โครงการปรับปรุงระบบโซล่าเซลล์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี

โครงการปรับปรุงระบบโซล่าเซลล์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี

โครงการปรับปรุงระบบโซล่าเซลล์ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี

หลักการและเหตุผล

เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก จังหวัดกาญจนบุรี เป็น 1 ใน 3 พื้นที่ที่ถูกประกาศให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติแห่งแรกของประเทศไทย ทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของประเทศไทย ใน ต.ชะแล อ.ทองผาภูมิ และ ต.ไล่โว่ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ถูกประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร อย่างเป็นทางการในวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2517 มีเนื้อที่ทั้งสิ้นประมาณ 2,000,000 ไร่ (3,200 ตารางกิโลเมตร) โดยมีเหตุผลที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาว่า เนื่องจากป่าทุ่งใหญ่นเรศวร มีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ชุกชุมและโดยเฉพาะอย่างยิ่งเลียงผาและกระทิง ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวนและสัตว์ป่าคุ้มครองที่หาได้ยาก อาศัยอยู่อีกด้วย ฉะนั้นเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าโดยปลอดภัย และรักษาไว้ซึ่งพันธุ์ของสัตว์ป่าอันมีค่ายิ่งของประเทศ ประกอบกับบริเวณดังกล่าวมีต้นน้ำลำธารที่ควรสงวนไว้เพื่อให้มีน้ำไหลหล่อเลี้ยงลำห้วยลำธารตลอดปี และเพื่อเป็นการช่วยบรรเทาอุทกภัยอีกทางหนึ่งด้วย สมควรกำหนดที่ดินดังกล่าวให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามพระราชบัญญัติสงวนคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ซึ่งต่อมามีการผนวกพื้นที่เพิ่มเติม ทำให้พื้นที่รับผิดชอบมีมากขึ้น ในปี พ.ศ.2534 จึงได้แยกการบริหารจัดการออกเป็น 2 พื้นที่ คือ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก (อยู่ในพื้นที่จังหวัดตาก) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก (อยู่ในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี)โดยมีอาณาเขตติดต่อดังนี้

ทิศเหนือ จรดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง จังหวัดตาก

ทิศใต้ จรดอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ อุทยานแห่งชาติลำคลองงู และอุทยานแห่งชาติเขาแหลม

ทิศตะวันออก จรดเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันออก จ.ตาก

ทิศตะวันตก จรดอุทยานแห่งชาติเขาแหลม และประเทศเมียนมา

ในพื้นที่ หนึ่งล้านสามแสนกว่าไร่ ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก มีการแบ่งพื้นที่เพื่อรับผิดชอบดูแลและปกป้องทรัพยากร เป็นหน่วยพิทักษ์ป่า จำนวน 18 หน่วย จุดสกัด 7 จุด ในแต่ละหน่วยฯ และจุดสกัด จะมีเจ้าหน้าที่สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันปฏิบัติหน้าที่ลาดตระเวนป้องปรามการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้อย่างเข้มข้น ประมาณ 5-7 นาย ซึ่งถือเป็นจำนวนเจ้าหน้าที่ที่น้อยมากเมื่อเทียบกับพื้นที่รับผิดชอบ

ในปัจจุบันทุกหน่วยพิทักษ์ป่าในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกมีการใช้พลังงานจากระบบโซล่าเซลล์ เพื่อปฏิบัติงานต่างๆ และใช้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ การสื่อสารกับภายนอกจึงผ่านวิทยุสื่อสารเป็นหลัก ซึ่งต้องพึ่งพาพลังงานจากระบบโซล่าเซลล์ แต่ปัจจุบันนั้นโซล่าเซลล์มีความชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลา หลายหน่วยพิทักษ์ป่าไม่สารมารถกักเก็บพลังงานได้ ดังนั้นเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าจึงเกิดความยากลำบากในการปฏิบัติหน้าที่ โดยเฉพาะด้านการติดต่อสื่อสารและประสานงาน ทางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกจึงเห็นควรให้มีการจัดการปรับปรุงและพัฒนาระบบโซล่าเซลล์ดังกล่าว เพื่อเป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ที่จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ งานด้านการป้องกันและควบคุมไฟป่า อย่างยั่งยืนมากขึ้นต่อไปในอนาคต

วัตถุประสงค์

  • เพื่อเพิ่มและพัฒนาศักยภาพระบบโซล่าเซลล์ ในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
  • เพื่อปรับปรุง ซ่อมแซมระบบโซล่าเซลล์ ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติเพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ให้ทั่วถึงและครอบคลุมพื้นที่ล่อแหลมต่อการบุกรุก ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
  • เพื่อลด หยุดยั้ง การบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

เป้าหมาย

ปรับปรุงซ่อมแซม และพัฒนาศักยภาพระบบโซล่าเซลล์ ในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ให้สามารถใช้งานได้ตามปกติและเต็มประสิทธิภาพ

ตัวชี้วัดผลสำเร็จของโครงการ

เชิงปริมาณ

  • การกระทำผิดเกี่ยวกับกฎหมายป่าไม้ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกลดลง
  • ปริมาณครั้งการเกิดไฟป่าลดลง

เชิงคุณภาพ

  • พื้นที่ป่าไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก มีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
  • ประสิทธิภาพในการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตกเพิ่มมากขึ้น
  • เจ้าหน้าที่สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ได้เท่าทันต่อสถานการณ์ และสามารถประสานหน่วยฯสนับสนุนได้

ระยะเวลาในการดำเนินการ

หางบประมาณและดำเนินการ ช่วงเดือน ตุลาคม – ธันวาคม 2565

วิธีดำเนินการ

  • จัดทำโครงการเพื่อขออนุมัติโครงการฯ และขอสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานที่สนใจ
  • ลงพื้นที่เพื่อวางแผนการดำเนินการและประมาณค่าใช้จ่าย
  • เริ่มดำเนินการ ปรับปรุงซ่อมแซม และพัฒนาศักยภาพระบบโซล่าเซลล์

สถานที่ดำเนินการ

  • สำนักงานเขต
  • หน่วยพิทักษ์ป่าเกาะสะเดิ่ง
  • หน่วยพิทักษ์ป่าจะแก
  • หน่วยพิทักษ์ป่ามหาราช
  • หน่วยพิทักษ์ป่าตะเคียนทอง
  • หน่วยพิทักษ์ป่าทิไล่ป้า
  • หน่วยพิทักษ์ป่าทิคอง
  • หน่วยพิทักษ์ป่าสะเนพ่อง
  • หน่วยพิทักษ์ป่าสาละวะ
  • หน่วยพิทักษ์ป่าทิขุ

งบประมาณ

  • งบประมาณดำเนินการทั้งสิ้น 200,000 บาท (สองแสนบาทถ้วน)
  • ค่าวัสดุอุปกรณ์ 15,000×10 = 150,000 บาท
  • ค่าดำเนินการ 50,000 บาท

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  • งานป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ทั่วถึงและครอบคลุมพื้นที่ล่อแหลมต่อการบุกรุก ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
  • ลดปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า การลักลอบแผ้วถางพื้นที่ ใน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
  • การป้องกันและควบคุมไฟป่า สามารถจัดการและควบคุมได้ทันท่วงทีในพื้นที่

หน่วยงานรับผิดชอบ

  • เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก
  • มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ผู้ประสานงานโครงการ

น.ส.เกศรินทร์ เจริญรักษ์ หัวหน้าฝ่ายงานผู้พิทักษ์ป่า มูลนิธิสืบนาคะเสถียรโทรศัพท์ : 097-248-9717 E-mail : [email protected]

แบบสำรวจความต้องการความช่วยเหลือด้านพลังงานไฟฟ้า พื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก

แผนที่ตั้งหน่วยพิทักษ์ป่าที่ต้องการความช่วยเหลือด้านพลังงานไฟฟ้า