ชวนรู้จัก ‘ไก’ สาหร่ายน้ำจืด สุดยอดตัวชี้วัดคุณภาพแหล่งน้ำที่สะอาด

ชวนรู้จัก ‘ไก’ สาหร่ายน้ำจืด สุดยอดตัวชี้วัดคุณภาพแหล่งน้ำที่สะอาด

เขาว่ากันว่า “น้ำใสไหลเย็นเห็นตัวปลา…” แต่เดี๋ยวนี้น้ําใสไหลเย็นคงไม่ได้เห็นแค่ตัวปลาอย่างเดียวแล้ว เพราะถ้าน้ำใสจริงเราจะมองเห็นเจ้า ‘ไก’ สาหร่ายน้ำจืด ลักษณะคล้ายเส้นผมสีเขียวที่แหวกว่ายอยู่ตามโขดหินใต้น้ำ โดยไกเป็นพืชพื้นบ้านทางภาคเหนือของประเทศไทย ที่เหล่าเชฟพื้นบ้านหยิบนำเอามันมาใช้ประกอบอาหารทั่วไปและเป็นส่วนหนึ่งของเมนูอาหารพื้นบ้านแสนอร่อยมากมาย 

วันนี้เราไม่ได้มาสอนทำอาหารกัน แต่จะพาทุกคนไปรู้จัก ไก สาหร่ายน้ำจืดกินได้ ไม่ใช่แค่อร่อย แต่ยังมีประโยชน์ต่อสุขภาพไม่ต่างอะไรจากพืชผักสวนครัวรอบบ้านเราเลย ที่สำคัญมันยังมีหน้าที่สำคัญต่อระบบนิเวศและแหล่งน้ำลำธารด้วย 

ไก คืออะไร? หน้าตามันเป็นอย่างไร?

ไก หรือ สาหร่ายไก (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cladophora glomerata) เป็นสาหร่ายน้ำจืด พบได้ทั่วไปบริเวณแหล่งน้ำจืดหรือน้ำกร่อย ที่ใสสะอาดและแสงแดดส่องถึง โดยพวกมันจะเจริญเติบโตอยู่บนก้อนหินหรือพื้นที่อื่น ๆ ในน้ำที่พวกมันสามารถยึดเกาะได้ ลักษณะของพวกมันจะเป็นเส้นสายยาว สามารถแตกแขนงได้ บริเวณส่วนที่ยึดติดกับหิน เราจะเรียกมันว่า ไรซอยด์ (Rhizoid) ทำหน้าที่คล้ายกับราก ยึดกับก้อนหินเอาไว้ เพื่อไม่ให้พวกมันถูกกระแสน้ำพัดไป 

คำว่า ไก เป็นภาษาเหนือ (ชนเผ่าไทลื้อ) หมายถึง สาหร่าย ในภาษากลาง พวกมันเป็นพืขที่พบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำสะอาดในภาคเหนือของประเทศไทย อาทิ แม่น้ำน่าน จ.น่าน แม่น้ำโขง จ.เชียงราย เป็นต้น พวกมันจะโตเต็มที่และพร้อมให้เก็บในช่วงฤดูหนาว ถึง ฤดูร้อน ที่น้ำในแม่น้ำลำธารมีปริมาณลดลงและไหลช้า 

ไก ในฐานะตัวชี้วัดความสะอาดของแหล่งน้ำจืด 

ไม่เพียงแต่ไก แต่รวมถึงสาหร่ายน้ำจืดทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น เตา อ่องลอน สาหร่ายเห็ดลาบ ฯลฯ พวกมันเติบโตด้วยการสังเคราะห์แสง ในกระบวนการดังกล่าวสาหร่ายจะดึงเอาคาร์บอนไดออกไซด์ อันเป็นต้นตอของปัญหามลพิษและก๊าซเรือนกระจกมาใช้ แล้วจึงเปลี่ยนเป็นออกซิเจนแทน เพื่อปล่อยกลับสู่แหล่งน้ำ สาหร่ายจึงทำหน้าที่เป็นต้นไม้ใต้น้ำ ที่ไม่เพียงแค่ช่วยกรองน้ำให้สะอาด แต่ยังเป็นที่พักพิงและแหล่งอาหารให้กับสัตว์น้ำตัวเล็กตัวน้อยด้วย 

นอกจากนี้ ในกระบวนการบำบัดน้ำเสีย สารอินทรีย์มากมายจะถูกย่อยจุลินทรีย์ย่อยสลายให้เล็กลงอยู่ในรูปแบบของสารอนินทรีย์ เช่น ฟอสเฟต ไนเตรต แอมโมเนียน ฯลฯ โดยสาหร่ายเหล่านี้จะเปรียบเสมือนฮีโร่ที่ดึงเอาสารเหล่านี้มาเป็นสารอาหาร ผ่านวิธีที่เรียกว่า เมแทบอรึซึม ด้วยเหตุนี้เองพวกมันจึงทำหน้าที่ช่วยลดสารอนินทรีย์นน้ำและปล่อยออกซิเจนออกมา 

ว่ากันอย่างง่ายพวกมันถือเป็นตัวชี้วัดคุณภาพแหล่งน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ เลยก็ว่าได้ เพราะคุณภาพที่สาหร่ายพวกนี้อยู่ได้จำเป็นต้องมีคุณภาพน้ำที่อยู่ในระดับปานกลางถึงดีมาก 

เอา ไก ไปทำอะไรกินดี ?

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น ไก ถือเป็นของดีของเด็ดประจำภาคเหนือเลย เชฟท้องถิ่นมักจะนำมาประกอบอาหารในเมนูต่าง ๆ อยู่เสมอ ก่อนอื่นมาแนะนำกันก่อนว่าเราต้องจัดการกลับวัตถุดิบชิ้นนี้อย่างไร 

เริ่มแรก ทุกครั้งก่อนนำมาบริโภคจะต้องนำสาหร่ายมาแช่น้ำไว้สักพักก่อน แล้วค่อยล้างออกให้สะอาด โดยระหว่างนี้ก็ค่อย ๆ คัดพวกเศษดินหรือเศษหญ้าที่ติดมาด้วยออกไป ล้างซ้ำอีกรอบสองรอบเพื่อความสะอาด ก่อนจะนำมันมาพักสะเด็ดน้ำ จึงนำมาปรุงอาหารตามชอบ 

การปรุงสาหร่ายตามสไตล์ชาวน่านมีหลากหลายเมนูมาก เมนูพื้นบ้านที่ชาวบ้านมักนิยมทำกันคือ แกงไก โดยจะนำเอาเครื่องแกง (พริกแห้ง หอมแดง ข้าวเหนียวแช่น้ำ เกลือ โขลกรวมกัน) ตั้งไฟให้เดือด ตามด้วยใบมะกรูด จากนั้นนำไกที่ล้างแล้วมาสับใส่หม้อ ปรุงรสตามชอบ ก็เรียบร้อย พร้อมเสริฟแล้ว 

นอกจากนี้ในอนาคตอันใกล้ที่ผู้เชี่ยวชาญหลายคนได้คาดการณ์ถึงวิกฤติอาหารที่กำลังมาถึง ว่า เจ้าสาหร่ายนี้แหละที่จะเข้ามากอบกู้วิกฤติขาดแคลนอาหารจากสภาวะโลกร้อนได้ นับเป็นอีกทางรอดใหม่ของมนุษย์เลยก็ว่าได้ 

ใครที่ยังไม่เคยทาน ยังไม่เคยได้ลิ้มลอง บอกเลยคุณพลาดแล้ว! ไก เป็นทั้งตัวชี้วัดคุณภาพแหล่งน้ำสะอาด และยังเป็นอาหารชั้นเลิศของมนุษย์ด้วย เชื่อว่าถ้าเรามีเจ้าสาหร่ายน้ำจืดนี้เยอะขึ้นก็คงจะดี เพราะเป็นสัญญาณบอกพวกเราว่าแหล่งน้ำธรรมชาติได้กลับมาใสสะอาดอีกครั้งหนึ่งแล้ว 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ