“พ่อค้าโพสต์ขายเนื้อฉลามหนามออนไลน์” ทช. ชี้ไม่ผิดกฎหมาย แต่เร่งคุ้มครอง ไม่งั้นอาจไม่เหลือรอดในระบบนิเวศ  

“พ่อค้าโพสต์ขายเนื้อฉลามหนามออนไลน์” ทช. ชี้ไม่ผิดกฎหมาย แต่เร่งคุ้มครอง ไม่งั้นอาจไม่เหลือรอดในระบบนิเวศ  

ประเด็นทางทะเลกลับมาอีกครั้ง เมื่อพ่อค้าออนไลน์โพสต์ขายเนื้อฉลามหนาม ทำให้ทช. เร่งตรวจสอบที่มาที่ไป

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา มีข่าวการซื้อขายปลาฉลามหนาม Echinorhinus brucus ผ่านเพจเฟซบุ๊ก “แพปลาลุงนิล ภูเก็ต” ซึ่งเป็นปลาที่จับได้บริเวณห่างจากฝั่งของเกาะราชาน้อยไปทางทิศใต้ประมาณ 40 ไมล์ทะเล 

แน่นอนว่ากระแสโลกออนไลน์เมื่อได้เห็นโพสต์ดังกล่าว ทั้งคนในโลกออนไลน์และนักอนุรักษ์ต่างออกมาแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เป็นห่วงเป็นใยต่อสถานการณ์ดังกล่าว เนื่องจากฉลามหนามถือเป็นสัตว์ทะเลที่หายาก แทนที่พวกมันจะว่ายน้ำอวดความสวยงามในทะเล แต่กลับถูกจับมาขายเป็นอาหารสำหรับพวกชอบทานของแปลก นอกจากนี้โลกออนไลน์ยังกังวลต่อความสำคัญของฉลามหนามต่อธรรมชาติ เนื่องจากพวกมันมีความสำคัญต่อความสมดุลของระบบนิเวศ  

วันที่ 19 พฤษภาคม นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (รรท.อทช.) มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 10 เร่งดำเนินการตรวจสอบข้อมูล  

จากการประสานเพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า ชาวประมงได้มีการจับฉลามหนามในเขตทะเลที่ห่างออกไปจากชายฝั่งประมาณ 40 ไมล์ทะเล จึงถือว่าไม่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายทั้งในแง่ของพื้นที่และชนิดพันธุ์แต่อย่างใด  

ทั้งนี้ ทช.ก็กังวลต่อสถานการณ์ของชนิดพันธุ์ฉลามดังกล่าว จึงเร่งประชาสัมพันธ์ไปยังชาวประมง นักตกปลา และนักท่องเที่ยว รวมถึงประชาชนทั่วไป ว่า ถ้าเผลอจับฉลามชนิดได้ ขอให้ปล่อยพวกมันไป และไม่ควรนำเนื้อมาบริโภคอย่างยิ่ง เนื่องจากพวกมันมีสารปรอท แคดเมียม สารหนู ซึ่งถ้าหากสะสมในร่างกายมาก ๆ อาจส่งผลต่อโรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับหัวใจ หลอดเลือด และโรคเกี่ยวกับระบบประสาทได้  

นายอภิชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า ฉลามหนามพบได้ทั่วไปในบริเวณน้ำลึก 400-900 เมตร แต่อาจพบได้บริเวณน้ำตื้นเป็นครั้งคราว แพร่กระจายตัวทั่วโลกในเขตร้อนถึงเขตอบอุ่น 

อย่างไรก็ดีประชากรฉลามหนามนั้น มีจำนวนลดลงจนใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง จึงจัดให้เป็นสัตว์ทะเลหายากและมีความสำคัญต่อระบบนิเวศอย่างมาก เนื่องจากพวกมันเป็นสัตว์นักล่าในอันดับต้น ๆ พวกมันจะกินสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ที่กินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร ทำให้เกิดความสมดุลในความหลากหลายของระบบนิเวศในพื้นที่ต่าง ๆ นอกจากนี้ฉลามยังถือเป็นตัวบ่งชี้ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำในบริเวณนั้นด้วย  

ผลักดันให้เปลี่ยนสถานะของฉลามหนามสู่สัตว์คุ้มครอง  

ถึงแม้ว่าปัจจุบันฉลามหนามยังไม่ใช่สัตว์คุ้มครองตามกฎหมายก็ตาม แต่ทช.พร้อมกับกรมประมงกำลังหาแนวทางในการดำเนินการอนุรักษ์ฉลามหนามอยู่ ตลอดจนเร่งศึกษาสถานภาพของฉลามพันธุ์ดังกล่าว เพื่อเตรียมเสนอให้เป็นสัตว์คุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และออกแบบมาตรการในการอนุรักษ์เชิงพื้นที่  

นายอภิชัยกล่าวว่า “ขณะนี้ทช.อยู่ในระหว่างจัดทำพื้นที่คุ้มครองทางทะเลบริเวณไหล่ทวีปฝั่งตะวันตกของจังหวัดภูเก็ตและอันดามันตอนบน ถ้าหากเสร็จแล้วจะช่วยรักษาแหล่งที่อยู่อาศัยของฉ,มหนามและปลาหายากชนิดอื่น ๆ ได้”  

นอกจากฉลามหนามแล้วทช.ยังได้รับร้องเรียนจากประชาชนมายังเพจเฟซบุ๊กของกรมฯด้วยว่า พบการจำหน่ายปลานกแก้ว บริเวณตลาดเงินวิจิตร แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร จึงได้สั่งการให้สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 8 ร่วมกับกองป้องกันและปราบปรามลงพื้นที่ตรวจสอบพบมีการจำหน่ายปลากนกแก้วจำนวน 5 ร้าน  

จึงได้เข้าไปพูดคุยถึงข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง พร้อมประชาสัมพันธ์และรณรงค์ร่วมกันไม่สนับสนุน ไม่ซื้อ ไม่รับประทานปลานกแก้ว เนื่องด้วยปลานกแก้วนั้นช่วยสร้างสมดุลระบบนิเวศแนวปะการัง  

แม้ว่าจะยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองปลาฉลามหนามและปลานกแก้วอย่างจริงจัง แต่อยากให้ตระหนักถึงความสำคัญของปลาทั้งสองชนิดต่อระบบนิเวศทางทะเลด้วย หากไม่อนุรักษ์พวกมันเอาไว้ อาจสร้างความเสียหายแก่ความสมดุลของระบบนิเวศทางทะเลได้  

ท้ายที่สุดทช. จึงขอความร่วมมือจากประชาชนว่า หากตกปลาทั้งสองชนิดได้ให้ปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ และไม่ควรสนับสนุนซื้อขายมารับประทาน เพราะฉะนั้นเราต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้เจ้าหน้าที่ เพื่อไม่ให้สัตว์เหล่านี้หายไปจากระบบนิเวศ หากพบเบาะแสการจับหรือจำหน่ายสามารถโทร 1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเจ้าหน้าที่จะเร่งประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบได้ทันท่วงที  

อ้างอิง  

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ