เสียงร้องเพลงและการเดินทางของ ‘วาฬหลังค่อม’

เสียงร้องเพลงและการเดินทางของ ‘วาฬหลังค่อม’

ในเวลาต้นปีแบบนี้ ‘วาฬหลังค่อม’ แต่ละกลุ่มต่างกำลังวุ่นอยู่กับการเดินทางไปหาแหล่งอาหารอันอุดมสมบูรณ์ในน่านน้ำที่อุณภูมิต่ำเย็นสบาย บางกลุ่มอาจเดินทางไปขั้วโลกเหนือ หรือบางกลุ่มก็อาจว่ายลงทางใต้ 

เคย และ แพลงก์ตอน คืออาหารโปรด – วาฬหลังค่อมซึ่งจัดอยู่กลุ่มวาฬบาลีน (กลุ่มวาฬที่ไม่มีฟัน) จะไล่ต้อนกรองเคยและแพลงก์ตอนรวมถึงฝูงปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร ในหนึ่งวันก็จะกินมากถึงหนึ่งตัน

แน่นอนว่าโดยพื้นฐาน การกินหมายถึงการอยู่รอด ขณะเดียวกันก็หมายถึงการสะสมพลังงานไว้สำหรับการเดินทางเที่ยวถัดไป หรือในช่วงที่ลมหนาวพัดมาเยือนมหาสมุทร เมื่อฝูงวาฬต้องว่ายน้ำอพยพกลับในพื้นที่เขตร้อนอีกครั้ง 

การเดินทางจากน่านน้ำหนึ่งไปสู่อีกน่านน้ำหนึ่งมีการบันทึกไว้หลายเรื่องราว ตัวอย่างสถิติอันน่าทึ่ง ได้บันทึกการเดินทางของวาฬหลังค่อมตัวหนึ่ง ที่ปรากฏตัวอยู่นอกฝั่งของคาบสมุทรแอนตาร์กติกในเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2529 แต่ถัดมาในเดือนสิงหาคมของปีเดียวกัน ก็พบเจ้าตัวที่ว่าอยู่ที่นอกฝั่งโคลัมเบีย 

นั่นหมายความว่า วาฬหลังค่อมตัวนั้นเดินทางไกลกว่า 5,100 ไมล์ หรือราวๆ 8,220 กิโลเมตร 

หรือโดยทั่วๆ ไปจะพบว่าวาฬหลังค่อมว่ายน้ำไกลเป็นอย่างต่ำเป็นระยะทาง 3,000 ไมล์ หรือราวๆ 4,800 กิโลเมตร เพื่ออยู่พาตัวเองไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมและสมดุล 

ขณะเดียวกันในการอพยพรอบนี้ก็ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญของชีวิต ที่หมายถึงสถานะและการอยู่รอดของประชากร เพราะเป็นช่วงเวลาของวาฬหนุ่มสาวที่พร้อมสืบพันธุ์จะเริ่มส่งสัญญาณถึงกัน ฝ่ายชายจะแสดงศักยภาพให้เห็นว่า “ฉันคือพ่อพันธุ์ที่ดีนะ” 

วาฬหนุ่มจะแสดงท่าทีต่างๆ ออกมาทั้งการกระโดดขึ้นจากผิวน้ำ เรียกร้องความสนใจจากเพศตรงข้าม (การกระโดดเหนือน้ำนั้นยังเชื่อกันว่าเป็นการสลัดตัวเพรียงออก และยังเป็นการสื่อสารระหว่างฝูงวาฬด้วยกันเองอีกด้วย)

นอกจากการกระโดดแล้ว วาฬยังส่งเสียงร้องเพลงเพื่อเกี้ยวพาราสีเพิ่มอีกวิธีหนึ่ง โดยมักจะร้องเพลงในทำนองเพลงเดิมๆ ซ้ำเป็นเวลาหลายชั่วโมง

โดยนักวิทยาศาสตร์เริ่มได้ยินและศึกษาบทเพลงอันไพเราะของวาฬหลังค่อมเป็นครั้งแรกในช่วงปี พ.ศ. 2513 ด้วยการใช้ไมโครโฟนใต้น้ำ จนสามารถจับเสียงวาฬตัวผู้สามารถร้องเพลงได้ และเชื่อว่าเสียงเพลงเหล่านี้มีบทบาทในการดึงดูดคู่ครอง

การใช้เสียงยังถือเป็นการสื่อสารที่สำคัญต่อสัตว์อย่างวาฬในอีกหลายๆ มิติ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวาฬเป็นสัตว์ที่มีนัยน์ตาขนาดเล็ก ประสาทการมองเห็นจึงไม่ดีสักเท่าไหร่ อีกทั้งระบบประสาทการรับกลิ่นก็มีประสิทธิภาพด้อย ไม่เด่นเหมือนสัตว์บก วาฬจึงต้องอาศัยการฟังและส่งเสียงแทนประสาทอื่นๆ และใช้ทักษะนี้เป็นผัสสะหลัก 

ก็คล้ายๆ กับระบบโซนาร์ วาฬจะส่งคลื่นเสียงไปกระทบกับวัตถุต่างๆ แล้วสะท้อนกลับมาสู่ประสาทหูของวาฬเพื่อคำนวณระยะทางและขนาดของวัตถุ

ถึงตอนนี้เรารู้กันว่า วาฬหลังค่อมสามารถส่งเสียงแบบต่างๆ ได้มากถึง 34 รูปแบบ บางแบบอาจก้องไปไกลหลายสิบกิโลเมตร และกังวาลนานถึงชั่วโมง

เคยมีการศึกษาชิ้นหนึ่งบอกเอาไว้ว่า ในช่วงที่วาฬหลังค่อมถูกล่าอย่างหนัก และประชากรกลุ่มหนึ่งจวนเจียนเข้าใกล้หุบเหวแห่งการสูญพันธุ์ วาฬจะส่งเสียงร้องเพลงเรียกหาคู่กันดังสนั่นมหาสมทุร แต่แล้วเมื่อประชากรเริ่มฟื้นตัวเสียงนั้นก็ค่อยๆ เบาลง 

อาจเรียกว่าเป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสอดคล้องกับความสมดุลก็ได้

การส่งเสียงของวาฬ ยังมีความหมายอีกหลายอย่าง หนึ่งในนั้นคือการสื่อสารกันระหว่างแม่กับลูก

เมื่อวาฬตัวเมียเริ่มตั้งท้อง เป็นเวลาหลังจากนั้นอีก 11 เดือนก็จะให้กำเนิดลูกน้อยออกมา (ในวันที่อพยพหนีหนาวเข้าเขตอุ่นอีกครั้ง) ในตอนนี้ก็จะมีการสื่อสารกันระหว่างแม่กับลูก

ตามปกติหลังจากให้กำเนิดลูกวาฬแล้ว แม่วาฬหลังค่อมและลูกจะต้องอยู่ใกล้ชิดกันตลอดเวลาอย่างน้อยหนึ่งปีในน่านน้ำเขตร้อน เพื่อให้ลูกวาฬได้กินนมและเติบโตขึ้น จนมีไขมันสะสมเพียงพอต่อการอพยพย้ายถิ่นประจำปี 

ในระหว่างนั้นเองทั้งคู่จำต้องระมัดระวังภัยจากสัตว์ผู้ล่า เช่น วาฬเพชฌฆาตหรือวาฬหลังค่อมตัวผู้ที่กำลังหาคู่ ทำให้แม่และลูกวาฬต้องส่งเสียงกระซิบกระซาบกันเพียงเบาๆ ซึ่งจะสามารถได้ยินได้ในระยะใกล้เท่านั้น ซึ่งแตกต่างจากเสียงร้องก้องกังวาลในเวลาอื่นๆ

ในเรื่องราวที่ยกตัวอย่างมาคงกล่าวได้ว่าการสื่อสารด้วยเสียงของวาฬสามารถนับเป็นปัจจัยการอยู่รอดของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ชนิดนี้ 

มันเป็นวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กันระหว่างการเดินทาง เป็นวัฏจักรชีวิตของวาฬที่ดำเนินมายาวนานก่อนนับชั่วอายุคน

หากแต่ทุกวันนี้การใช้ชีวิตของวาฬไม่ได้ง่ายขนาดนั้น 

ด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อมนานาได้ประเดประดังทาทับถม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้มหาสมุทรอุ่นขึ้น ทำให้สัตว์อาหารของวาฬลดน้อยลง กระทบต่อการสะสมไขมันที่น้อยลงจนขาดเซลล์ไขมันที่ไปกระตุ้นฮอร์โมนให้เกิดการตกไข่

ขยะพลาสติกที่วนเวียนอยู่ในทะเล เส้นทางเดินเรือที่มากขึ้นจนเกิดอุบัติเหตุต่อประชากรวาฬหลายกลุ่ม รวมไปถึงมลพิษทางเสียงที่กระหน่ำซ้ำซัด

ในช่วง 200-300 ปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงร่องเสียงของมหาสมุทรอย่างค่อยเป็นค่อยไปด้วยการเดินทางของเรือ การทำประมงเชิงอุตสาหกรรม การก่อสร้างชายฝั่ง การขุดเจาะน้ำมัน การสำรวจคลื่นไหวสะเทือน การทำสงคราม การทำเหมืองใต้ทะเล และการนำทางด้วยโซนาร์ จนกลบเสียงร้องเพลงและการสื่อสารของวาฬรวมถึงสัตว์น้ำอื่นๆ ไปเสียหมด

ในความเป็นไปที่เป็นอยู่ ถึงเราจะยังถอดรหัสภาษาของวาฬออกมาไม่ได้ แต่ด้วยสิ่งที่วาฬต้องเผชิญอยู่ ก็คงเดาได้ไม่ยากหรอกว่า วาฬหลังค่อมและสัตว์ในมหาสมุทรอีกทั้งหมดทั้งมวลกำลังส่งเสียงร้องเพลงอะไรอยู่

มันคงหนีไม่พ้นคีตโศกอันแสนเศร้าตรม

เกร็ดความรู้ 

ในประเทศไทยมีรายงานการพบวาฬหลังค่อมถึง 2 ครั้ง ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2552 ที่อ่าวปอ จังหวัดภูเก็ต โดยมีภาพถ่ายยืนยันจากนักท่องเที่ยวเพียงภาพเดียวเท่านั้น 

ส่วนครั้งที่สองเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2566 ในพื้นที่ตำบลพรุใน ทิศใต้ของเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา ได้รับการยืนยันจากศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน ว่าเป็นชนิดวาฬหลังค่อม

อ้างอิง

ผู้เขียน

Website | + posts

ทำงานอิสระที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ การเขียน เรื่องสิ่งแวดล้อมและดนตรีนอกกระแส - เวลาส่วนใหญ่ของชีวิตใช้ไปกับการนั่งมองความเคลื่อนไหวของใบไม้และสายลม