่วนได้ทับซ้อนที่ดินของประชาชนและบางหน่วยงานราชการ จนกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งเรื่องสิทธิและที่ดินในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยพยายามแก้ไขปัญหาดังกล่าว และในช่วงต้นทศวรรษ 2540 คณะรัฐมนตรีได้มีมติในวันที่ 22 เมษายน 2540 ให้ใช้แนวทางปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติ รวมทั้งที่ทับลาน และเป็นที่มาของการรังวัดเตรียมการ “แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543”

หากแต่ในเวลาหนึ่งปีต่อมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติยกเลิกแนวทางดังกล่าว และให้ใช้แนวทางพิสูจน์สิทธิในที่ดินแทน ผ่านมติ ครม. 30 มิถุนายน 2541 ซึ่งได้รับการดำเนินการผ่านนโยบายที่สำคัญฯ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายต่างๆ มารองรับ ในเวลาต่อมา รวมทั้งนโยบายที่ดินแห่งชาติของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ก่อนที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะรับเรื่องเรียนจากราษฎร และนำเสนอแนวทางการปรับปรุงแนวเขตอุทยานฯ มาใช้เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาเฉพาะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานอีกครั้งในปี 2561 เป็นต้นมา

รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ได้ตัดสินใจเชิงนโยบายผ่านการออกมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2564 รับข้อเสนอของผู้ตรวจการแผ่นดิน และมีมติเห็นชอบอีกครั้ง เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 ผ่านการนำเสนอของ คทช. เรื่องผลการดำเนินการปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ และปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ (One map) ที่ให้ดำเนินใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 พื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดปราจีนบุรี

การปรับแนวเขตดังกล่าว จะส่งผลให้มีการกันพื้นที่ป่าที่มีปัญหาทับซ้อนออกจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานมากถึง 265,286.58 ไร่ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จะรับไปดำเนินการต่อไป ซึ่งการแก้ไขปัญหาแนวทางนี้ไม่สอดคล้องกับนโยบายและการดำเนินงานที่ผ่านมา และอาจเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุนจากการซื้อขายเปลี่ยนมือของที่ดินไปแล้ว และจะกลายเป็นบรรทัดฐานที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ที่มีปัญหาการทับซ้อนในลักษณะเดียวกันนี้ทั่วประเทศ

ในการประชุมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2567 ได้มีการบรรจุมติครม. 14 มีนาคม 2566 ว่าด้วยการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามเส้นรังวัดในปี 2543 เป็นวาระเรื่องเพื่อทราบ ซึ่งถือเป็นการข้ามขั้นตอน “การให้ข้อเสนอแนะอย่างละเอียดรอบคอบ” ของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562

เรื่องการแบ่งแนวเขตในพื้นที่ทับซ้อน กลายเป็นปัญหาใหญ่ ที่ถูกพูดกันอย่างกว้างขวางอีกครั้งจากเกิดกรณี ‘พิพาทการทับซ้อนที่ดินของพื้นที่ ส.ป.ก. ระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่’ เมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา โดยมีการออกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4-01 ตามนโยบายรัฐ ในเขตพื้นที่บ้านเหวปลากั้ง ต.หมูสี อ.ปากช่อง ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานฯ เขาใหญ่

ย้อนความเป็นมา สำหรับที่ดิน ส.ป.ก. เคยถูกปลดล็อกการใช้ที่ดินเพิ่มเติม จากวัตถุประสงค์เดมมาแล้วหลายครั้ง โดยในสมัยรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ตามคำสั่ง คสช.ที่ 31/2560 ให้กิจการด้านพลังงาน 3 ประเภท ได้แก่ กิจการเหมืองแร่ ผลิตปิโตรเลียมและผลิตไฟฟ้าจากกังหันลม สามารถเข้าใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินได้ หลังจากนั้น ‘ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า’ รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ขณะนั้น 

ได้ลงนามประกาศอนุญาตให้ใช้ที่ดิน ส.ป.ก. เพื่อกิจการอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเพิ่มเติม ในวันที่ 28 ตุลาคม 2563 และมีผลบังคับใช้ทันที ซึ่งกิจการที่ปรากฏในบัญชีแนบท้ายประกาศนั้น ครอบคลุมกิจการต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยวัตถุประสงค์เพิ่มเติมไปจากเดิมจนกระทั่งนำมาแปลงเป็นโฉนดในที่สุด ให้เป็นมือได้ จำหน่ายจ่ายโอนได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ที่กำหนด

การตัดสินใจเชิงนโยบายครั้งใหม่ และการดำเนินการทางกฎหมายเพื่อผลักดันข้อเสนอแนวทางการปรับปรุงแนวเขตและกันพื้นที่ป่าออกจากป่าอนุรักษ์ เพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิ และที่ดินทับซ้อนในอุทยานแห่งชาติทับลาน และการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ในพื้นที่อนุรักษ์ นำมาสู่การตั้งคำถามมากมายจากองค์กรอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สื่อมวลชน และสาธารณชน ถึงความย้อนแย้งทางนโยบายและการปฏิบัติตามกฎหมายของฝ่ายนโยบายและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตลอดจนความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าของประเทศครั้งใหญ่ และความเหลื่อมล้ำในการดำเนินการที่จะซ้ำเติมความขัดแย้งในหมู่ประชาชนและกับรัฐเอง

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร และองค์กรพันธมิตร จึงร่วมกันจัดเวทีเสวนา ‘จากทับลานถึงเขาใหญ่’ ผืนป่าที่ถูกเฉือน ? เพื่อเป็นสื่อกลางเสนอเรื่องราวปัญหาทับซ้อนของที่ดินรัฐและประชาชน และสร้างการรับรู้ของสังคม พร้อมสำรวจความคิดเห็น เชิงการสร้างกระบวนการแก้ไขร่วม โดยเฉพาะการหานัยยะหรือวิเคราะห์ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหาก ‘ทับลานและเขาใหญ่’ ต้องสูญเสียพื้นที่อนุรักษ์ อันจะส่งผลโดยตรงกับ ‘ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่’ ระบบนิเวศสำคัญของชาติ อันมีสถานะเป็น ‘ผืนป่ามรดกโลก’ นำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน ระหว่างผู้แทนฝ่ายนโยบาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการแบ่งแนวเขต เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาการทับซ้อนกันของที่ดินรัฐในภาพรวมของประเทศ ถึงความเหมาะสมของการวางนโยบายและแนวทางจัดการบนพื้นที่ที่มีสภาพปัญหาซับซ้อนหลายรูปแบบ

คณะผู้จัดงานฯ จึงขอเชิญท่านและเครือข่ายร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนในเวทีเสวนา จากทับลานถึงเขาใหญ่ ผืนป่าที่ถูกเฉือน ? ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 13.00 – 17.00 น. ณ ห้องประชุม SEA JUNCTION ชั้น 4 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)  

กำหนดการ

13.00 น. ลงทะเบียน

13.20 – 13.30 น. แนะนำเวที

13.30 – 14.30 น. Overview : ทับซ้อนสู่เพิกถอน? ปัญหาที่ดินทับซ้อนในพื้นที่อนุรักษ์ 

  • กรณีปัญหาที่ดินทับซ้อนอช.ทับลาน อช.เขาใหญ่ และพื้นที่อนุรักษ์ ทั่วประเทศ โดย นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
  • กระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อน และการพิจารณาของคณะกรรมการอุทยานฯ ครั้งที่ผ่านมา และที่เกิดประเด็น เมื่อการอยู่ในวาระเพื่อทราบ เรื่อง การปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 โดย คุณภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร
  • นัยยะหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับพื้นที่ป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ และสถานะการเป็นมรดกโลก โดย รศ.ดร.นันทชัย พงศ์พัฒนานุรักษ์ ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

14.30 – 16.30 น. ภาพรวมปัญหาสิทธิและที่ดินทับซ้อนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และแนวทางการแก้ไขปัญหาทั่วประเทศ

  • นโยบายการแก้ปัญหาที่ดินทับซ้อนในพื้นที่ป่าไม้ของรัฐ (คทช.) และการกลับมาใช้แนวทางปรับปรุงแนวเขตและเพิกถอนพื้นที่ป่าของอุทยานฯ โดย ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (อยู่ระหว่างการตอบรับ) และ ผู้แทนกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (อยู่ระหว่างการตอบรับ) 
  • ข้อเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหาต้อกรณีทับลาน สภาพปัญหาทั่วประเทศและการเดินหน้าออกโฉนดเพื่อการเกษตร โดย รศ.ดร.ธนพร ศรียากูล ผู้อำนวยการสถาบันวิเคราะห์การเมืองและนโยบาย
  • นัยยะของเคสทับลานและพื้นที่อนุรักษ์อื่นๆ ต่อปัญหาภาพรวมและแนวทางแก้ปัญหาตามมาตรา 64 พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ในการแก้ไขปัญหาที่ดินของราษฎรในเขตป่าอนุรักษ์ โดย คุณภาณุเดช เกิดมะลิ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

16.30 – 17.00 น. แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของวิทยากรและผู้ที่มาร่วมเวที 

ดำเนินรายการ โดย คุณกมล สุกิน บรรณาธิการ Green News

ถ่ายทอดสดผ่านทาง