โครงการปรับปรุงแพทางน้ำ หน่วยพิทักษ์ป่า (ชั่วคราว) ถ้ำเจียร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จ.สุราษฎร์ธานี

โครงการปรับปรุงแพทางน้ำ หน่วยพิทักษ์ป่า (ชั่วคราว) ถ้ำเจียร์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จ.สุราษฎร์ธานี

ที่มาและความสำคัญ

ป่าคลองแสง ในอดีตเป็นป่าดิบชื้นพื้นใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ลุ่มน้ำคลองแสง ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาสายใหญ่ของแม่น้ำตาปี มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยชนิดพืชพรรณ และสัตว์ป่า จึงได้รับการประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง เมื่อ พ.ศ. 2517 มีอาณาเขตครอบคลุมท้องที่ตำบลตะกุกเหนือ อำเภอวิภาวดี และตำบลเขาพัง ตำบลไกรสร อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี มีเนื้อที่ 772,500 ไร่ ต่อมาได้มีพราะราชกฤษฎีกาการเพิกถอนพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง 3 ครั้ง โดยครั้งแรกในปี พ.ศ. 2526 เนื้อที่ 49,875 ไร่ เพื่อก่อสร้างเขื่อนรัชชประภาหรือเขื่อนเชี่ยวหลาน ครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2528 เนื้อที่ 31 ไร่ และครั้งที่ 3 ในปี พ.ศ. 2529 เนื้อที่ 526 ไร่ รวม 50,472 ไร่ เพื่อก่อสร้างโรงงานไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนเชี่ยวหลาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ปัจจุบันเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงมีเนื้อที่ 722,068 ไร่ 

ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสูงชัน สลับซับซ้อนในแนวเทือกเขาภูเก็ต ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 60 – 1,395 เมตร ยอดเขาสูงสุด คือ เขาหลังคาตึก สภาพพื้นที่ด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นที่สูงลาดลงสู่ตะวันออกเฉียงใต้ เป็นแหล่งกำเนิดของลำน้ำ ลำห้วย หลายสาย ได้แก่ คลองแสง คลองควน คลองใหญ่ คลองหยา คลองมอญ คลองโหลง และคลองมุย โดยทั้งหมดไหลลงสู่อ่างเก็บน้ำเขื่อนรัชชประภา ที่มีระดับกักเก็บน้ำที่ 78 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และมีแนวน้ำท่วมจากทิศใต้ไปยังแนวลำห้วยคลองแสงผ่านพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสงขึ้นไปจนสุดแนวเขต จ.สุราษฎร์ธานี  เป็นที่อยู่อาศัยของ ช้าง กระทิง วัวแดง และกวางซึ่งนับว่าเป็นพื้นที่ป่ามีความสมบูรณ์สำคัญของภาคใต้

สภาพปัญหาในปัจจุบัน เนื่องจากที่ผ่านมาเเพทางน้ำ หน่วยพิทักษ์ป่า (ชั่วคราว) ถ้ำเจียร์ ได้มีการใช้งานมาแล้วมากกว่า 30 ปี นับตั้งแต่ครั้งที่หัวหน้าสืบ นาคะเสถียร ได้เป็นหัวหน้าโครงการช่วยเหลือสัตว์ป่าตกค้างในพื้นที่อ่างเก็บน้ำโครงการเขื่อนเชี่ยวหลานนั้น ณ ปัจจุบันยังคงมีการใช้งานอยู่เเต่มีสภาพที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จึงจำเป็นต้องปรับปรุงใหม่เกือบทั้งหลัง เพื่อให้กลับมาใช้งานได้อย่างเต็มรูปแบบ และไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ฯ ผู้ใช้งาน โดยแพทางน้ำนี้ทำหน้าที่เสมือนเกราะป้องกันภัยคุกคามที่แอบแฝงมาทางสายน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีเจ้าหน้าที่อยู่ประจำในการปฏิบัติหน้าที่ตรงจุดนี้

วัตถุประสงค์

1. เพื่อให้แพทางน้ำเป็นพื้นที่ดูแลทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า ในบริเวณดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

2. เพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีขวัญกำลังใจ และมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

3. เพื่อการมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาผืนป่าได้อย่างยั่งยืน

ที่ตั้ง

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง 45 หมู่ที่ 3 ต.เขาพัง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี

งบประมาณดำเนินการ

งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น 230,000 บาท (สองแสนสามหมื่นบาทถ้วน) แบ่งเป็น

ค่าวัสดุอุปกรณ์ 220,000 บาท

ค่าดำเนินการขนส่ง 10,000 บาท 

รูปแบบและขนาดของแพทางน้ำ

มีลักษณะเป็นอาคารพื้นด้านล่างเป็นทุ่นลอยน้ำ ประกอบไปด้วยโซนสำนักงาน โซนห้องพักเจ้าหน้าที่ 2 ห้องและห้องน้ำ จำนวน 1 หลัง โครงสร้างทำด้วยเหล็ก ตัวอาคารแลพื้นทำด้วยวัสดุไม้ หลังคามุงเมทัลชีท

ระยะเวลาในการดำเนินงาน

ระยะเวลาในดำเนินการปรับปรุง ครั้งที่ 1 มกราคม – กุมภาพันธ์ 2567

ระยะเวลาในการดำเนินการปรับปรุง ครั้งที่ 2 มีนาคม – เมษายน 2567

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. สามารถดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ และสัตว์ป่า ในบริเวณดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และสามารถใช้เป็นที่พักของเจ้าหน้าที่ฯ ได้

2. เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีขวัญกำลังใจและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

3. เกิดการมีส่วนร่วมในการปกป้องดูแลรักษาผืนป่าอย่างยั่งยืน

ผู้รับผิดชอบโครงการ

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร 140 ถนนติวานนท์ ต.บางกระสอ อ.เมือง จ.นนทบุรี 11000

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง 45 หมู่ที่ 3 ต.เขาพัง อ.บ้านตาขุน จ.สุราษฎร์ธานี 84230

ผู้ประสานงานโครงการ

น.ส.เกศรินทร์ เจริญรักษ์ หัวหน้าฝ่ายงานผู้พิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียร โทร 097-2489717 อีเมล [email protected]

แผนที่แสดงพื้นที่หน่วยพิทักษ์ป่าต่างๆ ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง

ผู้เขียน

+ posts

ถ่ายภาพเพื่อบันทึกเรื่องราว และบางคราวก็เอาภาพมาเล่าเรื่อง มีความสุขกับการดริปกาแฟ และชื่นชมแคตตัส