คลื่นความร้อนทุบสถิติทั่วเอเชีย ความโหดร้ายในโลกใบที่ร้อนกว่าเดิม

คลื่นความร้อนทุบสถิติทั่วเอเชีย ความโหดร้ายในโลกใบที่ร้อนกว่าเดิม

เอเชียยังคงเผชิญกับคลื่นความร้อนที่แสนระอุ ขณะที่เหล่านักวิทยาศาสตร์ภูมิอากาศต่างพยากรณ์ว่ายังมีอีกหลายปีที่ร้อนยิ่งกว่านี้รอเราอยู่ในอนาคต ปรากฎการณ์เอลนีโญทำให้อุณหภูมิฝั่งซีกโลกใต้พุ่งสูงทะลุปรอท นับเป็นสัญญาณที่น่ากังวลของประเทศในซีกโลกเหนือที่จะต้องเผชิญกับฤดูร้อนในอีกไม่ช้า

เวียดนามมีรายงานว่าอุณหภูมิสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์คือ 44.2 องศาเซลเซียส นำไปสู่การส่งสัญญาณเตือนว่าเสี่ยงที่จะเกิดไฟฟ้าดับ ที่ฟิลิปปินส์ก็ต้องลดชั่วโมงเรียนหลังจากดัชนีความร้อนแตะระดับ “อันตราย” ซึ่งสะท้อนระดับความร้อนและความชื้นที่ส่งผลให้มนุษย์เสี่ยงต่อการเสียชีวิต

อุณหภูมิที่ร้อนสุดขั้วและรูปแบบวิกฤติภูมิอากาศขั้นรุนแรงในช่วงหลายปีให้หลังส่งสัญญาณว่าโลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่ระบบภูมิอากาศที่เราไม่คุ้นเคย สภาพอากาศที่เลวร้ายกลายเป็นบททดสอบความสามารถของรัฐบาลในการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนและป้องกันไม่ให้เกิดหายนะในภาคการเกษตรและการผลิตพลังงาน ท่ามกลางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวอย่างช้าๆ จากการระบาดของโควิด-19

เอลนีโญ คือปรากฎการณ์ที่กระแสน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกมีอุณหภูมิสูงขึ้น ปรากฎการณ์นี้ส่งผลอย่างมากต่อรูปแบบภูมิอากาศทั่วโลก และอาจช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งในพื้นที่อย่างประเทศอาร์เจนตินาและตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา แต่ห่มคลุมพื้นที่แถบเอเชียและออสเตรเลียด้วยสภาพอากาศที่ร้อนและแล้งยิ่งขึ้น ส่งผลให้การเพาะปลูกพืช เช่น กาแฟ น้ำตาล ปาล์มน้ำมัน และโกโก้เผชิญความเสี่ยงสูงอย่างยิ่ง

ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา อุณหภูมิในประเทศไทยยังคงอยู่เหนือระดับ 40 องศาเซลเซียสทางตอนเหนือและตอนกลางของประเทศจนเกิดพีกการใช้ไฟฟ้าสูงสุดครั้งใหม่ ขณะที่กลุ่มธุรกิจและภาคธนาคารต่างเรียกร้องให้รัฐบาลเตรียมแผนรับมือภัยแล้งที่อาจจะเกิดขึ้นและต่อเนื่องเป็นเวลาร่วมสามปี

ปริมาณน้ำฝนในมาเลเซียอาจต่ำกว่าปริมาณปกติถึง 40 เปอร์เซ็นต์ในบางพื้นที่ ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมัน สร้างความเสี่ยงต่อห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกในฐานะผู้ส่งออกปาล์มน้ำมันรายใหญ่ รัฐบาลต่างจับตามองการกลับมาอีกครั้งของไฟป่าและมลภาวะอากาศอย่างใกล้ชิด เช่นคราวปี พ.ศ. 2558 ที่เอลนีโญส่งผลให้เกิดฝุ่นควันครั้งเลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วนประเทศอื่นๆ ในแถบเอเชีย อาทิ บางพื้นที่ในจีน อินเดีย และบังคลาเทศก็เผชิญอุณหภูมิสูงลิ่วในเดือนพฤษภาคม มณฑลยูนนานแหล่งผลิตอลูมิเนียมสำคัญของตะวันตกเฉียงใต้ของจีนเผชิญปัญหาภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษเมื่อเดือนที่ผ่านมา ส่วนอินเดียก็ต้องเตรียมรับมือคลื่นความร้อนในเดือนพฤษภาคม หลังจากอุณหภูมิที่พุ่งสูงทำให้รัฐบาลตัดสินใจปิดโรงเรียนในหลายรัฐอีกด้วย

ถอดความและเรียบเรียงจาก Asia’s Record-Setting Heat Wave Demonstrates Dangers of Warming World

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก