เปิดขึ้นทะเบียนสัตว์น้ำ 12 ชนิดในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง

เปิดขึ้นทะเบียนสัตว์น้ำ 12 ชนิดในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง

12 มิถุนายน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอรายชื่อสัตว์น้ำหายากใกล้สูญพันธุ์ 12 ชนิด เพื่อให้เข้าไปอยู่ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 โดยมีผลบังคับใช้หลัง 60 วัน นับตั้งแต่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา

กฎกระทรวง กำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 ลงวันที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2561 โดยอาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ออกกฎกระทรวง เพิ่มสัตว์ป่าคุ้มครองลำดับที่ 15 – 26 ของสัตว์ป่าจำพวกปลา ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองท้ายกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ. 2546 ประกอบด้วย

ลำดับที่ 15 ปลากระเบนปีศาจครีบโค้ง (Mobula thurstoni)
ลำดับที่ 16 ปลากระเบนปีศาจครีบสั้น (Mobula kuhlii)
ลำดับที่ 17 ปลากระเบนปีศาจแคระ (Mobula eregoodootenkee)
ลำดับที่ 18 ปลากระเบนปีศาจหางหนาม (Mobula japanica)
ลำดับที่ 19 ปลากระเบนแมนต้าแนวประการัง (Manta alfredi)
ลำดับที่ 20 ปลากระเบนแมนต้ายักษ์ (Manta birostris)
ลำดับที่ 21 ปลากระเบนราหูน้ำจืด หรือ ปลากระเบนเจ้าพระยา (Himantura chaophraya)
ลำดับที่ 22 ปลาโรนิน หรือ ปลากระเบนท้องน้ำ (Rhina ancylostoma)
ลำดับที่ 23 ปลาฉนากเขียว (Pristis zijsron)
ลำดับที่ 24 ปลาฉนากปากแหลม (Anoxypristis cuspidata)
ลำดับที่ 25 ปลาฉนากฟันเล็ก (Pristis pectinata)
ลำดับที่ 26 ปลาฉนากยักษ์ (Pristis pristis)

เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ เนื่องจากเป็นสัตว์ป่าที่มีจํานวนลดลงมาก และยังไม่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ประกอบกับประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งชนิดพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ (Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora (CITES)) จึงมีพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาที่กําหนด ให้ประเทศสมาชิกต้องมีมาตรการในการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าอย่างเหมาะสม จึงจําเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้

ซึ่งจากการขึ้นทะเบียนสัตว์น้ำทั้ง 12 ชนิด กรมประมงในฐานะหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยข้อมูลด้านการค้าสัตว์น้ำหายาก และใกล้สูญพันธุ์ ควบคุม ตรวจสอบ ออกใบอนุญาต ใบรับรองต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขภายใต้กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงขอแจ้งประชาชนว่า หากท่านใดครอบครองสัตว์น้ำดังกล่าว ทั้งที่มีชีวิตหรือมีซากไว้ครอบครอง รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องทำการแจ้งการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราว ซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยปฏิบัติตามประกาศกรมประมง เรื่อง แบบและวิธีการแจ้งการครอบครอง แบบหนังสือกำกับการจำหน่าย การนำพยานเอกสารหรือหลักฐานมาพิสูจน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การออกใบอนุญาตให้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราว การออกใบรับรองการครอบครองซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทาจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2558 อย่างไรก็ดี การเพาะพันธุ์ปลากระเบนราหูน้ำจืดนั้น ต้องดำเนินการแจ้งขอเพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครองด้วย

สำหรับการแจ้งการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราว ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ขอให้ประชาชนที่ครอบครองพันธุ์สัตว์น้ำตามที่ประกาศในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ได้จัดเตรียมเอกสาร หลักฐานการได้มา ภาพถ่าย หรือสิ่งอื่นใดที่สามารถยืนยัน เพื่อนำมาแจ้งครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยสามารถแจ้งการครอบครองสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 รวมถึงการแจ้งขอเพาะพันธุ์ปลากระเบนราหูน้ำจืดหรือปลากระเบนเจ้าพระยา ณ ท้องที่ที่ครอบครอง ในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถแจ้งได้ที่ กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง เกษตรกลาง เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร สำหรับในท้องที่จังหวัดอื่นๆ สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดในท้องที่นั้นๆ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2561 – 29 พฤศจิกายน 2561

ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ แบบและวิธีการแจ้งการครอบครอง  https://www4.fisheries.go.th/local/file_document/20180720114517_1_file.PDF