ไทยและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้ร่วมลงนามร่วมสร้างพื้นที่อนุรักษ์ 30 เปอร์เซ็นต์

ไทยและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไม่ได้ร่วมลงนามร่วมสร้างพื้นที่อนุรักษ์ 30 เปอร์เซ็นต์

มีความเคลื่อนไหวทั่วโลกในการพยายามผลักดันการคุ้มครองธรรมชาติโดยเชิญชวนให้ทุกประเทศให้คำมั่นว่าจะประกาศเขตอนุรักษ์ทางบกและทางทะเลอย่างน้อย 1 ใน 3 ของโลกภายในปี พ.ศ. 2573 แต่ความพยายามดังกล่าวอาจไปไม่ถึงวันเมื่อกลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งอุดมไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพกลับปฏิเสธที่จะร่วมลงนามเป็นสมาชิกในแนวร่วมดังกล่าว
.

ในเดือนนี้ได้มีการประชุมของเหล่าผู้นำกลุ่ม G7 ซึ่งเป็นชาติที่ร่ำรวย การประชุมครั้งนี้มีข้อเสนอให้ก่อตั้งแนวร่วมซึ่งมีสมาชิกประมาณ 60 ประเทศที่ให้สัญญาว่าจะอนุรักษ์พื้นที่ธรรมชาติทางบกและทางทะเลอย่างน้อย 30 เปอร์เซ็นต์ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือเรียกว่าแผน 30X30 โดยมีเป้าหมายเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสูญพันธุ์ของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์

กัมพูชาเป็นประเทศเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ลงนามเข้าร่วมกับเป้าหมายดังกล่าว ถึงแม้ว่าแนวร่วมนี้จะได้รับคำมั่นจากหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิก อาทิ ญี่ปุ่น ปากีสถาน และมัลดีฟส์

ไบรอัน โอ’ ดอนเนลล์ ผู้อำนวยการ Campaign for Nature องค์กรไม่แสวงหากำไรในสหรัฐอเมริกาได้เรียกร้องให้ผู้นำโลกร่วมลงนามเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว เขายังระบุอีกว่าการที่รัฐบาลกลุ่มอาเซียนร่วมลงนามนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง “เนื่องจากความหลากหลายทางชีวภาพที่น่าอัศจรรย์ของภูมิภาค อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่ยังต้องเผชิญแรงกดดันมหาศาล อาเซียนคือกลุ่มประเทศที่น่าจะเป็นแกนหลักสำคัญในการสนับสนุนเป้าหมาย 30X30” เขาให้สัมภาษณ์กับมูลนิธิทอมป์สัน รอยเตอร์

พื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้คิดเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ของพื้นผิวโลก แต่เป็นที่ตั้งของ 3 ใน 17 ประเทศที่ “มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงอย่างยิ่ง” ประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ กลุ่มประเทศที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงอย่างยิ่งเหล่านี้ได้รับการยกย่องในหมู่นักอนุรักษ์ว่าเป็นพื้นที่ซึ่งมีชนิดพันธุ์หลากหลาย โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างความตระหนักรู้และกระตุ้นให้เกิดความพยายามอนุรักษ์

พื้นดินและมหาสมุทรของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประกอบด้วยป่าชายเลน 35 เปอร์เซ็นต์และแนวปะการัง 30 เปอร์เซ็นต์ของโลก ขณะที่มีการค้นพบพืชและสัตว์ชนิดพันธุ์ใหม่กว่า 2,000 ชนิดในห้วงสองทศวรรษที่ผ่านมา Campaign for Nature ยังระบุอีกว่าภูมิภาคนี้คือที่อยู่อาศัยของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ 18 เปอร์เซ็นต์ของชนิดพันธุ์ทั้งหมด 

ตัวอย่างเช่นในอินโดนีเซีย เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า Rawa Singkil คือพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและเปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ของสัตว์ป่าโดยมีชื่อเล่นว่า “เมืองหลวงอุรังอุตังของโลก” ขณะที่สัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างช้างแคระนั้นก็ยังพบในป่าฝนเขตร้อนที่บอร์เนียว

อย่างไรก็ดี กลุ่มประเทศอาเซียนต่างเผชิญกับอัตราการตัดไม้ทำลายป่าที่ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ลาว และกัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศอันดับต้นๆ ที่สูญเสียพื้นที่ป่าปฐมภูมิ อ้างอิงจากสถิติการเฝ้าระวังโดย Global Forest Watch

.
ข้อตกลงสากลฉบับใหม่

เป้าหมาย 30X30 รวมอยู่ในร่างสนธิสัญญาสากลฉบับใหม่ที่มีเป้าหมายเพื่อปกป้องพืชพรรณ สัตว์ป่า และระบบนิเวศของโลก โดยจะมีการลงนามอย่างเป็นทางการในการประชุมเดือนตุลาคม ณ ประเทศจีนปีนี้

อย่างไรก็ดี ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างกำลังกระเสือกกระสนเพื่อรับมือจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับนโยบายจำกัดการระบาดที่เข้มข้น การเลิกกิจการในภาคเอกชน และการเร่งเพิ่มอัตราการฉีดวัคซีน ราวิ ชาร์มา (Ravi Sharma) อดีตผู้อำนวยการอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ มองว่าวิกฤตินี้นับเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ ของผู้ออกแบบนโยบายทำให้การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้อยความสำคัญลง นอกจากนี้การพูดคุยในระดับภูมิภาคเองก็ยังถูกเลื่อนออกไปก่อน

ในทางกลับกัน งานวิจัยหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าการอนุรักษ์ระบบนิเวศสามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคอุบัติใหม่ การลงทุนในด้านสิ่งแวดล้อมและดำเนินนโยบายฟื้นฟูเศรษฐกิจจากโควิด-19 อย่างเป็นมิตรกับโลกจะสร้างงานกว่า 395 ล้านตำแหน่ง พร้อมทั้งเป็นโอกาสทางธุรกิจมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี พ.ศ. 2573 อ้างอิงจากรายงานโดย World Economic Forum

แต่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพอาจยังไม่ชัดเจนนักในมุมมองของผู้นำทางการเมือง ผู้มีอำนาจจำนวนไม่น้อยต่างพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อนำมาประชาชนให้หลุดพ้นความยากจน มาเลเซียและอินโดนีเซียคือสองประเทศผู้ผลิตปาล์มน้ำมันอันดับต้นๆ ของโลก แต่นักสิ่งแวดล้อมก็มองว่านี่คือสาเหตุสำคัญของการตัดไม้ทำลายป่า

“ประเทศอาเซียนทราบดีว่าการดำเนินการตามแผน 30X30 จะมีนัยยะทางเศรษฐกิจและมีต้นทุนในการดำเนินการ” โทนี ลา วีนา (Tony La Viña) ทนายความสิ่งแวดล้อมชาวฟิลิปปินส์แสดงความเห็น “แน่นอนว่าความกลัวเหล่านี้มีบางส่วนที่เป็นความจริง แต่เราสามารถข้ามพ้นมันได้หากพิจารณาผลทางเศรษฐกิจในระยะยาวจากการบรรลุเป้าหมาย รวมทั้งพิจารณาโอกาสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการอนุรักษ์และวิถีชีวิตที่ยั่งยืน”

การชะลอที่จะเข้าร่วมเป้าหมาย 30X30 อาจเป็นเทคนิคหนึ่งในการขอทุนจากประเทศร่ำรวยเพื่อมาใช้ในงานอนุรักษ์ โดยมีเนื้อหาสำคัญคือการเคารพสิทธิของชุมชนดั้งเดิมที่อาศัยในพื้นที่อนุรักษ์ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดูแลทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้พัฒนานวัตกรรมด้านโครงการสิ่งแวดล้อมที่ชุมชนมีส่วนร่วม การเข้าร่วมเป้าหมาย 30X30 จะทำให้สามารถทำงานได้ง่ายยิ่งขึ้น

ลา วีนา มองว่าแรงจูงใจหนึ่งที่อาจทำให้ข้อเสนอประสบความสำเร็จคือการจ่ายเงินบางส่วนให้กับชุมชนหรือชาติพันธุ์พื้นถิ่นที่ทำหน้าที่อนุรักษ์ทรัพยากรให้พวกเรา

.
ปัญหายึดที่ดินเพื่อทำเป็นเขตอนุรักษ์

อารี รอมพาส (Arie Rompas) จากกรีนพีซ อินโดนีเซียมองว่าการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเกี่ยวข้องทางตรงกับการที่ประเทศร่ำรวยได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ ดังนั้นประเทศเหล่านี้จึงต้องรับผิดชอบมากกว่าในการแก้ไขปัญหา

แต่ประเทศในอาเซียนเองหลายครั้งก็มองข้ามชุมชนพื้นถิ่นเมื่อต้องการบรรลุเป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจ และยังจัดการไม่ดีพอเพื่อให้สิทธิในที่ดินและสิทธิด้านอื่นๆ แก่พวกเขา กลุ่มนักอนุรักษ์นานาชาติมีประวัติความล้มเหลวในการจัดการปัญหา “ยึดที่ดินเพื่อทำเป็นเขตอนุรักษ์ (green grabbing)” โดยที่ดินที่ซึ่งชุมชนใช้ประโยชน์อาจถูกปกป้องด้วยกฎหมายจนไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกต่อไป

แอมเบอร์ ฮัฟฟ์ (Amber Huff) นักวิจัยจาก Institute of Development Studies ในสหราชอาณาจักรมองว่าเราต้องทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ไขปัญหาความหลากหลายทางชีวภาพและวิกฤติภูมิอากาศระดับโลก แต่ขณะเดียวกันทางออกที่เสนอก็คือแก้ที่ต้นเหตุและยอมรับแนวคิดที่ว่าประชาชนสามารถอยู่อย่างยั่งยืนเคียงข้างกับธรรมชาติ โดยใช้ทรัพยากรในการดำรงชีพและความเป็นอยู่ที่ดี

“แผนการกำปั้นทุบดินอย่าง 30X30 อาจนำไปสู่การช่วงชิงที่ดินและวิถีชีวิตจากชาติพันธุ์ท้องถิ่น เกษตรกรในชนบท คนเก็บหาของป่า และชุมชนชาวประมงทั่วโลกโดยมีฉากบังหน้าว่าเป็น ‘การฟื้นฟู’ สิ่งแวดล้อม”

 


ถอดความและเรียบเรียงจาก Southeast Asian nations missing from push to protect 30% of planet

ผู้เขียน

+ posts

บัณฑิตการเงินและการบัญชีที่สนใจความเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม หมดเวลาส่วนใหญ่ไปกับการอ่าน เขียน เรียนคอร์สออนไลน์ และเลี้ยงลูกชายวัยกำลังน่ารัก