ป่าบุ่งป่าทาม ระบบนิเวศที่สูญหาย 

ป่าบุ่งป่าทาม ระบบนิเวศที่สูญหาย 

พื้นที่รกร้างมีไผ่ ไม้พุ่ม เถาวัลย์รก เป็นเพียงทุ่งสำหรับเลี้ยงสัตว์ ทุ่งที่ถูกทิ้งร้าง หนำซ้ำยังโดนน้ำท่วมซ้ำแล้วซ้ำแล้ว ดูทรงแล้วไม่น่าเหมาะที่จะเป็นป่าเสียด้วยซ้ำ ไม่มีประโยชน์อะไร นี้อาจเป็นความเห็นของคนที่อายุน้อยกว่า 50 ปีลงมา แท้จริงพื้นที่เราเห็นนั้นอาจเป็น ‘ป่าบุ่งป่าทาม’ ที่อยู่ในสภาพเสื่อมโทรม  

ป่าบุ่งป่าทาม ป่าบึงน้ำจืด ป่าริมบึง จัดเป็นระบบนิเวศที่ราบน้ำท่วมถึง กระจายอยู่ทั่วภาคอีสาน ตามริมแม่น้ำและลำห้วยสาขาที่มีน้ำท่วมซ้ำซากและยาวนาน เช่น แม่น้ำมูล แม่น้ำชี พืชในพื้นที่นี้จะมีวิวัฒนาการมาคู่กับระบบนิเวศที่มีน้ำท่วมซ้ำซาก หรือ เรียกว่ามีความเฉพาะตัวกับระบบนิเวศป่าบุ่งป่าทาม ส่วนใหญ่จะมีการเจริญเติบโตรวดเร็ว สัมพันธ์กับฤดูน้ำหลาก – น้ำลง   

“พื้นที่ที่เป็นกระทะมีน้ำขังเกือบตลอดปี เรียกว่า บุ่ง ส่วนพื้นที่ดอนที่มีน้ำขังเฉพาะในฤดูน้ำหลาก มีต้นไม้ใหญ่น้อยขึ้นปกคลุม เรียกว่า ทาม” 

ป่าบุงป่าทาม หรือชื่อทางการคือ ป่าบึงน้ำจืด (Freshwater Swamp Forest) เป็นระบบนิเวศที่หาได้ยากในปัจจุบัน รายงานการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ชุ่มน้ำในประเทศไทย พบว่าในช่วงปี 49-52 เคยมีป่าบุ่งป่าทามอยู่ประมาณ 4 ล้านไร่ แต่ในปี 57 – 61 เหลือเพียง 150,000 ไร่ ในช่วงเวลากว่า 10 ปีมีการเปลี่ยนแปลงไปกว่าร้อยละ 96.25 

ปัจจุบันเราสามารถพบเห็นระบบนิเวศป่าบุ่งป่าทามได้เพียง 5 แห่งเท่านั้น ได้แก่ เขตห้ามล่าสัตว์ป่าหนองทุ่งทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี สวนพฤกษศาสตร์พนางตุง จังหวัดพัทลุง วนอุทยานนครไชยบวร จังหวัดพิจิตร วนอุทยานชีหลง และวนอุทยานโกสัมพี จังหวัดมหาสารคาม ป่าที่เหลือส่วนใหญ่ในสภาพป่าเสื่อมโทรม ไม้ใหญ่ถูกตัดออก มีการเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่  

ป่าบุ่งป่าทามยังเป็นบ่อเกิดของสรรพสิ่ง มีความหลากหลายทางชีวภาพ ตั้งแต่ระบบนิเวศพื้นน้ำ ระบบนิเวศครึ่งบกครึ่งน้ำ และระบบนิเวศบก อีกทั้งเป็นแนวเก็บกักตะกอน ธาตุอาหารที่พัดพามากับน้ำ ช่วยปรับปรุงคุณภาพดิน และช่วยกรองสารพิษจากการเกษตรไม่ให้ไหลลงสู่แม่น้ำ ช่วยป้องกันรักษาชายฝั่งแม่น้ำไม่ให้ถูกเซาะพังทลาย ช่วยรักษาความสมดุลระหว่างน้ำผิวดินและน้ำใต้ดิน ช่วยกักเก็บน้ำฝน ป้องกันน้ำท่วมเฉียบพลัน และช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ฉะนั้นจึงมีความสำคัญสามารถชี้วัดความอุดมสมบูรณ์และความสมดุลของสิ่งแวดล้อมในพื้นที่โดยรวม  

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ป่าบุ่งป่าทามถูกคุกคามสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประการ  ประการแรกโครงการของภาครัฐ ในระหว่างปี 2513 – 2548 การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำเป็นปัจจัยสำคัญการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำจืดถึงร้อยละ 35  

การพัฒนาในยุคนั้นเป็นส่วนสำคัญให้ระบบนิเวศแบบป่าบุ่งป่าทามนั้นสูญหายไป โครงสร้างพื้นฐานทางน้ำที่เห็นชัดเจนก็คือ ‘โครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ’   ประการที่สองกิจกรรมภาคประชาชนในช่วงที่ประเทศไทยมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจทำให้สังคมเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ป่าถูกบุกรุกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ทำนาเพื่อการส่งออก การตัดไม้ เผาถ่าน ทำให้พื้นที่ป่าบุ่งป่าทามลดลงอย่างรวดเร็ว และอย่างสุดท้ายคือปัจจัยทางธรรมชาติ  

ป่าบุ่งป่าทามเป็นระบบนิเวศที่พบพืชสำคัญจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นความสำคัญของระบบนิเวศที่มีความเฉพาะตัว หากยังไม่มีการอนุรักษ์ป่านี้ไว้ ประเทศไทยคงต้อง “สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพอีกเป็นจำนวนมาก” 

อ้างอิง

ผู้เขียน

+ posts

เราไม่มีทางอนุรักษ์สิ่งที่เราไม่เห็นคุณค่า และเราไม่มีทางเห็นคุณค่าถ้าเราไม่รู้จักมัน