ยิ่งย่นยิ่งเย็น! เพราะผิวหนังเหี่ยวย่นของ ‘ช้าง’ ไม่ได้บ่งบอกถึงแค่อายุ แต่หมายถึงความสามารถในการรักษาอุณหภูมิด้วย

ยิ่งย่นยิ่งเย็น! เพราะผิวหนังเหี่ยวย่นของ ‘ช้าง’ ไม่ได้บ่งบอกถึงแค่อายุ แต่หมายถึงความสามารถในการรักษาอุณหภูมิด้วย

‘ผิวหนังเหี่ยวย่น แสดงว่าแก่แล้ว’ ทฤษฎีนี้อาจใช้ไม่ได้เสมอไป โดยเฉพาะกับ ‘ช้าง’ การที่มีผิวหนังเช่นนี้ นั่นหมายถึงความสามารถในการรักษาอุณหภูมิภายในร่างกาย ยิ่งรอยย่นมาก ก็จะยิ่งกักเก็บโคลน และความชื้นไว้ในรอยย่นได้มากขึ้น ทำให้อุณหภูมิในร่างกายของช้างลดลง   

ช้าง เป็นสัตว์ที่มีผิวหนังที่หนา ไม่มีต่อมไขมันและต่อมเหงื่อบริเวณนี้ (ต่อมเหงื่ออยู่บริเวณโคนเล็บเท้า) เมื่ออุณหภูมิภายในร่างกายสูงขึ้น เราจึงมักเห็นพฤติกรรมของช้างที่ชอบเล่นน้ำ คลุกโคลน เอาดินและหญ้ามาปกคลุมตามร่างกาย นอกจากเป็นการปกป้องผิวหนังแล้ว ยังทำให้พวกมันรู้สึกเย็นสบายมากขึ้น   

เพื่อเป็นการเพิ่มพื้นที่ผิวสัมผัส และช่วยกักเก็บความชื้นมากยิ่งขึ้น ผิวหนังของช้างจึงมีลักษณะเป็น ‘รอยย่นสลับซับซ้อน’ เพื่อเพิ่มพื้นที่การกักเก็บโคลน ไม่ให้โคลนไหลออกจากผิว รักษาอุณหภูมิให้กับร่างกาย อีกทั้งยังช่วยกักเก็บน้ำ ทำให้น้ำระเหยออกไปช้าลงได้มากถึง 10 เท่า เมื่อเทียบกับผิวหนังที่เรียบเนียน 

และจากงานวิจัยยังพบอีกว่า ผิวหนังที่เหี่ยวย่นจะยิ่งเพิ่มมากเมื่อช้างมีอายุมากขึ้น จากการที่ผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (Epidermis) ที่ก่อตัวหนามากยิ่งขึ้นจนแตกเป็นรอยย่น แต่นั่นก็จะยิ่งช่วยเพิ่มการรักษาอุณหภูมิในร่างกายให้ลดลงด้วย ‘ยิ่งรอยย่นเพิ่มมากขึ้น ยิ่งทำให้ช้างรู้สึกเย็นขึ้น และนานขึ้น’ นั่นเอง 

ซึ่งลักษณะผิวหนังเช่นนี้มักเกิดขึ้นในช้างป่าแอฟริกา (African Elephant) เนื่องจากถิ่นที่อยู่อาศัยอยู่ในระบบนิเวศแบบป่าเขตร้อน มีปริมาณน้ำฝนน้อย และมีความร้อนสูง ช้างป่าแอฟริกาจึงมีวิวัฒนาการของผิวหนังให้มีรอยย่นสลับซับซ้อน เพื่อเอาตัวรอดในสภาพแวดล้อมอันแห้งแล้งนี้ไปได้ 

จึงทำให้ลักษณะผิวหนังที่ย่นนี้ มักไม่พบในช้างป่าเอเชีย (Asian Elephant) หรือมีรอยย่นที่น้อยกว่าช้างป่าแอฟริกา เนื่องจากพวกมันอาศัยอยู่ในป่าเขตร้อนชื้น และเข้าถึงแหล่งน้ำในการคลายร้อนได้มากกว่า รอยย่นจึงอาจจะไม่ได้มีประโยชน์มากนักในช้างป่าเอเชีย 

การที่ผิวหนังมีรอยย่นสลับซับซ้อนไปมา จึงเป็นมากกว่าแค่การบ่งบอกอายุ แต่ลักษณะทางกายภาพนี้ยังบอกถึงแหล่งกำเนิด ถิ่นที่อยู่อาศัย การจำแนกชนิด และวิวัฒนาการของสัตว์ป่า การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับผิวหนังอันน่าทึ่งของช้าง อาจต่อยอดไปถึงงานอนุรักษ์ในอนาคตได้ 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

สาวแว่นทาสแมวที่ชอบบอกเล่าเรื่องราวผ่านลายเส้น มีธรรมชาติช่วยฮีลใจ และหลงใหลในพระจันทร์เสี้ยว