เมื่อประเพณีที่มี ไม่ได้ดีต่อสิ่งแวดล้อม ถึงเวลาที่ต้องเลือกว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้  

เมื่อประเพณีที่มี ไม่ได้ดีต่อสิ่งแวดล้อม ถึงเวลาที่ต้องเลือกว่าจะไปต่อหรือพอแค่นี้  

หลายครั้งที่ประเพณีที่ปฏิบัติสืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน ทว่าปัจจุบันมันกลับสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง จนทำให้เราต้องย้อนกลับมาตั้งคำถามกับประเพณีเหล่านี้ว่า “เราควรไปต่อ” เพื่อรักษาประเพณีอันดีงามเอาไว้ หรือ “เราควรจะพอแค่นี้” เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้อยู่กับเราสืบต่อไป  

ประเพณี คือสิ่งที่เรายึดถือและปฏิบัติต่อกันมาในสังคม จนกลายเป็นขนบธรรมเนียมให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปปฏิบัติตาม ซึ่งในบางครั้งประเพณีเหล่านี้ก็ถูกปฏิบัติต่อกันมาโดยที่เราไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม นั่นจึงทำให้เราเผลอทำลายสิ่งแวดล้อมไปโดยไม่รู้ตัว 

โดยประเพณีที่จะยกมากล่าวถึงเป็นกรณีศึกษาเรื่องประเพณีกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมคือ “ประเพณีลอยกระทง” และ “ประเพณียี่เป็ง” 

ประเพณีอันดีงามกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม 

เริ่มต้นด้วยประเพณีที่ถูกมองว่าสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดประเพณีหนึ่งในประเทศไทย คือ ประเพณีลอยกระทง และเมื่อพูดถึงประเพณีลอยกระทง กิจกรรมที่ทุกคนจะต้องนึกถึงนั่นก็คือ กิจกรรมลอยกระทง ซึ่งเป็นกิจกรรมที่คนส่วนใหญ่มักจะทำกันในวันลอยกระทงของทุก ๆ ปี ด้วยการนำธูปและเทียนจัดใส่ลงไปในกระทงที่ทำมาจากวัสดุต่าง ๆ ที่หลากหลาย แต่ส่วนใหญ่จะทำมาจาก ต้นกล้วยและใบตอง หรือบางทีก็อาจทำมาจากขนมปัง เพื่อนำไปลอยตามแหล่งน้ำ ทั้งนี้กิจกรรมดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อแสดงความขอบคุณพระแม่คงคาที่ได้ประทานแหล่งน้ำมาให้มนุษย์ได้ใช้ดำรงชีวิต อีกทั้งยังเพื่อขอขมาพระแม่คงคา ที่ทำให้แหล่งน้ำสกปรกจากกิจกรรมของมนุษย์  

ถึงแม้ว่ากระทงจะทำมาจากวัสดุจากธรรมชาติ ทว่าพวกมันนั้นไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและพวกมันไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ เศษกระทงที่ลอยในแหล่งน้ำจะกลายเป็นขยะที่ก่อมลพิษต่อแหล่งน้ำในเร็ววัน โดยวัสดุเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำ ทำให้น้ำสกปรกขึ้น และในบางครั้งอาจส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในน้ำด้วย เมื่อน้ำสกปรก นั่นหมายถึงแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งอาหารของพวกมันกำลังถูกทำลาย จนในท้ายที่สุดสัตว์น้ำเหล่านี้ก็ไม่สามารถอยู่ได้ และอาจจะตายลง  

อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจุดประสงค์ของการลอยกระทงกับสิ่งที่ผู้คนปฏิบัติกันนั้นอาจดูย้อนแย้ง หากจะบอกว่าทำเพื่อขอขมาพระแม่ที่ทำแหล่งน้ำสกปรกจากสิ่งปฏิกูลต่าง ๆ เนื่องจากสิ่งที่ทำลงไปนั้นไม่ต่างอะไรกับการเพิ่มปริมาณขยะลงแหล่งน้ำเลย นับเป็นมลพิษต่อแหล่งน้ำอย่างยิ่ง มิหนำซ้ำยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในน้ำด้วย อาจกล่าวได้ว่ากระทงเหล่านี้ทำให้แหล่งน้ำเสียสมดุลและยากที่จะฟื้นกลับคืนมาดังเดิม จนเราต้องตั้งคำถามย้อนกลับไปที่ประเพณีดังกล่าวว่า  

“การเปลี่ยนแหล่งน้ำให้กลายเป็นบ่อขยะขนาดใหญ่คือการตอบแทนพระแม่คงคาแล้วจริงหรือ?”

อีกหนึ่งกิจกรรมในวันลอยกระทงที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมคือ การลอยโคม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดเชียงใหม่ มักจจะประเพณีที่ปฏิบัติกันในวันเดียวกับวันลอยกระทง โดยชาวล้านนาเรียกประเพณีนี้ว่า “ประเพณียี่เป็ง”  

โดยการลอยโคมนั้นเดิมเป็นความเชื่อของชาวล้านนาที่เชื่อว่า เมื่อถึงวันเพ็ญเดือนสิบสองแล้ว ชาวล้านนาจะร่วมใจกันปล่อยโคมลอย ซึ่งทำมาจากกระดาษสาที่นำไปติดกับโครงไม้ไผ่ และจุดไฟตรงกลางเพื่อให้ไอความร้อนพาโคมลอยขึ้นไปในอากาศ พวกเขาเชื่อว่าการลอยโคมออกไปนั้นเป็นเหมือนการปล่อยความทุกข์ ปล่อยความโศก และเรื่องร้าย ๆ ให้ลอยออกไปพ้นตัว  

“แม้ว่าความทุกข์และความโศกจะลอยออกไปแล้ว แต่โคมลอยยังคงอยู่ และมันกลับตกลงสู่เบื้องล่าง โดยที่ไม่อาจทราบได้ว่าข้างล่างนั้นมีอะไรอยู่บ้าง”  

หลายครั้งที่โคมเหล่านี้ได้ทำลายบ้านเรือนและทรัพย์สินของประชาชน ตลอดจนยังเป็นอันตรายต่อธรรมชาติ กล่าวคือ เมื่อร่วงลงมาสู่พื้นด้านล่าง กลายเป็นขยะที่ยากจะย่อยสลาย ในอีกด้านหนึ่ง หากไฟที่โคมยังไม่มอดดีก็อาจนำไปสู่ปัญหาไฟไหม้ในพื้นที่ป่า จนนำไปสู่ปัญหาไฟป่า อันเป็นการทำลายระบบนิเวศและธรรมชาติ พืชพรรณมากมายถูกทำลายจากไฟที่มอดไหม้ นอกจากนี้มันยังได้คร่าชีวิตของสัตว์ป่าไปไม่น้อยด้วย โดยกรณีตัวอย่างไฟไหม้ป่าที่มีสาเหตุมาจากโคมลอยมักจะเป็นในต่างประเทศ แต่ถึงอย่างนั้นประเทศไทยเองก็ยังคงจัดว่ามีความเสี่ยงอยู่ตลอด หากโคมเหล่านี้ยังลอยขึ้นบนฟ้า  

การปรับตัวของประเพณีเพื่อตอบรับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม

ถึงแม้ว่าประเพณีบางอย่างจะอยู่คู่คนไทยมานมนาน แต่เมื่อโลกหมุนไปข้างหน้า ก็ถึงเวลาที่ต้องปรับตัวเพื่อก้าวให้ทันกระแสโลก โดยปัจจุบันประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ ดังนั้นประเพณีที่มีมาก็ต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด และเพื่อที่จะรักษาไว้ซึ่งประเพณีอันดีงามและสิ่งแวดล้อมที่งดงาม  

เมื่อมีการตระหนักด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้นทำให้ในช่วงเทศกาลลอยกระทงได้มีองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมหลายแห่งเรียกร้องให้งดการลอยกระทงตามแหล่งน้ำเพื่อลดปริมาณขยะ หรือมีการรณรงค์ผ่านแคมเปญ “มาด้วยกัน ใช้กระทงเดียวกัน” เพื่อลดปริมาณกระทงในแหล่งน้ำ นอกจากนี้ยังมีการเปิดเว็บไซต์ลอยกระทง เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนลอยกระทงในรูปแบบออนไลน์แทนแหล่งน้ำจริง ๆ  

ในส่วนของกิจกรรมลอยโคมของประเพณียี่เป็งนั้น เมื่อโคมที่ลอยก่อให้เกิดทั้งปัญหาต่อทรัพย์สิน ชีวิตของประชาชน และสิ่งแวดล้อม ทำให้ในพื้นที่ที่มีการปล่อยโคมเยอะ ๆ อย่างจังหวัดเชียงใหม่ มีการเคร่งและควบคุมการปล่อยโคมมากขึ้น หลัก ๆ เพื่อลดปัญหาจากโคมลอยให้ได้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาไฟไหม้ ปัญหาการจารจรทางอากาศ หรือปัญหาไฟป่า เป็นต้น ที่อาจได้รับผลกระทบจากโคมเหล่านี้ได้  

ทั้งสองประเพณีถือได้ว่าเริ่มมีการปรับตัวเพื่อให้ทันกับโลกมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีการเริ่มปรับเปลี่ยนแบบแผนเดิมที่ปฏิบัติกัน มีการประยุกต์เอาวิธีการที่หลากหลายมาจัดการและควบคุมปัญหามูลพิษจากประเพณีทั้งสอง นั่นจึงทำให้ประเพณีเหล่านี้ยังดำรงอยู่ต่อไปได้ จากการเรียนรู้ที่จะปรับตัว ดังนั้น เราคงต้องร่วมมือกันทำกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด เพื่อรักษ์สิ่งแวดล้อมของเราเอาไว้ให้อยู่นาน ๆ เหมือนกับประเพณีของเราที่ดำรงอยู่มาได้ถึงปัจจุบัน  

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ