สรุปเหตุการณ์ 29 ปี การคัดค้านเหมืองของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได สู่คำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาต

สรุปเหตุการณ์ 29 ปี การคัดค้านเหมืองของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได สู่คำพิพากษาเพิกถอนใบอนุญาต

การทำเหมืองแร่นั้นส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบนิเวศ ทั้งการปนเปื้อนของสารพิษในธรรมชาติ ปัญหาฝุ่นและมลพิษในอากาศ การถางพื้นที่ป่า รวมถึงยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ด้วย เนื่องจากอาจเกิดความเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษและสูดดมฝุ่นควันจากการทำเหมืองเข้าไปในร่างกาย ดังนั้นการทำเหมืองแร่ย่อมนำไปสู่ความขัดแย้งกับชุมชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

‘เหมืองหินดงมะไฟ’ เป็นหนึ่งในเหมืองที่สร้างผลกระทบต่อชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันใด ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา จังหวัดหนองบัวลำภู มาอย่างยาวนาน โดยพื้นที่บริเวณนี้มีความสำคัญอย่างมากในฐานะเป็นแหล่งต้นน้ำลำห้วยหลายสาย ผู้คนในพื้นที่พึ่งพาในการทำการเกษตร เพาะปลูกพืชไร่ต่าง ๆ และเลี้ยงสัตว์ 

จุดเริ่มต้นความขัดแย้งระหว่างเหมืองหินแร่และชุมชน

ความขัดแย้งกรณีเหมืองกับชุมชนนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2536 เมื่อมีบริษัทเอกชนต้องการเข้ามาเปิดเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (สำหรับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง) และโรงโม่หินบนภูผายา ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่เกิดข้อกังวลด้านสุขภาพ ตลอดจนปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ชาวบ้านจึงได้รวมตัวกันคัดค้านการทำเหมือง ร่วมกับกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันใด

ซึ่งต่อมาในปี 2537 บริษัทเอกชนเดิมได้เปลี่ยนมายื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองหินที่ภูผาฮวกแทน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง เพื่อทำเหมืองหินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน ชาวบ้านก็ได้ออกมาเรียกร้องมากขึ้น และยื่นหนังสือคัดค้านการขอสัมปทาน 

ทว่าเสียงคัดค้านกลับไม่ดังพอที่ใครจะได้ยิน เพราะต่อมาเมื่อวันที่ 25 กันยายน 2543 กรมทรัพยากรธรณีอนุญาตประทานบัตรทำเหมืองแร่ประเภทหินปูนบนภูผาฮวก ให้บริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งครอบคลุมเนื้อที่ทั้งหมด 175 ไร่ 3 งาน 65 ตารางวา เป็นระยะเวลา 10 ปี และบริษัทเอกชนดังกล่าวก็ได้ต่ออายุประทานบัตรมาแล้วถึง 2 ครั้ง ทำให้ชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษ์ยิ่งกังวลต่อปัญหาระบบนิเวศเพิ่มขึ้นไปอีก เนื่องจากการเดินหน้าทำเหมืองหินแร่ต่อยิ่งต้องมีการทำลายป่าเพิ่มขึ้น การทำลายป่านั้นย่อมส่งผลต่อทั้งระบบนิเวศและชาวบ้านด้วย 

“เหมืองเป็นผลประโยชน์ของคนไม่กี่คน แต่คนส่วนใหญ่เสียโอกาส ประโยชน์จากเหมืองเกิดขึ้นกับคนเพียงกลุ่มเดียว ถ้าเราหวงแหนไว้ คนทั้งตำบล หรือทั้งจังหวัด จะได้มากินอาหารจากธรรมชาติ ถ้ารักษาไว้จะดีกว่าให้สัมปทานทำเหมือง” นายสมควร เรืองโหน่ง ชาวบ้าน ต.ดงมะไฟ กล่าว  

จากการเรียกร้องสู่การฟ้องร้อง

เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2555 ชาวบ้านและกลุ่มอนุรักษ์ฯ รวม 78 คน ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ 1, อธิบดีกรมป่าไม้ ที่ 2, ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู ที่ 3, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ที่ 4, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ที่ 5 และ ธีรสิทธิ์ (หรือ ดุสิต)  ตรีวัฒน์สุวรรณ ที่ 6 ต่อศาลปกครองอุดรธานี เพื่อให้ศาลออกคำสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติ และเพิกถอนใบอนุญาตต่ออาบุประทานบัตรทำเหมืองแร่ เนื่องจากชาวบ้านทราบมาว่าบริษัทได้รับอนุญาตให้ต่ออายุประทานบัตร อีกครั้งตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2553 ถึง 24 กันยายน 2563 

ต่อมาเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2561 ศาลปกครองอุดรธานีได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง ร่วมกับเพิกถอนคำสั่งต่ออายุประทานบัตรด้วย 

อย่างไรก็ดีคดีนี้ก็ยังไม่สิ้นสุด ทางบริษัทได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ทำให้บริษัทยังคงดำเนินกิจการเหมืองต่อ จนส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อภูเขาจากการระเบิด 

ทำให้ วันที่ 13 สิงหาคม 2563 กลุ่มอนุรักษ์ได้เข้าเจรจากับรองผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภูและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตการประทานบัตรทำเหมืองแร่ เพื่อขอให้มีคำสั่งปิดเหมืองแร่และโรงโม่ แต่หน่วยงานที่เรียกร้องกลับปฏิเสธคำสั่งดังกล่าวทำให้ กลุ่มอนุรักษ์ปักหลักการชุมนุมปิดบริเวณทางเข้า-ออกเหมืองแร่หิน พร้อมกับข้อเรียกร้อง 3 ข้อ คือ 

(1) หยุดการสร้าง หยุดการต่อประทานบัตรเหมือง (2) ฟื้นฟูระบบนิเวศบริเวณโดยรอบเหมือง (3) พัฒนาพื้นที่ดงมะไฟให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศวัฒนธรรมและอารยธรรมโบราณคดี 

ชัยชนะของชุมชนและกลุ่มอนุรักษ์เขาเหล่าใหญ่ ผาจันใด

ท้ายที่สุด 11 ปี แห่งการรอคอยก็มาถึงวันตัดสิน เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ศาลปกครองสูงสุดได้อ่านคำพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตการเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนฯ และในส่วนของประทานบัตรนั้นก็ถูกเพิกถอนด้วยเช่นกัน 

อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ของบริษัทเมื่อปี 2543 ไม่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 ดังนั้นการต่ออายุประทานบัตรจึงถือเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดในวันนี้ถือเป็นชัยชนะของการต่อสู้ยาวนานกว่า 29 ปี เป็นคำตัดสินที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามและพลังในการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมโดยแท้จริง 

แต่ถึงอย่างนั้นการต่อสู้ในครั้งนี้ยังไม่ถึงจุดสิ้นสุด เพราะยังมีพื้นที่ใกล้เคียงอีกหลายแห่งที่ยังคงเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหินแร่อยู่ กระนั้นชัยชนะครั้งนี้จึงเป็นขวัญกำลังใจอย่างดีต่อการต่อสู้ในอนาคตของชุมชนและกลุ่มอนุรักษ์ฯ 

หลังจากนี้นอกจากเรื่องของพื้นที่อุตสาหกรรมที่เหลืออยู่ ก็ยังมีในเรื่องของการเดินหน้าฟื้นฟูพื้นที่ และพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนตามที่ข้อเรียกร้องที่ได้เรียกร้องไปก่อนหน้าต่อไป

อ้างอิง 

ผู้เขียน

+ posts

หนุ่มน้อยผู้หลงรักความไม่สมบูรณ์แบบ ออกเดินทางเพื่อเก็บภาพความงดงามของธรรมชาติ และชอบอ่านวรรณกรรมเป็นชีวิตจิตใจ