สิ่งที่รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อไม่ได้บอก  

สิ่งที่รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำคลองมะเดื่อไม่ได้บอก  

11 มีนาคม 2567 ในงาน “ปกป้องคลองมะเดื่อ หยุดเขื่อนในป่ามรดกโลก” ซึ่งจัดขึ้นที่วัดบ้านดง ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก นอกจากเป็นกิจกรรมประกาศเจตนารมย์ ‘ไม่เอาเขื่อน’ ของคนในชุมชนคลองมะเดื่อ และเครือข่ายกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่รอบๆ ดงพญาเย็น-เขาใหญ่เนื่องใน ‘วันหยุดเขื่อนโลก’ แล้ว อีกหนึ่งกิจกรรมที่สำคัญ คือ การเสวนาอภิปรายถึงคุณค่าทางระบบนิเวศที่ปรากฏรอบๆ ชุมชน ในสายน้ำคลองมะเดื่อ และบริเวณสร้างอ่างเก็บน้ำ ที่จัดทำและรวบรวมโดยชุมชนร่วมกับนักวิชาการจนออกมาเป็นงานวิจัยไทบ้าน หรือจะเรียกว่าเป็นรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับคู่ขนานกับรายงานที่กรมชลประทานไว้ว่าจ้าง บริษัท ปัญญาคอนนซัลแตนท์ จำกัด เป็นผู้จัดทำ  

โดยบทสนทนาของเวทีเสวนา “คืนข้อมูลความรู้ และคุณค่าของคลองมะเดื่อ ผ่านงานวิจัยไทบ้าน” ได้รวบรวมองค์ประกอบทางสังคม นิเวศวิทยา และเศรษฐกิจ จากการเก็บข้อมูลจริงในพื้นที่พร้อมสัมภาษณ์คนในชุมชน เริ่มลงมือสำรวจจัดทำข้อมูลตั้งแต่เดือนมิถุนายน พ.ศ.2566 ถึงเดือนมกราคม พ.ศ.2567 นำทีมโดย ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ มีนักวิชาการเพื่อสังคม จากกลุ่มรักษ์เขาใหญ่ สมาคมพลเมืองนครนายก และที่ปรึกษา ดร.ชวลิต วิทยานนท์ ดร.ภกญ.สุภาภรณ์ ปิติพร ผศ.ดร.นพ.สุธีร์ รัตนะมงคลกุล อรยุพา สังขะมาน 

และจากการนำเนื้อหาของงานวิจัยไทบ้านไปเปรียบเทียบกับรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ของทางกรมชลประทาน จะเห็นภาพว่าข้อมูลสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพ ด้านสังคม และเศรษฐกิจมีส่วนที่ไม่ตรงกันหลายจุด โดยข้อมูลที่ระบุในรายงานของกรมชลประทานนั้นมีน้อยกว่าข้อมูลของงานวิจัยไทบ้านอย่างเห็นได้ชัด ทั้งข้อมูลสายพันธุ์ปลา กลุ่มชาติพันธุ์ในชุมชน สายพันธุ์นก รวมถึงระบบนิเวศในลำธาร

ตัวอย่างความหลากหลายที่สำรวจพบในงานวิจัยไทบ้าน คลองมะเดื่อที่เป็นสายธารหลักที่หล่อเลี้ยงระบบนิเวศและชุมชนมาร่วมกว่าร้อยปี โดยไหลมาจากต้นน้ำด้านบนอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นสายน้ำที่มีความหมายต่อชุมชนและเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์หลายชนิดรวมถึงชนิดพันธุ์พื้นถิ่นอย่าง ปูน้ำตกเขาใหญ่ (เป็นปูที่พบที่เขาใหญ่แห่งเดียวเท่านั้น) ขณะเดียวกันระบบนิเวศบริเวณนี้มีความสมบูรณ์เป็นอย่างมาก เช่น การมีหาดหินทรายซึ่งเป็นแหล่งวางไข่ของตะกอง มีวังน้ำขนาดใหญ่ซึ่งเป็นจุดที่มีปลาหลายชนิดมารวมตัวกันเป็นจำนวนมากเนื่องจากมีความลึกและในฤดูแล้งก็ยังคงมีน้ำอยู่ ในคลองมะเดื่อยังพบปลาถึง 23 ชนิด และมีบางชนิดที่ไม่ถูกระบุในรายงาน EIA โดยรายงานจากกรมชลประทานพบปลาเพียง 16 ชนิดเท่านั้น 

ในเรื่องของพืชในชุมชน ก็มีความหลากหลายกว่าร้อยชนิด เช่น ยอดหวาย หน่อคุก โดยในงานวิจัยไทบ้านมีการพบชนิดพันธุ์พืชกว่า 126 ชนิด หลายชนิดสามารถสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนได้ ในรายงานของ EIA เกิดการตกหล่นของข้อมูลอยู่หลายประเด็น เช่น การเก็บข้อมูลการมีอยู่ของ ปลาแค้ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสะอาดของน้ำ โดยใช้อุปกรณ์วิถีชาวบ้านจับ มีการพบนก 66 ชนิด เป็นกลุ่มอพยพ 4 ชนิด ประจำถิ่น 62 ชนิด   

ในเรื่องของสังคม ชุมชนแห่งนี้มีการตั้งรกรากมาไม่ต่ำกว่า 100 ปี มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายมาก แต่ในรายงาน EIA ระบุว่าเป็นไทยพวนทั้งหมด มีคำอธิบายเรื่องสังคมแค่ 3 บรรทัด แต่ในข้อเท็จจริงยังมีทั้งกลุ่มลาวอพยพ ลาวอีสาน กลุ่มย้อ แต่ไม่ปรากฏในรายงาน  

ในชุมชนคลองมะเดื่อจะมีลำธารไหลผ่านเป็นตัวเอส (S) นิเวศริมน้ำจะมีความหลากหลายทั้งพืชและสัตว์ ข้างๆ ริมน้ำจะมีกล้วยไม้หลากหลายชนิดเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ เพราะต้องการความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลา มีความเป็นระบบนิเวศนริมน้ำหรือ (Riparian areas) โดยมีสังคมพืช ริมน้ำที่ทำหน้าที่ช่วยดักตะกอน ช่วยยึดชายฝั่ง และลดความเร็วของน้ำลงเมื่อเกิดน้ำหลาก ทำให้ลดการชะล้างของตะกอนดิน นอกจากนี้สังคมพืช ริมน้ำยังช่วยรักษาคุณภาพน้ำ และเป็นแหล่งอาศัยและแหล่งอาหารที่สำคัญของสัตว์น้ำ รวมถึงแหล่งหากินของสัตว์อื่นๆ เช่น นกที่อาศัยอยู่ในป่าคลองมะเดื่อ และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิด เกิดเป็นห่วงโซ่อาหาร และความหลากหลายทางชีวภาพที่สำคัญยิ่ง  

นอกจากนี้คลองมะเดื่อเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญต่อการศึกษาธรรมชาติสำหรับเยาวชน อาทิเช่น กิจกรรมอาบป่า ซึ่งเป็นการซึมซับอากาศบริสุทธิ์ใต้ร่มไม้ โดยต้นไม้ในธรรมชาติจะปล่อยสารไฟทอนไซด์ (Phytoncide) ซึ่งเป็นสารที่มีกลิ่นเฉพาะ ช่วยให้มนุษย์รู้สึกผ่อนคลาย ลดความกังวล และเสริมระบบภูมิคุ้มกัน ซึ่งหากใครอยู่กรุงเทพฯ เราใช้เวลาเพียงชั่วโมง ก็จะได้สัมผัสอากาศบริสุทธิ์แล้ว  

โดยสรุปแล้วเวทีเสวนาได้เน้นย้ำถึงนโยบายของภาครัฐ ที่ควรมององค์ประกอบของความยั่งยืนให้กว้างมากขึ้น เนื่องจากวิถีชุมชนที่ดำรงมาหลายร้อยปีนั้นอยู่บนพื้นฐานของความเคารพต่อธรรมชาติ สิทธิของชุมชนจึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐไม่ควรมองข้าม แต่ควรรับฟังและหาทางออกที่ตอบสนองเจตนารมย์ของชุมชนเพราะทรัพยากรธรรมชาตินั้นเป็นของพวกเราทุกคน มิใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง  

ผู้เขียน

+ posts

ชายหนุ่มผู้หลงไหลในกาแฟไม่ใส่น้ำตาล รักการเดินทางไปกับสินค้าของแบรนด์ Patagonia