โศกนาฎกรรมทะเลสาบสงขลา เมื่อเราสูญเสีย ‘โลมาอิรวดี’ เพิ่มอีกหนึ่งตัว 

โศกนาฎกรรมทะเลสาบสงขลา เมื่อเราสูญเสีย ‘โลมาอิรวดี’ เพิ่มอีกหนึ่งตัว 

เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพจ Facebook ของ ThaiWhales ได้โพสต์ข้อความแจ้งข้าวร้ายเกี่ยวกับการสูญเสียโลกมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาไป 1 ตัว จาก 14 ตัวสุดท้าย 

ข่าวเศร้าที่สุด

ลุงนวย อุทัย ยอดจันทร์ ชมรมอนุรักษ์โลมาอิรวดี vdo call มาแต่หัวเช้าวันนี้ และถามว่าเราอยู่ไหน อยู่สงขลามั๊ย และถ่ายมาเจอภาพนี้ 

เราสูญเสียโลมาอิรวดี #TheLast14 ไปอีกหนึ่งตัวแล้ว 

ลุงนวยคงเห็นเราหน้าเสีย เลยบอกเราว่าอย่าเศร้าไปเลย เรานึกในใจว่าลุงนวยที่ช่วยเจ้าหน้าที่เก็บข้อมูลเรื่องโลมาในทะเลสาบสงขลานี้มาไม่ต่ำกว่า 30 ปี ทั้งการพบเห็น และการพบซากโลมากี่ครั้งแล้วที่ลุงนวยต้องพูดคำนี้กับตัวเอง “อย่าเศร้าไปเลย” 

ในขณะที่ชาวบ้าน ชาวประมง เครือข่ายคนรักโลมา รวมถึงเจ้าหน้าที่จากหลายๆทีม กำลังเป็นกังวลและพยายามหาทางช่วยดูแลโลมาและฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา เวลาของโลมา 14 ตัวสุดท้าย ก็เหลือน้อยลงทุกวัน

คุณลุงนวยแจ้งเจ้าหน้าที่ทช. และ เขตห้ามล่าแล้ว รอผลชันสูตรจากทีมสัตวแพทย์อีกทีค่ะ 

ขอบคุณ – คุณลุงนวย อุทัย ยอดจันทร์ ที่ส่งข่าวและส่งข้อมูลมาให้ค่ะ เป็นกำลังใจให้ลุงและเจ้าหน้าที่ทุกคนนะคะ

นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์เศร้าท้ตอกย้ำความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ในชะตากรรมอันเปราะบางของฝูงโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา ส่งผลให้ความหวังในการฟื้นฟูประชากรโลมาในทะเลสาบสงขลานั้นริบหรี่ลงทุกขณะ 

โลมาอิรวดี ถือเป็นสัตว์น้ำหายากของประเทศไทย เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่มีเสน่ห์และใกล้สูญพันธุ์ที่สุดในปัจจุบัน ประชากรโลมาที่มีลักษณะเฉพาะนี้โดดเด่นด้วยหน้าผากโปนและจะงอยปากสั้น ส่วนสาเหตุที่เรียกชื่อนี้เพราะมีการพบเจอโลมาน้ำจืดชนิดนี้ครั้งแรกในแม่น้ำอิรวดี ประเทศเมียนมาร์ เลยเรียกว่า ‘โลมาอิรวดี’ โดยมีถิ่นอาศัยอยู่เพียง 5 แห่งบนโลกของเรา ซึ่งหนึ่งในนั้นอาศัยอยู่ในทะเลสาบสงขลา แหล่งน้ำจืดที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของจังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช และจังหวัดพัทลุง และยังเป็นทะเลสามน้ำที่มีทั้งพื้นที่น้ำเค็ม น้ำกร่อย และน้ำจืด

ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมามีโลมาอิรวดีตายไปแล้วกว่า 140 ตัว ถานการณ์ปัจจุบันของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลานั้นเข้าขั้นวิกฤติเนื่องจากเหลือไม่เพียงกี่สิบตัวเท่านั้น 

ความตายของโลมา สาเหตุหลักมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่รบกวนถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ ผ่านวิถีการทำประมงที่เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนที่ชาวประมงส่วนใหญ่ก็ใช้เครื่องมือจับปลาในรูปแบบประมงพื้นบ้าน เพราะทะเลสาบสงขลาจะมีแต่ปลาน้ำจืดขนาดเล็ก และจะไม่มีผลกระทบต่อการเป็นอยู่ของโลมาอิรวดีแต่อย่างใด แต่เมื่อกรมประมงมีโครงการปล่อยพันธุ์ปลาสวายและปลาบึกลงสู่ทะเลสาบ เพื่อเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำและสร้างรายได้ให้แก่ชาวประมงใน 3 จังหวัด การทำประมงของชาวบ้านบางส่วนก็เปลี่ยนไป จากที่เคยใช้เครื่องมือจับปลาเล็ก ก็หันมาลงทุน สร้างเครื่องมือจับปลาขนาดใหญ่ มาวางเพื่อจับปลาสวายและปลาบึกในทะเลสาบกันเป็นจำนวนมาก อวนที่ดักไว้กลางทะเลข้ามวันข้ามคืน จะมีโลมาส่วนหนึ่ง ว่ายหากินไปติดอวนดักปลาบึกของชาวประมงและถูกทิ้งให้ตายติดอวน

อีกทั้งยังเกิดจากจำนวนอาหารที่ลดลง ตะกอนจากบนบกไหลลงสู่แหล่งน้ำในปริมาณที่มากเกินไปส่งผลให้น้ำตื้นเขิน นอกจากนี้ด้วยจำนวนประชากรที่มีอยู่น้อยนิดจะนำไปสู่สภาวะเลือดชิดทำให้เกิดการผสมพันธุ์กันในเครือญาติส่งผลให้โลมารุ่นใหม่มีความอ่อนแอทางพันธุกรรม ผลกระทบเหล่านี้กำลังทำให้โลมาอิรวดีเลือนหายไปจนเหลือเพียงแค่ตำนานในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า 

เรื่องราวของโลมาอิรวดีไม่ได้เป็นเพียงเรื่องราวอันน่าหดหู่ของเจ้าโลมาสุดแสนหายากนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียกร้องให้มนุษยชาติต้องประเมินความสัมพันธ์ระหว่างธรรมชาติอีกครั้ง และการดำเนินกิจกรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันมากกว่าการครอบงำ ความจำเป็นสำหรับแนวทางการอนุรักษ์แบบองค์รวม ซึ่งรวมถึงการปกป้องที่อยู่อาศัย การมีส่วนร่วมของชุมชน และแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนที่สามารถอยู่ร่วมกับวิถีชีวิตในท้องถิ่นได้

เมื่อเราก้าวไปข้างหน้า ชะตากรรมของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลาจะเป็นข้อพิสูจน์ถึงความสามารถของเราในการสร้างสมดุลระหว่างความต้องการของมนุษย์กับความจำเป็นในการอนุรักษ์ เพื่อให้สายพันธุ์โลมานี้ได้แหวกว่ายในแหล่งน้ำถิ่นอาศัยของมันผ่านความงดงามตามธรรมชาติของมันมากกว่าเป็นอนุสรณ์อิฐปูนที่ไร้ลมหายใจเพื่อให้เราระลึกถึงมัน 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia