SEUB Inspire นีลปัทม์ โพธิ์สุวัฒนากุล Royal Blue on The Earth

SEUB Inspire นีลปัทม์ โพธิ์สุวัฒนากุล Royal Blue on The Earth

เวที SEUB Inspire อีกหนึ่งเวทีที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีหัวใจสีเขียว ได้ขึ้นมาแชร์เรื่องราวการอนุรักษ์ตามสไตล์ของตัวเอง เพราะไม่ว่าคุณจะเป็นใครหรือทำอาชีพอะไร แต่ถ้ามีใจในการอนุรักษ์ก็สามารถเปลี่ยนโลกให้ดีขึ้นได้ 

เมื่องานระลึก 33 ปี สืบนาคะเสถียรที่ผ่านมา หลายท่านน่าจะได้เห็นไปแล้ว กับเสื้อรำลึกประจำปีนี้ที่มีสองสีทั้งเทาและครีม แต่ที่ไม่พูดถึงไปไม่ได้ คือ ลวดลายของเสื้อ ที่บอกเล่าเรื่องราวงานอนุรักษ์ผ่านสไตล์ศิลปะเฉพาะตัว 

เวที SEUB Inspire เวทีที่สองนี้ จึงได้เชิญคุณนีลปัทม์ โพธิ์สุวัฒนากุล หรือ คุณนีล เจ้าของนามปากกา RBNeallaen และเจ้าของเพจ Royal Blue on The Earth (ศิลป์สีน้ำเงิน) ที่ได้สร้างสรรค์ผลงานศิลปะผ่านโลกออนไลน์ไว้มากมาย รวมถึงลวดลายบนเสื้อรำลึกปีนี้ด้วยกันว่า เป็นมาอย่างไรถึงได้มาร่วมทำงานกับมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้ และอะไรคือแรงบันดาลใจที่ขับเคลื่อนหัวใจในการทำงานอนุรักษ์ 

จุดเริ่มต้นของความสนใจด้านสิ่งแวดล้อม

เราชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก ๆ รวมถึงชอบปลูกต้นไม้และใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติด้วย แต่คุณพ่อคุณแม่ก็อยากให้เรามีอาชีพที่มั่นคง เลยแนะนำเราให้ไปเรียนวิชาชีพ อย่าง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ตัวเราเองก็เห็นด้วย ระหว่างที่เรียน ก็มีการสอดแทรกเนื้อหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น การออกแบบอาคารสีเขียว หรือการออกแบบอาคารเพื่อลดการใช้พลังงาน 

พอเราจบออกมาก็มีโอกาสทำงานหลายรูปแบบตั้งแต่สินค้าชิ้นเล็ก ๆ จนไปถึงภูมิทัศน์ขนาดใหญ่ ที่นี้เราก็รู้สึกอินมาก ๆ เลยตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโท ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ภาคภูมิสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย การเข้ามาเรียนสาขานี้มันเป็นการเปิดโลกมาก ๆ มี 2 วิชา ที่ทำให้เราอินเรื่องสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น คือ วิชาภูมินิเวศ ว่าด้วยเรื่อง การออกแบบที่เราต้องเคารพพื้นที่และธรรมชาติที่มีอยู่เดิม เช่น ทางน้ำไหล พืชพรรณที่อยู่ในพื้นที่ เราก็ออกแบบโดยเคารพต่อสิ่งที่มีอยู่ ไม่เอาพืชพรรณที่เป็นสายพันธุ์เอเลี่ยนเข้าไปทำลาย อีกวิชาหนึ่งคือ การจัดการพื้นที่บราวน์ฟิลด์ (Brownfield) ว่าด้วยเรื่องการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่ธรรมชาติที่ถูกทำลายไปแล้วให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง  

จุดเปลี่ยนที่ทำให้ออกมาเป็นศิลปินอิสระ

จุดเปลี่ยนของเรามันเริ่มเมื่อประมาณสองปีที่แล้ว เราเริ่มรู้สึกว่างานที่ทำอยู่มันไม่ตอบโจทย์เราแล้ว โดยเราอยากทำงานเพื่อช่วยเหลือธรรมชาติ แล้วสามารถเอาความชอบของเรามาใส่ในการทำงานั้นด้วยได้ นั่นก็คือ ‘การวาดรูป’ เราอยากให้งานวาดรูปของเราได้ทำอะไรให้กับธรรมชาติบ้าง ประกอบกับตอนนั้น NFT มันบูมขึ้นมาพอดี ความท้าทายช่วงแรกของเราเลยคือการที่เราไม่มีข้อมูลตรงนี้เลย ถ้าทำออกมาแล้วเราจะชอบไหม สุดท้ายเราก็คิดว่าต้องเปลี่ยนความคิดตรงนั้น เราว่า NFT ทำให้เรารู้จักคนใหม่ ๆ มากขึ้น พอเราทำงานศิลปะออกมาก็ได้รับการตอบรับที่ดี 

คอนเซปต์ในการทำงานศิลปะ

แน่นอนว่าคอนเซปต์อย่างแรกคือมาจากธรรมชาติ เพราะทั้งชีวิตของเรา เราอินกับเรื่องนี้มาก สังเกตได้เลยว่างานของเราไม่มีคนในรูปเลย มีแต่ธรรมชาติเสมอ อีกอย่างหนึ่งคือการที่เราเลือกใช้สีน้ำเงิน 

ทำไมเราถึงใช้สีน้ำเงิน? มันมีเรื่องราวอยู่ ตอนที่เราทำงานออฟฟิศดีไซน์แห่งหนึ่ง ที่ออฟฟิศจะมีดินสออยู่สองสีคือแดงกับน้ำเงิน เราเลือกใช้สีน้ำเงิน เพราะสีน้ำเงินทำให้เรามีความสุข มีสมาธิ นอกจากนี้ยังแสดงถึงความมั่นคงและความแข็งแรงด้วย พอไปเชื่อมกับการที่เราชอบใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ แล้วสองอย่างนี้มารวมกันมันเลยสามารถสื่อสารกับคนที่มาเสพงานศิลปะของเราได้ถึงความชอบและสไตล์ของเรา เป็นงานศิลปะที่เราได้ไอเดียจากธรรมชาติ 

พอเราทำแล้วเลยเกิดเป็นโครงการที่เราทำขึ้นเอง เราอยากให้ NFT ออกไปช่วยเหลือสิ่งต่าง ๆ ในธรรมชาติได้ จากการทำงานตรงนี้ก็สามารถรวบรวมเงินได้ก้อนหนึ่งมาใช้ในการผลิตสินค้าและของที่ระลึก เลยเกิดเป็นโครงการ “ศิลปะเพื่อธรรมชาติ” ขึ้นมา

จากงานศิลปะสู่การสนับสนุนมูลนิธิสืบนาคะเสถียร

เราอยากทำให้กับมูลนิธิสืบฯ นานแล้ว เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปตอนป.4  ตอนนั้นคุณครูสอนให้ร้องเพลงสืบ นาคะเสถียร แล้วครูก็เล่าว่าคุณสืบ เสียสละชีวิตตัวเองเพื่ออุดมการณ์ ตอนนั้นด้วยความที่เรายังเด็ก เรารู้แค่ว่าเขาเสียสละชีวิตเพื่ออะไร เราก็ไม่ได้รู้เรื่องราวมากมายเท่าไหร่ แต่เหตุการณ์นั้นมันติดตัวเรามาจนถึงทุกวันนี้เลยนะ 

ดังนั้น ถ้าเราได้ทำงานศิลปะในสิ่งที่เรารักแล้ว เราก็อยากตอบแทนคืนให้กับธรรมชาติ มูลนิธิสืบนาคะเสถียรคือมูลนิธิหลักเลยที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้ 

ด้วยเหตุนี้ เราจึงตัดสินใจทำผ้าคลุมไหล่ ภายใต้คอนเซปต์ที่คุณสืบกำลังมองผ่านแว่นตาเห็นสัตว์ป่าและธรรมชาติ เราทำผ้าคลุมไหล่ออกมาสองร้อยกว่าผืน ทำให้เรารู้เลยว่ามีคนพร้อมสนับสนุนเราเยอะแยะมากมาย รวมถึงเรายังได้รู้จักเครือข่ายที่พาเราไปโชว์งานตามที่ต่าง ๆ เรารู้สึกว่าตัวเราโชคดีมาก ๆ ที่ได้รู้จักหลายคนที่มีความคิดเหมือนกับเรา 

จากผ้าคลุมไหล่สู่ลายเสื้อรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร 

จากการทำผ้าคลุมไหล่ในตอนนั้น ทำให้งานรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร เราได้ออกแบบลวดลายบนเสื้อ ซึ่งมันคือหนึ่งในความฝันของเราเลยที่อยากจะออกแบบเสื้อให้กับทางมูลนิธิฯ ถือเป็นเป้าหมายที่สำเร็จในชีวิตของเราอีกหนึ่งอย่าง

คอนเซปต์เสื้อในปีนี้คือ “การอนุรักษ์ยุคใหม่” ที่ยกเอาความสำคัญของโลกอินเตอร์เน็ตมาเป็นส่วนสำคัญต่อการอนุรักษ์ในปัจจุบัน เราก็ได้นำสรรพสัตว์ภายในภาพไม่ว่าจะเป็น ช้าง เสือโคร่ง พญาแร้ง นกชนหิน ฯลฯ ต่างก็เคยเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์ จนทำให้หลายคนหันมาสนใจการอนุรักษ์สัตว์เหล่านี้กันมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีวงกลมที่สื่อถึงการหมุนเวียนและการเชื่อมโยงกันของธรรมชาติ ซึ่งทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็มีสืบ นาคะเสถียร มองลงมาเห็นถึงปัญหาและสถานการณ์ของสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน  

เรียบเรียงจากงานรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร วันอาทิตย์ที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2566 ห้องอเนกประสงค์ ชั้น 1 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

สามารถรับชมเวที SEUB Inspire “นีลปัทม์ โพธิ์สุวัฒนากุล Royal Blue on The Earth” ฉบับเต็มและกิจกรรมรำลึก 33 ปี สืบ นาคะเสถียร ช่วงต่าง ๆ ได้ทาง YouTube : Seub Channel www.youtube.com/@Seub2010  

ส่วนใครที่อยากรู้จัก คุณนีลปัทม์ กับ เพจ Royal Blur on The Eath กันมากขึ้น ก็สามารถไปอ่านบทสัมภาษณ์กันต่อได้ที่ การช่วยเหลือธรรมชาติด้วยงานศิลปะ ผ่าน Royal Blue on the Earth ของ นีลปัทม์ โพธิ์สุวัฒนากุล

ขอขอบคุณผู้สนับสนุน

ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)
บริษัท เท็กซ์ไทล์ แกลลอรี่ จำกัด
บริษัท ไทย เวียตเจ็ท แอร์ จอยท์ สต๊อค จำกัด
บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
บริษัท สุขภัณฑ์ ไฮโดร (ประเทศไทย)
บริษัท ศรีนานาพร มาร์เก็ตติ้ง จำกัด (มหาชน)
ธนาคารแห่งประเทศไทย

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ