เคยสงสัยกันไหม? ทำไม ‘แร้ง’ ถึงหัวโล้น 

เคยสงสัยกันไหม? ทำไม ‘แร้ง’ ถึงหัวโล้น 

อย่างที่ทุกคนทราบกันดีว่า ‘แร้งเป็นสัตว์กินซาก’ หรือเทศบาลประจำผืนป่า ผู้ที่ทำหน้าที่ทำความสะอาดสิ่งแวดล้อม เก็บกวาดซากอินทรียวัตถุที่เน่าเปื่อย คอยกำจัดเชื้อโรคที่อยู่ในซากสัตว์ ตัดวงจรการเกิดโรคระบาด เกิดการหมุนเวียนเป็นวัฏจักร ถ่ายทอดพลังงาน และคงความสมดุลให้กับระบบนิเวศ 

แร้งจะกินเฉพาะ ‘ซากสัตว์ที่ตายแล้วเท่านั้น’ ซึ่งต่างจากสัตว์ชนิดอื่นที่สามารถเป็นได้ทั้งผู้ล่าและสัตว์กินซาก ด้วยเหตุผลข้อนี้ จึงทำให้นกในกลุ่มแร้งมีวิวัฒนาการที่มีความจำเพาะต่อพฤติกรรมการกินเช่นนี้ 

แร้ง มีสายตาที่ยอดเยี่ยม และมีระบบประสาทในการดมกลิ่นที่ดี เพื่อใช้ในการค้นหาซากสัตว์ขณะบิน ลักษณะกรงเล็บและจะงอยปากจะไม่ค่อยแข็งแรงมากนัก เมื่อเทียบกับกลุ่มนกเหยี่ยว เนื่องจากพวกมันไม่ใช่สัตว์นักล่า และไม่จำเป็นต้องต่อสู้กับศัตรูอื่นเพื่อแย่งชิงเหยื่อกัน 

แร้งจะมีพฤติกรรมการกินโดยมักจะอยู่รวมกันเป็นฝูง และบินวนไปรอบ ๆ ที่มีซากสัตว์ เพื่อรอจังหวะลงมากิน จากนั้นจะก้มหัวลงและใช้จะงอยปากฉีกเนื้อออกมา หลังจากเสร็จสิ้นมื้ออาหาร แร้งจะใช้เวลาที่เหลือไปกับการไซ้ขน กางปีก และผึ่งแดด เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่อาจจะติดมากับซากสัตว์นั้น 

จึงทำให้นกในกลุ่มแร้งจะมีลักษณะอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ‘ไม่มีขนบนหัว’ เนื่องจากบริเวณจะงอยปากและหัว จะเป็นจุดที่สัมผัสกับซากสัตว์โดยตรง การที่ไม่มีขนบนหัว จึงเป็นการป้องกันเศษซากสัตว์ แบคทีเรีย และเชื้อโรคต่าง ๆ ซึ่งอาจเป็นพาหะนำโรค ไม่ให้เกาะติดตามขนและเข้าไปยังรูขุมขน ที่อาจทำให้แร้งติดเชื้อได้ 

และด้วยลักษณะจำเพาะของสัตว์กินซาก ในร่างกายของแร้งจึงมีความพิเศษในเรื่องของระบบย่อยอาหาร โดยในกระเพาะอาหารจะประกอบไปด้วยน้ำย่อยที่มีความเป็นกรดรุนแรง และโปรโตซัวที่มีความแข็งแกร่ง คอยกัดกินแบคทีเรียและเชื้อโรคต่าง ๆ ช่วยลดการแพร่กระจายของโรคระบาดในสัตว์ป่า เช่น โรคปากและเท้าเปื่อย โรคพิษสุนัขบ้า และตัดวงจรการขยายพันธุ์ของเชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในตัวสัตว์ป่านั้น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นให้หมดไป 

ทำให้เกิดการหมุนเวียนของห่วงโซ่อาหารที่เป็นหัวใจสำคัญของระบบนิเวศ ผืนป่าเกิดการหมุนเวียนพลังงาน ความสมดุล และคงไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ 

หากมีแร้งในบริเวณใด แสดงว่าบริเวณนั้นจะต้องมีซากสัตว์ นั่นหมายถึงการมีอยู่ของสัตว์ผู้ล่าในบริเวณนั้น ชี้ให้เห็นว่า นกในกลุ่มแร้งนี้ คือสิ่งมีชีวิตอีกหนึ่งชนิด ที่เป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศในป่าใหญ่ได้ 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว