โลกยิ่งร้อน การเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติยิ่งอันตราย เสี่ยงโดนอะมีบากินสมองมากขึ้น 

โลกยิ่งร้อน การเล่นน้ำตามแหล่งน้ำธรรมชาติยิ่งอันตราย เสี่ยงโดนอะมีบากินสมองมากขึ้น 

อากาศร้อน ๆ อย่างนี้ถ้าได้ลงเล่นน้ำเย็น ๆ ก็คงจะดี แต่ใช่ว่าแหล่งน้ำทุกที่จะปลอดภัยเสมอไป เนื่องจากขณะนี้ ‘อะมีบา’ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจ้อยกำลังเติบโตได้ขึ้นมากขึ้นในภาวะโลกร้อน ซึ่งพวกมันอาจเข้าไปทำลายสมองคุณ จนเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่วัน 

อะมีบา คืออะไร 

อะมีบา (Amoeba) สัตว์เซลล์เดียวประเภทโปรโตซัว​ (protozoa) ชนิดหนึ่ง เราไม่สามารถมองเห็นมันได้ด้วยตาเปล่า โดยพวกมันจะมีขนาดตัวที่ใหญ่กว่าแบคทีเรียเล็กน้อย อะมีบาสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศด้วยการแบ่งตัวจากหนึ่งเป็นสอง 

อะมีบาบางชนิดสามารถก่อให้เกิดโรคและอันตรายต่อมนุษย์ได้ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอะมีบาที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ อาทิ แหล่งน้ำ ดิน หรือโคลนเลน โดยมีอยู่ด้วยกัน 2 สายพันธ์ุ คือ สายพันธุ์เนจีเรีย ฟาวเลอรี่ (Naegleria fowleri) และสายพันธุ์อะคันธามีบา (Acanthamoeba) 

สายพันธุ์เนจีเรีย ฟาวเลอรี่ ถูกพบเป็นครั้งในปี พ.ศ. 2526 และยังพบในประเทศเขตร้อนหรือเขตอบอุ่นเกือบทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยพบได้จากการสำรวจแหล่งน้ำในหลายจังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา สุรินทร์ อุบลราชธานี และศรีสะเกษ นอกจากนี้ยังมีเพิ่มเติมจากปทุมธานีและสมุทรปราการ ซึ่งพบได้ตามแหล่งน้ำขังในเขตอุตสาหกรรมทั่วไปด้วย 

อะมีบาสายพันธุ์ดังกล่าว สามารถเจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิสูงถึง 45 องศาเซลเซียส พวกมันสามารถพบได้ตามแหล่งน้ำโดยทั่วไป ยกเว้นน้ำกร่อยหรือน้ำทะเล 

ในส่วนของสายพันธุ์อะคันธามีบา ถูกพบครั้งแรก พ.ศ. 2501 สามารถพบได้เกือบทั่วโลก ส่วนในประเทศไทยมีการสำรวจพบจากแหล่งน้ำธรรมชาติ จังหวัดนครราชสีมา สามารถพบได้ตามแหล่งน้ำ ดิน และโคลนเลนเช่นเดียวกับสายพันธุ์เนจีเรีย ฟาวเลอรี่ แต่ที่ต่างกันคือ สามารถพบได้ในน้ำกร่อยและน้ำทะเลด้วย โดยจะเจริญเติบโตได้ดีที่สุดที่อุณหภูมิ 25 – 35 องศาเซลเซียส 

แล้วอะมีบาเข้าไปทำลายสมองได้อย่างไร

อะมีบาสายพันธุ์เนจีเรีย ฟาวเลอรี่สามารถเข้าสู่ร่างกายของมนุษย์ได้ด้วยการสำลักน้ำ หรือหายใจเอาฝุ่นที่มีเชื้อเข้าไป โดยพวกมันจะผ่านเข้าไปยังสมองด้วย ส่วนต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกับสมอง และจะค่อย ๆ แบ่งตัวเพิ่มมากขึ้น เมื่อพวกมันได้เข้าสู่สมองของมนุษย์แล้ว จัส่งผลต่อเนื้อสมองและเยื่อหุ้มสมองเกิดการอักเสบ และถูกทำลายในที่สุด 

จากรายงานผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง อายุไม่เยอะ และมีประวัติว่ายน้ำ ซึ่งก่อนเกิดอาการ 2 – 3 วัน หรืออาจยาวนานถึง 14 วัน ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการคัดจมูก เจ็บคอ และการรับกลิ่นค่อย ๆ เสียไป ระยะถัดมาผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง เริ่มมีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง หลังแข็ง และชัก และระยะสุดท้าย ผู้ป่วยจะเริ่มไม่รู้สึกตัว ไม่มีสติ และเสียชีวิตภายใน 1 – 2 วันถัดมา 

ด้านสายพันธุ์อะคันธามีบาสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ผ่านทางผิวหนัง ตา และระบบทางเดินหายใจ โดยพวกมันจะทำให้เกิดการระคายเครืองที่ผิวหนัง เกิดโรคตามผิวหนัง และตาอักเสบ ซึ่งจะติดเชื้อที่ไซนัสร่วมด้วย ส่วนการติดเชื้อที่สมองนั้น คาดว่าเชื้อมาตามกระแสเลือด 

จากรายงานผู้ติดเชื้อมักเป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยที่มีภูมิต้านทานต่ำ ส่วนในผู้ที่สุขภาพแข็งแรงมีโอกาสติดเชื้อเช่นกันแต่จะน้อยกว่า โดยระยะฟักตัวของอะมีบาชนิดนี้ไม่แน่นอน อาจจะ 2 – 3 วัน นานกว่า 10 วัน หรืออาจนานเป็นเดือน ระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายไข้หวัด เจ็บคอ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน และมีอาการเหมือนอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ระยะถัดมาจะมีอาการคล้ายโรคฝีหรือเนื้องอกในสมอง ร่วมกับอาการชัก สับสน ประสาทหลอน มึนงง และเสียชีวิตหลังจากเริ่มมีอาการดังกล่าวราว ๆ 3 สัปดาห์ 

แม้การติดเชื้ออะมีบาจะเป็นกรณีที่พบได้ยาก แต่เราก็ไม่ควรประมาท เพราะหากได้รับเชื้ออะมีบาแล้ว โอกาสที่เราจะรอดนั้นมีน้อยมาก ปัจจุบันอัตราการเสียชีวิตจากการติดเชื้อสูงถึง 97 เปอร์เซ็นต์ อย่างไรก็ดี ถ้าหากเราได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วโอกาสรอดชีวิตก็มีเช่นกัน 

แล้วโลกร้อนเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคนี้ได้อย่างไร

ตามที่กล่าวไปข้างต้นถึงอะมีบาสายพันธุ์เนจีเรีย ฟาวเลอรี่ ที่สามารถเติบโตได้ในอุณหภูมิที่ 45 องศาเซลเซียส ก็เป็นการบอกเป็นนัย ๆ กับเราแล้วว่า แม้โลกจะร้อนขึ้น แหล่งน้ำจะอุ่นขึ้นพวกมันก็สามารถดำรงอยู่ได้ ซึ่งในหลายพื้นที่ทั่วโลกเริ่มมีการกระจายตัวของพวกมันเข้าไปในพื้นที่ที่พวกมันไม่เคยอยู่มาก่อนด้วย ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกาที่จะพบพวกมันแค่ทางตอนใต้ของประเทศ แต่ล่าสุดสามารถพบพวกมันได้ทางตอนเหนือแล้ว สาเหตุมาจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้พวกมันแพร่กระจายไปทางตอนเหนือที่เคยมีอุณหภูมิต่ำกว่านี้ได้

นอกจากนี้ การที่อุณหภูมิโลกเราสูงขึ้น ยิ่งทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ง่ายมากยิ่งขึ้นด้วย อย่างในพื้นที่แห้งแล้งที่มีแหล่งน้ำน้อย เชื้อโรคก็จะกระจุกตัว แล้วยิ่งมนุษย์ต้องใช้น้ำในการอุปโภคและบริโภค ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการรับเชื้อโรคหรืออะมีบามากขึ้น 

ความน่ากลัวของการที่โลกร้อนขึ้นยังไม่หมดเท่านี้ การที่อุณหภูมิสูงขึ้นนั้นเป็นตัวเร่งทำให้พบเจอเชื้อโรคหรือแบคทีเรียที่มนุษย์อาจไม่เคยเจอมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ที่เคยหนาวเย็น อาจต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะอาจต้องเผชิญกับเชื้อโรคที่ไม่คุ้นเคยมาก่อน 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความน่ากลัวของภาวะโลกร้อน และความอันตรายของอาการสมองอักเสบจากอะมีบา หลังจากนี้ไม่ว่าจะทำกิจกรรมอะไร พวกเราคงต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น เพราะโลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ และหากยังไม่รีบหาทางป้องกัน บอกได้เลยว่าเราอาจต้องเผชิญกับสิ่งที่เลวร้ายกว่านี้แน่นอน 

อ้างอิง 

ภาพประกอบ

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ