เพราะเหตุใดการสร้างฝายในป่าถึงไม่ใช่สิ่งดี

เพราะเหตุใดการสร้างฝายในป่าถึงไม่ใช่สิ่งดี

ฝาย หากมองง่าย ๆ มันก็ไม่ต่างจากเขื่อนขนาดย่อส่วนที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อขัดขวางการไหลของน้ำ ฝายนั้นจะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราสร้างถูกที่ แต่หากสร้างผิดที่ย่อมเกิดผลกระทบอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการสร้างฝายในป่า พื้นที่ที่เป็นต้นน้ำ เป็นพื้นที่ที่ไม่ควรสร้าง 

แล้วเพราะอะไรทำไมเราถึงไม่ควรสร้างฝายในป่า 

ถ้าหากคุณมีโอกาสได้เดินป่าลองหยุดอยู่ข้างลำธารสักแห่งหนึ่งที่ไหลผ่านป่า แล้วพิจารณามัน เราจะพบว่าลำธารนี้เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนานาชนิด บางชนิดอยู่ในแอ่งน้ำนิ่ง บางชนิดอยู่น้ำไหล อยู่หน้าน้ำตก แตกต่างกันไปบนลำธารสายเดียวกัน ถัดขึ้นมาริมตลิ่งก็จะมองเห็นพืชริมต่าง ๆ ทุกสิ่งล้วนสัมพันธ์กัน ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมลำธารแห่งนี้ ผ่านการวิวัฒนาการมานานหลายล้านปี    

วันหนึ่งเมื่อมนุษย์ปรากฎขึ้น มนุษย์ได้คิดค้นนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการใช้น้ำของตัวเอง ได้ทำการสร้างสิ่งที่เรียกว่า ‘ฝาย’ ขึ้นมาเพื่อจะชะลอการไหลของน้ำ ให้ตัวเองได้ใช้ประโยชน์ เป็นครั้งแรกที่ลำธารแห่งนี้ได้รู้จักกับฝาย และหลังจากนั้นลำธารนี้ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป 

จากลำธารที่เคยไหลอย่างอิสระถูกปิดขวางทางน้ำด้วยฝายจนระดับน้ำหน้าฝายเริ่มเอ่อล้นท่วมพืชริมน้ำ ต้นไม้ใหญ่รากเริ่มเน่าเละยืนต้นตายในที่สุด ใบไม้ กิ่งไม้ที่ร่วงหล่นให้มาตามน้ำก็จะถูกดักไว้ที่หน้าฝายไม่สามารถไหลผ่านไปต่อได้  

พอเวลาผ่านไปหลังจากต้นไม้ตายลงสู่น้ำ น้ำก็เริ่มเน่าจากขาดออกซิเจนเนื่องจากน้ำไหลกลายเป็นน้ำนิ่ง พอน้ำเริ่มเน่าก็ส่งผลให้สิ่งมีชีวิตเริ่มอยู่อาศัยไม่ได้และหายจากไป ตะกอนดินและทรายที่ปกติต้องไหลจากต้นน้ำไปปลายน้ำ 

เมื่อมีฝายมากั้น ตะกอนที่ควรจะไหลลงสู่ทะเลก็ตกค้างอยู่ในป่า ผ่านไปนานเข้า ตะกอนเหล่านี้จะทับถมลำธารจนตื้น ทำให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ไม่ได้ และการที่ตะกอนถูกดักไว้บนบก ไม่ไหลลงทะเลก็จะทำให้ไม่มีตะกอนไปเติมป่าชายเลนกับชายฝั่ง สุดท้ายชายฝั่งก็จะถูกน้ำทะเลกัดเซาะ   

ไม่ใช่ทุกที่ที่จะสามารถสร้างฝายได้ นี่เป็นสิ่งที่เราต้องทำความเข้าใจก่อนที่จะลงมือสร้าง เพราะการสร้างโดยไม่คิดจะส่งผลร้ายมากกว่าผลดี

โดยฝายที่มีปัญหามากที่สุดคือฝายถาวร เพราะจะทำลายระบบนิเวศอย่างถาวรด้วยเช่นกัน พื้นที่ที่ควรสร้างควรอยู่ในพื้นที่เกษตรกรรม ไม่ควรอยู่ในพื้นที่ป่า 

มีงานวิจัยและนักวิจัยมากมายที่พูดถึงผลกระทบของการสร้างฝาย หนึ่งในตัวอย่างผลกระทบของการสร้างฝายผิดที่ คือ ห้วยทรายเหลือง อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พบ ‘ปลาค้างคาวอินทนนท์’ ที่เดียวในโลกเท่านั้น 

หลังจากที่มีการสร้างฝายเพียงปีถัดมาไม่พบปลาชนิดนี้อีกเลย เพราะปลานี้อาศัยอยู่ตามซอกหิน เมื่อสร้างฝายตะกอนจะไปอุดตันทำให้ที่อยู่อาศัยของพวกมันหายไปในที่สุด (ปัจจุบันปลาค้างคาวอินทนนท์กลับคืนสู่น้ำตกแล้ว ด้วยความร่วมมือของกลุ่ม siamensis) 

สังคมไทยถูกปลูกฝังมาอย่างยาวนานว่าฝายนั้นดี แต่เราควรให้ข้อมูลที่ถูกต้องเพิ่มขึ้นว่าฝายดีถ้าสร้างถูกที่ ไม่ใช่สร้างฝายที่ไหนก็ดี  

คำว่า ‘เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว’ จึงสามารถเป็นคำตอบได้ดี ว่าเหตุใดฝายถึงไม่ควรอยู่ในป่า 

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

เราไม่มีทางอนุรักษ์สิ่งที่เราไม่เห็นคุณค่า และเราไม่มีทางเห็นคุณค่าถ้าเราไม่รู้จักมัน