อย่าปัดตกร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด

อย่าปัดตกร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด

พ.ร.บ.อากาศสะอาด – เครือข่ายอากาศสะอาด ยื่นหนังสือต่อตัวแทนสำนักนายกฯ ให้นายกรัฐมนตรีอย่าปัดตกร่าง ‘พ.ร.บ.อากาศสะอาด’ ฉบับประชาชน หลังถูกปัดตกมาแล้ว 2 ครั้ง

21 มิ.ย. 65 เครือข่ายอากาศสะอาด ประเทศไทย และภาคีเครีอข่ายที่เกี่ยวข้อง ได้ยื่นหนังสือต่อตัวแทนสำนักนายกรัฐมนตรี โดยมีนายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับเรื่อง บริเวณหน้าศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล โดยเรียกร้องให้นายกฯ รับรองร่างกฎหมาย พ.ร.บ.กำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ ฉบับประชาชน

ที่ผ่านมาได้มีการเสนอต่อรัฐสภามาแล้ว เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ตามกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชนกว่าสองหมื่นรายชื่อ แต่ได้รับการวินิจฉัยจากประธานสภาผู้แทนราษฎรว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน เนื่องจากต้องใช้งบประมาณในการแก้ปัญหา จึงต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีรับรอง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประกอบการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี

นอกจากร่างกฎหมายอากาศสะอาด ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาดฯ ฉบับนี้แล้ว ยังมีร่างกฎหมาย อากาศสะอาดของผู้ร่างคนอื่นอีก 4 ฉบับ โดยสองฉบับแรก นายกรัฐมนตรีไม่รับรอง (ถูกปัดตก) ไปแล้ว ได้แก่ ร่างของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และร่างของพรรคภูมิใจไทย ส่วนอีกสองฉบับอยู่ระหว่างรอการ พิจารณาจากนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้แก่ ร่างของพรรคพลังประชารัฐ และร่างของพรรคเพื่อไทย

สาวิชญ์ แก้วหวาน ตัวแทน สหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) ระบุว่า “โดยหลักการแล้วเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ที่จะต้องบริหารจัดการให้อากาศที่เราใช้สูดดมในขณะนี้ ปราศจากมลภาวะและมลพิษ แต่กระบวนการที่ผ่านมาทั้งหมด ใช้เฉพาะส่วนของรัฐเพียงอย่างเดียว ซึ่งมันไม่ครอบคลุมการบริหารจัดการ การทำให้เกิดอากาศบริสุทธิ์จำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการดำเนินการ

งบประมาณในการดูแลรักษาพยาบาลสูงขึ้นทุกปี วิธีที่จะลดค่ารักษาพยาบาลคือการป้องกัน ถ้าเราสูดอากาศไม่สะอาดก็จะทำให้เราป่วย ซึ่งมันต้องใช้มูลค่าการรักษาที่แพง แล้วลูกหลานของเราที่เติบโตขึ้นมานั้นจะมีคุณชีวิตที่ดีได้อย่างไร”

จากการศึกษาพบว่าประชาชนราว 86 เปอร์เซ็นต์ หรือราว 2.5 พันล้านคนที่อาศัยในพื้นที่เมืองทั่วโลกเผชิญกับระดับฝุ่นละออง มลภาวะอากาศ ที่ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ทำให้มีผู้เสียชีวิตส่วนเพิ่ม (excess deaths) 1.8 ล้านคนในปี พ.ศ. 2562

นอกจากนี้ ยังพบเด็กป่วยเป็นโรคหอบหืดกว่า 2 ล้านรายเนื่องจากไนโตรเจนไดออกไซด์ในปีเดียวกัน โดยผู้ป่วยดังกล่าวราว 2 ใน 3 อาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง

พ.ร.บ.อากาศสะอาด
พ.ร.บ.อากาศสะอาด
พ.ร.บ.อากาศสะอาด

ตามที่เครือข่ายอากาศสะอาดประเทศไทย ภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 22,251 รายชื่อ ได้ยื่นพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. …. ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ตามกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน ซึ่งเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

ซึ่งร่างกฎหมายนี้ได้รับการวินิจฉัยจากประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า เป็นร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการเงิน จึงต้องส่งให้นายกรัฐมนตรีรับรองตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด โดยระหว่างนี้อยู่ในระหว่างการข้อความเห็นชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบการพิจารณาของนายกรัฐมนตรี

กิจกรรมนี้ เป็นกิจกรรมเพื่อแสดงออกให้เห็นถึงความมีอยู่ของสิทธิของประชาชน และการใช้สิทธิของประชาชนในการปกป้องลมหายใจในอากาศสะอาดของตัวเองและของประชาชนทั้งปวงในภาพรวม หลังจากที่ได้เคยนำเสนอ ต่อสู้ เรียกร้องในเรื่องนี้มาอย่างยาวนานกว่า 4 ปี นับแต่ปัญหามลพิษทางอากาศและ PM 2.5 ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสาเหตุการตายก่อนวัยอันควร โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้ป่วยเรื้อรัง ผู้สูงอายุ และผู้ทำงานกลางแจ้ง

ประเด็นที่สร้างความกังวลอย่างยิ่งในเวลานี้คือ มีแนวโน้มที่นายกรัฐมนตรีจะไม่รับรองร่าง พ.ร.บ.ของเครือข่ายอากาศสะอาดฯ แต่จะรับรองร่างของพรรคการเมืองบางพรรค หรือมีแนวโน้มว่านายกรัฐมนตรีจะปัดตกร่างกฎหมายอากาศสะอาดทุกฉบับ แล้วให้รัฐบาลยกร่างขึ้นมาใหม่ โดยยึดร่างของสภาหอการค้าฯ เป็นหลัก

ข้อเรียกร้องคือ อย่าปัดตกร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด ซึ่งเป็นฉบับประชาชนเข้าชื่อและได้ศึกษาออกแบบมาอย่างรอบด้านในการแก้ปัญหาเชิงระบบ แต่ควรเปิดโอกาสให้ร่างดังกล่าวผ่านเข้าไปสู่การพิจารณาของรัฐสภา เป็นการสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน

หากรัฐบาลประสงค์จะยื่นร่างของรัฐบาลเพื่อประกบ ควรเปิดโอกาสให้ร่างทั้ง 2 ฉบับ ได้เข้าไปพิจารณาร่วมกันในรัฐสภาโดยการตั้งกรรมาธิการร่วม เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีโอกาสได้ทำหน้าที่ในการพิจารณากลั่นกรอง อภิปราย แลกเปลี่ยน และชั่งน้ำหนักเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม เพื่อกฎหมายอากาศสะอาดจะได้มีเนื้อหาสาระที่ครบถ้วน รอบด้าน บูรณาการ สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหาร ควรใช้กลไกของฝ่ายบริหารในสัดส่วนที่เหมาะสม คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นสำคัญ ให้น้ำหนักแก่ความเป็นความตายของประชาชนอยู่เหนือกว่าผลประโยชน์ของธุรกิจ หากยังมีความเห็นต่างในทิศทางการพัฒนากลไกทางกฎหมายเกี่ยวกับเรื่องนี้ ควรปล่อยให้กลไกของรัฐสภาในฐานะผู้แทนของประชาชนได้ทำหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ มากกว่าจะใช้กลไกของฝ่ายบริหาร

ขอให้นายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่ให้ความเห็นแก่นายกรัฐมนตรีพิจารณาให้รอบคอบ ถึงเหตุผลและความจำเป็นของการที่ประเทศไทยจำเป็นต้องมีอากาศสะอาด ให้ประชาชนหายใจอย่างปลอดภัย โดยอาศัยกฎหมายอากาศสะอาด ที่ไม่ใช่แค่มีชื่อหน้าปกแต่แก้ปัญหาไม่ได้

แต่ต้องเป็นกฎหมายอากาศสะอาดที่มีการจัดการเชิงระบบ เน้นการบูรณาการ และจัดการร่วมที่มองเรื่องอากาศทั้งในมิติสุขภาพและมิติสิ่งแวดล้อมควบคู่กัน สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่ใช่การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ตกอยู่ในวังวนเดิม ภายใต้โ

ครงสร้างและระบบการทำงานแบบเดิม ที่ทำให้มีความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตของประชาชนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดแบบที่เผชิญอยู่ในปัจจุบัน

พ.ร.บ.อากาศสะอาด

ผู้เขียน

+ posts

นัก (อยาก) เขียน ผู้เฝ้ามองการเปลี่ยนแปลงของสังคมผ่านภาษาและเหตุการณ์ทางเมือง