เสวนา ภาษีที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าไร้ประโยชน์ จริงหรือไม่ ?

เสวนา ภาษีที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าไร้ประโยชน์ จริงหรือไม่ ?

‘ภาษีที่ดินที่รกร้างว่างเปล่า’ ไร้ประโยชน์ จริงหรือไม่ เวทีเสวนาว่าด้วยเรื่องของ ผลกระทบและการแก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 

โดยผู้ร่วมพูดคุยในประเด็นภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า มันไร้ประโยชน์จริงหรือไม่ ประกอบด้วยตัวแทนจากหลายภาคส่วนร่วมแชร์มุมมองจากแต่ละมุมกัน ประกอบด้วย ดร.ศนิวาร บัวบาน ส.ส. พรรคก้าวไกลแบบบัญชีรายชื่อ รับผิดชอบด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน และการเกษตร ดร.พงษ์สวัสดิ์ อักษรสวาสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อม สุทธิพงษ์ หงส์รัศมีทอง ตัวแทนภาคประชาชน และคุณจิรพันธ์ พรหมรักษา นักวิชาการคอมพิวเตอร์ ดำเนินรายการโดย ภาคภูมิ ประทุมเจริญ 

ที่ดินรกร้างว่างเปล่าคืออะไร: ดร.พงษ์สวัสดิ์ อักษรสวาสดิ์

แท้จริงแล้วพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 ไม่ได้นิยามความหมายของคำว่าที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้แต่อย่างใด แต่ได้ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ณ เวลานั้น กำหนดเป็นประกาศ ถึงความหมายของที่ดินรกร้างว่างเปล่าไว้ว่า คือที่ดินที่ปล่อยทิ้งร้างไว้ไม่ได้ทำประโยชน์อะไร หรือที่ดินที่ไม่ได้ทำประโยชน์ตามจริงโดยสภาพ ใครก็ตามที่มีที่ดินสองประเภทในวันนี้ต้องเสียภาษีสูงที่สุด 1.2 เปอร์เซ็นต์ แล้วถ้าทิ้งร้างต่อไปอีก 3 ปี ข้างหน้า ก็จะถูกบวกเพิ่มอีกจุด 3 หรือก็คือถูกทวีคูณทุก 3 ปี นั่นเอง หมายความว่าถ้าปล่อยไว้ให้เป็นไปตามนิยามข้างต้นเป็นเวลาอีก 19 ปีข้าง ตัวเลขก็จะกลายเป็น 3 เปอร์เซ็นต์  

ตัวอย่างเช่น นาย A มีที่ดิน 1 ไร่ ตารางวาละ 25,000 รวมเป็น 1 ล้านบาท นาย B 1 ไร่ ในราคาต่อตารางวาเท่ากัน ปรากฏว่า นาย B ปลูกกล้วย ไม่ต่ำกว่า 25 ต้น ตามกฎหมาย ส่วนนาย A ปล่อยที่ดินว่าง มีต้นไม้หรือพืชป่าขึ้น พอทางการมาตรวจดูนาย B เสียภาษีร้อยละ 0.15 หรือ 1,500 บาท ยิ่งไปกว่านั้น ในบางกรณีนาย B อาจได้รับการยกเว้นในกรณีที่มูลค่าที่ดินไม่ถึง 50 ล้านอีก  ส่วนนาย A เสียทั้งหมด 15,000 บาท เนื่องจากตรงกับนิยามความหมายของที่รกร้างที่กล่าวไว้ก่อนหน้า แม้ว่าพื้นที่ของนาย A จะมีต้นไม้มากกว่า นาย B ดังนั้นแล้ว นี่คือ กฎหมายภาษีที่ดิน ตามที่ได้กล่าวไปนั่นเอง เราอาจกล่าวได้ว่ามันคือความไม่สมเหตุสมผลของกฎหมาย 

“คำถามคือ กฎหมายฉบับนี้มีความเป็นธรรมจริงหรือไม่” 

กรณีศึกษาเชิงรูปธรรมจากภาคประชาชน: สุทธิพงษ์ หงส์รัศมีทอง และจิรพันธ์ พรหมรักษา

สุทธิพงษ์ : จากการศึกษาเรื่องปลากัดป่า ทำให้ได้ลงไปเห็นพื้นที่ต่าง ๆ ที่ได้รับผลกระทบ พื้นที่ที่กล่าวถึงคือ ‘ป่าจาก’ ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณใกล้เมือง ปัจจุบันป่าจากเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน 

กฎหมายภาษีที่ดินอาจไม่ใช้ตัวการทั้งหมดที่ทำให้ปัญหาเกิดขึ้น แต่ภาษีตัวนี้เป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดการถมที่ดินเพื่อไปปลูกกล้วยหรือมะพร้าว ซึ่งมันเป็นการไปทำลายระบบนิเวศที่เคยอยู่บริเวณนั้นด้วย ยิ่งไปกว่านั้นถ้าชาวบ้านไม่สามารถจัดการได้ก็จะต้องขายไปให้กับนายทุน 

จากที่ชาวบ้านไม่ได้มีความจำเป็นต้องจัดการที่ดิน พวกเขาต้องนำเงินมาลงทุนปลูกกล้วยหรือทำเกษตรเพื่อให้มันเข้าเกณฑ์ไม่ต้องไปเสียที่ดินตามกฎหมาย 

จิรพันธ์ : ปลากัดเกี่ยวอะไรกับภาษีที่ดิน? ตลอดเวลา 10-20 ปีที่ผ่านมามันมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น เมื่อประกาศใช้กฎหมายภาษีที่ดิน พ.ศ. 2562 ในปี พ.ศ. 2563 พบเลยว่าพื้นที่สีเขียวลดน้อยลงจากเดิมไปเยอะมาก เพราะพื้นที่ถูกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ทางการเกษตร 

ถ้าที่ดินเดิมมันมีการใช้ประโยชน์อยู่แล้ว เช่น พื้นที่ป่าจากที่กล่าวไป ซึ่งมันไม่ได้ไร้ประโยชน์ แต่เป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศ 

คำถาม คือ ถ้าทุกคนได้รับที่ดินมรดกมา แล้วกฎหมายชี้ว่ามันเป็นที่ไร้ประโยชน์ แล้วต้องทำการเกษตร เพื่อให้ทำให้สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ทุกคนก็คงไม่มีทางเลือก เลยต้องทำตามกฎหมาย ถ้ากฎหมายไม่กำหนดก็ไม่ต้องทำอะไรเลย 

“อาจกล่าวได้ว่า มันสร้างภาระให้กับคนในพื้นที่อย่างมาก”  

ผมเชื่อว่าหากทุกคนถ้ามีพื้นที่สีเขียวในครอบครอง มีระบบนิเวศอันอุดมสมบูรณ์ เราก็คงไม่อยากไปทำอะไร ไปยุ่งอะไรกับมันมาก แต่เมื่อมีข้อกฎหมายดังกล่าวเข้ามา เราจึงจำเป็นต้องหาทางเลือก ด้วยการทำการเกษตร บอกได้เลยว่าสิ่งที่สูญเสียไป กับสิ่งที่ได้มามันแทบจะเทียบกันไม่ได้เลย 

ผลกระทบที่เกิดกับประชาชนคือภาวะจำยอมที่ประชาชนจะต้องหาทางทำอะไรสักอย่างกับที่ดินผืนนั้น ๆ ยิ่งถ้าไม่มีทุนด้วยแล้ว ก็ยิ่งเป็นการบีบให้ประชาชนจำเป็นต้องขายที่ดินดังกล่าวให้กับนายทุน

เงินจากภาษีที่ดินรกร้างว่างเปล่า ควรเอาไปใช้ประโยชน์ในด้านใดบ้าง: ดร.ศนิวาร บัวบาน

โดยปกติแล้ว เงินภาษีจะถูกเก็บและจัดการโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องส่งเงินส่วนนี้เข้ากองคลังหรืองบประมาณแผ่นดิน ด้วยเหตุนี้เลยทำให้เงินดังกล่าวจะถูกจัดสรรไปทำอะไร เลยขึ้นอยู่กับพื้นที่นั้น ๆ 

แล้วเงินดังกล่าวควรนำไปทำอะไร? 

ถ้าเงินมันมาจากพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เราก็ควรนำเงินไปจัดการและพัฒนาพื้นที่นั้น ๆ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ทั้งทางเศรษฐกิจ การศึกษา ข้อมูลข่าวสาร และสภาพแวดล้อม เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ 

ด้วยเหตุนี้จึงขอเสนอแนวทางการนำเงินภาษีดังกล่าวมาใช้เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน 2 แนวทางหลัก คือ 

1. พัฒนาพื้นที่ 

1.1 เพื่อการเรียนรู้หรือกิจกรรมสาธารณะ เช่น พื้นที่สาธารณะสีเขียว แหล่งเรียนรู้ หรือกิจกรรมตามที่ชุมชนต้องการ 

1.2 เพื่ออนุรักษ์หรือฟื้นฟูระบบนิเวศ เช่น สนับสนุนให้ประชาชนหรือเอกชนร่วมรักษาความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ของตน 

1.3 เพื่อแก้ไขปัญหาที่อิงกับแนวทางธรรมชาติ เช่น สวนพรุนน้ำ พื้นที่หน่วงน้ำเพื่อลดน้ำท่วม 

1.4 เพื่อการอนุรักษ์ทางวัฒนธรรมหรือประวัติศาสตร์ 

2. จัดการที่ดิน กล่าวคือ เป็นการจัดรูปที่ดินด้วยการนำที่ดินหลาย ๆ แปลงมาวางรูปแปลงที่ดินใหม่ให้มีระเบียบ รวทั้งจัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้เข้าถึงทุกแปลง โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างเอกชนด้วยกันเอง หรือเอกชนกับรัฐ

เรียบเรียงจากงานรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร วันเสาร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2566 ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

สามารถรับชมเวทีเสวนา ภาษีที่ดินที่รกร้างว่างเปล่าไร้ประโยชน์ จริงหรือไม่ ฉบับเต็มและกิจกรรมรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร ช่วงต่าง ๆ ได้ทาง YouTube : Seub Channel www.youtube.com/@Seub2010  

ขอขอบคุณผู้สนับสนุน

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด
บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
บริษัท สุขภัณฑ์ ไฮโดร (ประเทศไทย)
บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)
ธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ