มีอะไร ในงานรำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร (ตอนที่ 1)

มีอะไร ในงานรำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร (ตอนที่ 1)

วันที่ 1 กันยายน ในปีนี้ เป็นวาระครบรอบ 28 ปี การจากไปของ สืบ นาคะเสถียร

มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในฐานะองกรค์ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อสืบสานเจตนาของ สืบ นาคะเสถียร ยังคงจัดกิจกรรมเพื่อรำลึกถึงเรื่องราวการต่อสู้เพื่อรักษาผืนป่าและสัตว์ป่าของสืบดังเช่นที่ดำเนินการจัดกิจกรรมต่อเนื่องมาทุกปี

โดยกิจกรรม รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร ในปีนี้ จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 7-9 กันยายน 2561 ที่ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร กิจกรรมเริ่มตั้งแต่เวลา 10.30 น. จนถึง 20.00 น. ของทุกวัน

แน่นอนว่า ในปีนี้เรายังคงไว้ซึ่งการเผยแพร่เนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับ สืบ นาคะเสถียร งานอนุรักษ์ สถานการณ์สิ่งแวดล้อม และเรื่องราวแรงบันดาลใจ เพื่อหวังว่าเวทีรำลึก สืบ นาคะเสถียร จะจุดประกายให้สาธารณชนหันมาสนใจเรื่องราวการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกันมากยิ่งขึ้น

ในที่นี้ จะขอเล่าถึงภาพรวมของเนื้อหา ที่ผู้สนใจจะได้พบในงาน รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร ว่าแต่ละวันมีเรื่องราวอะไรบ้าง

 

วันศุกร์ที่ 7 กันยายน 2561 แรงบันดาลใจในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของคนรุ่นใหม่

งานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องเป็นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ไม่จำเป็นว่าต้องทำงานในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช หรือทำงานในกรมป่าไม้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็น NGO แต่เราเชื่อว่า ทุกคนสามารถมีส่วนในการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้

ในปีที่ผ่านมาๆ เราได้เชิญบุคลากรที่ทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ ที่ใช้เวลาส่วนหนึ่งของหน้าที่การงานทำงานเพื่อสิ่งแวดล้อมไปด้วยในทางหนึ่ง แต่ในปีนี้ มูลนิธิสืบฯ ได้เชิญคนกลุ่มหนึ่งที่ใช้ความตระหนักถึงความสำคัญทางด้านสิ่งแวดล้อม นำมาพัฒนาเข้ากับทักษะของตัวเอง เพื่อสร้างผลงานและอาชีพ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม หรืออาจกล่าวได้ว่ากลุ่มคนเหล่านี้ คือ ผู้ที่ทำงานและประกอบอาชีพเพื่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงในอีกมิติหนึ่ง

พวกเขาเป็นใครกันบ้าง วิทยากรที่ตอบรับมาร่วมกิจกรรม รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร เรียบร้อยแล้ว ประกอบไปด้วย คุณศิรชัย อรุณรักษ์ติชัย ช่างภาพสารคดีที่ถ่ายทอดเรื่องราวด้านธรรมชาติเป็นหลัก ทีมงานกลุ่ม Nature Plearn Club คุณชาญฉลาด กาญจนวงศ์ เจ้าของแบรนด์ Grey Ray ผลิตภัณฑ์เครื่องเขียนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คุณสุภัชญา เตชะชูเชิด หุ้นส่วนร้าน Refill Station ร้านเล็กๆ ที่เป้าหมายเพื่อลดขยะที่ไม่จำเป็นออกไปจากโลก นอกจากพวกเขาเหล่านี้ ยังมีวิทยากรท่านอื่นๆ ที่อยู่ระหว่างการประสานงานและรอการตอบกลับ

ทั้งหมดนี้ จะมาเล่าเรื่องราวแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีในวันข้างหน้า เป็นเวทีทอล์คโชว์เดี่ยว มีเวลาพูดคนละ 30 นาที

 

วันเสาร์ที่ 8 กันยายน 2561 แนวคิดที่สืบต่อ ถอดบทเรียนงานที่สานต่อจากสืบ นาคะเสถียร

วันที่ 2 ของงาน รำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร มูลนิธิสืบฯ ขอชวนทุกท่านร่วมรำลึกถึงเรื่องราวของ คุณสืบ นาคะเสถียร แต่การรำลึกในปีนี้ เราจะไม่กล่าวถึงว่าคุณสืบ เคยทำอะไรมาบ้าง แต่เราจะชวนคุยถึงงานที่คุณสืบเคยทำ วันนี้ได้รับการสานต่อไปถึงไหน

มูลนิธิสืบฯ ได้กำหนดหัวข้อสำหรับชวนกลุ่มนักอนุรักษ์ในสังกัดต่างๆ มาร่วมเสวนา แลกเปลี่ยนประเด็นการทำงานอนุรักษ์ที่ครั้งหนึ่ง คุณสืบเคยทำงานนั้นมาก่อน มีด้วยกัน 4 เรื่องราว ประกอบไปด้วย

อนาคตกวางผา ตัวแทนการอยู่รอดของสัตว์ที่ติดเกาะ กวางผาเป็นหนึ่งในงานวิจัยที่คุณสืบ เคยทำเมื่อครั้งอดีต โดยเดินทางไปศึกษาที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอมก๋อย ในวันนี้สถานะของกวางผาเป็นอย่างไร สัตว์ป่าที่มีถิ่นอาศัยในพื้นที่จำกัดสามารถรักษาเผ่าพันธุ์ของตัวเองให้อยู่รอดได้อย่างไร เรามีคำตอบอยู่ในงาน

หัวข้อต่อมา อนาคตผู้พิทักษ์ป่า กับมูลนิธิผู้พิทักษ์ป่า หลายท่านคงทราบว่า คุณสืบ นาคะเสถียร เป็นผู้ที่ให้ความสำคัญต่อพนักงานพิทักษ์ป่าที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในป่ามาก คุณสืบพยายามดูแล ช่วยเหลือ ให้พนักงานพิทักษ์ป่า หรือลูกน้องของตัวเองให้มีสวัสดิภาพ สวัสดิการที่ดี ซึ่งมูลนิธิสืบฯ ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องพิทักษ์ป่า โดยได้ก่อตั้งกองทุนเพื่อผู้พิทักษ์ป่าเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าขึ้นมาเป็นภารกิจแรกๆ ของการทำงาน และพยายามผลักดันเชิงนโยบายเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของผู้พิทักษ์ป่าเข้ามาดูแลเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าได้ด้วยตัวเอง ซึ่งในวันนี้ได้เกิดมูลนิธิเพื่อผู้พิทักษ์ป่าขึ้นมาแล้ว จากนี้ต่อไป เรื่องราวของผู้พิทักษ์ป่าจะได้รับการดูอย่างไร ชวนมาหาคำตอบได้ในงาน

สถานะมรดกโลกประเทศไทยในปัจจุบัน ประเด็นนี้ถือเป็นงานลำดับท้ายๆ ของคุณสืบ ที่ได้เขียนรายงานเพื่อเสนอให้ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ได้รับการรับรองจากยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ อันเป็นหลักประกันที่ทั่วโลกยอมรับและเราจำเป็นต้องดูแลพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น ในหัวข้อนี้เราจะมาพูดคุยกันว่า สถานะทางมรดกโลกที่เป็นอยู่เป็นอย่างไร และประเทศไทยจะสามารถรักษาและเพิ่มพื้นที่มรดกโลกธรรมชาติไว้ได้อย่างไร

หัวข้อสุดท้ายของ แนวคิดที่สืบต่อ ถอดบทเรียนงานที่สานต่อจากสืบ นาคะเสถียร คือ ความสำคัญงานวิจัย ที่นำไปใช้ในงานอนุรักษ์ กับนักวิจัยรุ่นใหม่

ในช่วงชีวิตของ สืบ นาคะเสถียร ได้ทำงานวิจัยไว้หลายชิ้น ซึ่งงานวิจัยของคุณสืบได้ถูกนำไปต่อยอดในงานต่างมากมาย คุณสืบ เป็นตัวอย่างของคนทำงานอนุรักษ์ที่แสดงให้เห็นว่า งานวิจัยนั้นมีความสำคัญต่อการดูแลรักษาผืนป่าและสัตว์ป่าอย่างไร ซึ่งความเป็นนักวิจัยของคุณสืบ ได้เป็นต้นแบบให้แก่คนที่เข้ามาทำงานอนุรักษ์ได้มาทำงานวิจัย ซึ่งมูลนิธิสืบฯ จะชวนมาฟังกันว่า งานวิจัยมีความสำคัญต่องานอนุรักษ์มากแค่ไหน และทำไมเราต้องทำงานวิจัยเช่นเดียวกับที่ สืบ นาคะเสถียร ต้องทำในอดีต ผ่านกรณีศึกษางานวิจัยเรื่องเสือโคร่งในประเทศไทย

กิจกรรมของวันที่ 2 นี้ จะเป็นเวทีเสวนา เวลา 1 ชั่วโมง

 

วันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2561 รายงานสถานการณ์สิ่งแวดล้อมไทย

กิจกรรมวันสุดท้ายจะเป็นการชวนผู้เข้าร่วมงานมาอัพเดทสถานการณ์สิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นภายในประเทศ โดยในปี 2561 นี้ มูลนิธิสืบฯ ได้เลือกหัวข้อที่จะมาพูดคุย ประกอบไปด้วย นวัตกรรมโดรนเพื่องานอนุรักษ์ กล้อง Ncap กับการดูแลรักษาป่า การค้าสัตว์ป่าออนไลน์ เหตุผลของการปิดพื้นที่อนุรักษ์เพื่อการฟื้นฟูธรรมชาติกรณีอ่าวมาหยา และโมเดลการจัดการขยะพลาสติก

กิจกรรมวันสุดท้ายนำเสนอในรูปแบบเวทีทอล์คโชว์เดี่ยว มีเวลาพูดคนละ 30 นาที

 

ที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นเนื้อหาที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้พบในงานรำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร แต่ไม่ทั้งหมดที่จะนำเสนอภายในงาน

งานรำลึก 28 ปี สืบ นาคะเสถียร ยังมีกิจกรรมและเนื้อหาอีกหลายส่วนให้ผู้เข้าร่วมงานได้เรียนรู้เรื่องราวของงานอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ส่วนจะมีอะไรอีกบ้าง มูลนิธิสืบฯ จะมานำเสนอให้ทราบในตอนต่อไป