เพิ่มศักยภาพวิสาหกิจชุมชนด้วยการตลาดออนไลน์ กับชุมชนมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน

เพิ่มศักยภาพวิสาหกิจชุมชนด้วยการตลาดออนไลน์ กับชุมชนมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจาน

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณโครงการจากแผนสนับสนุนโครงการขนาดเล็กโดยชุมชนของกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF SGP) ได้จัด “ประชุมเชิงปฏิบัติการการตลาดและการทำการตลาดออนไลน์ ภายใต้โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการพื้นที่คุ้มครองกลุ่มป่าแก่งกระจาน” (Co-Management of Protected Area of Kaeng Krachan Forest Complex) โดยมีการเชิญชุมชนทั้งในและโดยรอบพื้นที่มรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจานเข้าร่วมทั้ง 17 ชุมชน มีผู้นำชุมชนในพื้นที่และสมาชิกโครงการขนาดเล็ก รวมไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน โดยมีสำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอแก่งกระจานกล่าวเปิดงาน

การจัดกิจกรรมอบรมครั้งนี้เป็นหลักสูตรต่อเนื่องจากการอบรมวิสาหกิจชุมชนครั้งก่อน เพื่อต่อยอดงานวิสาหกิจชุมชนให้มีช่องทางหารายได้ที่เพิ่มขึ้น และสร้างความตระหนักและแรงจูงใจในการอนุรักษ์ทรัพยากรภายในชุมชน โดยการนำวิทยากรจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร และวิทยากรรับเชิญผู้มีประสบการณ์ตรงด้านการประกอบวิสาหกิจชุมชน มาให้ความรู้ และร่วมแลกเปลี่ยน ในบริบทของการตลาดและกระบวนการทำการตลาดออนไลน์ 

ความสำคัญของการทำการตลาดออนไลน์

การทำการตลาดออนไลน์ (Online Marketing) ซึ่งเป็นช่องทางที่สามารถนำมาต่อยอดในการทำการยุทธ์ทางการตลาดให้กับธุรกิจ เพื่อสร้างช่องทางใหม่ให้กับสินค้าในการเข้าถึงลูกค้าได้มายิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจอีกช่องทางหนึ่งด้วย ซึ่งสามารถกล่าวได้ว่าการทำการตลาดมีความสำคัญมากในทุกภาคธุรกิจ ที่ไม่ใช่การแข่งขันในภาคธุรกิจขนาดใหญ่เท่านั้น แต่ธุรกิจขนาดย่อมหรือผู้ค้ารายย่อยก็ควรศึกษาเอาไว้เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการขยายธุรกิจของตนไปสู่ลูกค้าที่หลากหลาย อีกทั้งเพื่อเป็นการวิเคราะห์คู่แข่ง และสถานการณ์ทางตลาดที่จะสามารถเกื้อหนุนให้ธุรกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

นรินทร์ ปากบารา วิทยากรการทำการตลาดออนไลน์ (Online Marketing) ได้ให้ความเห็นการอบรมว่า “สินค้าชุมชนสามารถเพิ่มมูลค่าได้ ด้วย ‘story’ ซึ่งถือได้ว่าเป็นมูลค่าที่สามารถยกระดับสินค้าของชุมชนได้ ซึ่งวันนี้คนเมืองอยากจะใกล้ชิดกับชุมชน สินค้าจึงเหมือนเป็นตัวกลางให้คนเมืองได้ใกล้ชิดชุมชนมากขึ้น ทำให้วันนี้ยังไงเราก็ต้องเข้าไปสู่การตลาดแบบออนไลน์ ตลาดออนไลน์เป็นเหมือนทางลัดที่จะทำให้เราเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น วันนี้ถือได้ว่าเป็นโอกาสที่ทั้งหลี และชุมชนจะได้มีโอกาสมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งตัวสินค้าชุมชนในป่ามรดกโลกแก่งกระจาน และชุมชนก็จะได้เรียนรู้เรื่องการทำตลาดออนไลน์ด้วย”  

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในกลุ่มป่ามรดกโลกแก่งกระจาน 

ภายใต้การดำเนินโครงการฯ ได้จัดกลุ่มวิสาหกิจในชุมชนในกลุ่มป่าแก่งกระจานออกได้เป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจแล้ว กำลังรวมกลุ่มเพื่อจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจ และกลุ่มที่ยังไม่มีการรวมกลุ่มวิสาหกิจ 

กลุ่มที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจ ประกอบด้วย ชุมชนบ้านป่าเด็ง ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอุทยานฯ แก่งกระจาน ชุมชนได้มีการจัดทำผลิตภัณฑ์แป้งกล้วยจากพลังงานทดแทนจากแก๊สชีวภาพและแสงอาทิตย์ กล้วยฉาบ และกาแฟ ชุมชนบ้านโป่งลึก-บางกลอย ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอุทยานฯ แก่งกระจาน ชุมชนมีการจัดกลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยว การทำกิจกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่อย่างการล่องแพ เดินป่า และกางเต้นโดยมีการการจัดอาหารวัฒนธรรมท้องถิ่นให้กับนักท่องเที่ยว กลุ่มวิสาหกิจกาแฟ และสินค้าแปรรูปอย่างกล้วยฉาบ

กลุ่มรวมกลุ่มเพื่อจดทะเบียนวิสาหกิจ ประกอบด้วย ชุมชนบ้านพุระกำ ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี การปลูกผักกรูดขาย มีการปลูกทุเรียน และไม้ผลยืนต้นอื่น ๆ เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ของชุมชนในอนาคต ชุมชนบ้านพุเข็ม มีที่ตั้งติดกับอ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน มีการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุเข็ม ล่องเรือเป็นหมู่บ้านต้นแบบแหล่งเรียนรู้และการท่องเที่ยวชุมชน ชุมชนบ้านรวมไทย-ย่านซื่อ ตั้งอยู่ติดกับอุทยานฯ กุยบุรี มีการจัดการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ชมสัตว์ป่าช้างป่า และมีการขายผลิตภัณฑ์จากชุมชนเพื่อจัดตั้งเป็นกองทุนเพื่อลดผลกระทบผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากช้างป่า ชุมชนบ้านป่าเด็งเหนือ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอุทยานฯ แก่งกระจาน มีสินค้าชุมชนอยู่หลากหลายประเภท เช่น ขนมดอกจอก กลองยาว เสื่อ และสินค้าแปรรูปจากกล้วย

ชุมชนที่ยังไม่มีการรวมกลุ่ม ประกอบด้วย ชุมชนบ้านห้วยสัตว์ใหญ่ ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของอุทยานฯ แก่งกระจาน มีการจำหน่ายสมุนไพรพื้นบ้านแปรรูปและผลผลิตการเกษตร เช่น ทุเรียน มะนาว กล้วย ชุมชนบ้านปางไม้ ขนมโบราณจากผลผลิตในชุมชน เช่น ขนมดอกจอก เค้กกล้วยหอม ทองม้วน ทองพลับ และผลผลิตการเกษตรอย่าง ทุเรียน ชุมชนบ้านพลุพลู สินค้าผ้าทอจากเครื่องจักรสาน และผลผลิตการเกษตร เช่น พริก ฟักทอง ข้าวไร่ ทุเรียน 

ธนากร ไชยยศ ผู้ประสานงานโครงการฯ และวิทยากร ได้กล่าวว่า “จากการจำแนกกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็งของกลุ่ม พบว่าทั้ง 3 กลุ่ม ชุมชนในมรดกโลกกลุ่มป่าแก่งกระจานมีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ทั้งสินค้าจากชุมชน เช่น กาแฟ แป้งกล้วย ทุเรียน ผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูป รวมถึงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ และพบว่า “ยังขาดการประสัมพันธ์ และช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์” อันเนื่องมาจากข้อจำกัดด้านการสื่อสารในบางชุมชน และที่สำคัญคือการขาดความรู้เรื่องการตลาด และการตลาดออนไลน์ การทำเพจเพื่อประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงได้จัดการอบรมเพื่อเสริมศักยภาพดังกล่าว” 

ธนากร ไชยยศ ผู้ประสานงานโครงการฯ

โดยเนื้อหาของกิจกรรมจะแบ่งออกเป็น 3 ช่วง ประกอบไปด้วย

ช่วงที่ 1 เป็นการสร้างความเข้าใจต่อแนวคิด ทฤษฎีทางการตลาดที่จำเป็นและสำคัญต่อการเริ่มทำวิสาหกิจ พร้อมยกตัวอย่างเป็นกรณีศึกษา รวมไปถึงการให้ความรู้บริบททางการตลาดในปัจจุบัน และแนวทางการปรับตัวให้เข้ากับแนวโน้มทางการตลาด โดยเฉพาะเรื่องการปรับตัวต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น 

ช่วงที่ 2 จะเป็นการถ่ายทอดความรู้ด้านการตลาดออนไลน์ การวางแผน และแนวทางการเริ่มต้นการทำการตลาด เริ่มต้นสร้างแรงจูงใจให้กับผู้เข้าอบรมฯ ด้วยการยกตัวอย่างเปรียบเทียบยอดสินค้าชุมชนผ่านช่องทางธรรมดา และช่องทางขายออนไลน์ ซึ่งจะต้องผ่าน แอปพิเคชั่นต่าง ๆ เช่น Tiktok Line FB shopee Lazada ในแต่ละแอปพิเคชั่นจะมีกลุ่มลุกค้าที่แตกต่างกันออกไป การนำเสนอสินค้าหรือการสร้าง คอนเทนต์ (Content) ที่เป็นเอกลักษณ์ของชุมชน 

จากนั้นจึงได้ยกตัวอย่างช่วงสถานการณ์ช่วงโควิต 19 ของชุมชนที่ขายโรตีแผ่น ซึ่งมียอดขายตก และสามารถเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสให้ พัฒนาการขายผ่านช่องทางออนไลน์ทำให้มียอดขายเพิ่มขึ้น เพราะขณะนั้นการขายโรตีผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีคนทำ

ช่วงที่ 3 เป็นการปฏิบัติการ โดยแบ่งกลุ่มตามสินค้า เริ่มต้นการทำการตลาดออนไลน์ และวางแผนการทำการตลาดออนไลน์ ผ่านแอปพลิเคชัน Canva และ Facebook Business Suite โดยบรรยากาศช่วงนี้เป็นไปอย่างคึกคัก โดยเฉพาะในช่วงการปฏิบัติการเพื่อทำแบรเนอร์เพื่อประชาสัมพันธ์ ผลิตภัณฑ์ของชุมชนในแต่ละพื้นที่ ซึ่งสามารถทำได้ด้วยสมาทโฟน และทางทีมวิทยากรจะคอยสอนทีละขั้นตอน โดยเริ่มตั้งแต่การ “โลโก้”และ “โปสเตอร์” ด้วยโปรแกรม Canva เพื่อโปรโมทธุรกิจ ซึ่งก็ได้โลโก้ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น  ทุเรียนบ้านป่าละอู, กาแฟบ้านโป่งลึก-บางกลอย และกลุ่มท่องเที่ยว

ซึ่งผู้เข้าร่วมให้ความสนใจเป็นอย่างมากกับทุกช่วงกิจกรรมที่วิทยากรให้ความรู้ มีทั้งการซักถามและแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างวิทยากรกับผู้เข้าอบรม โดยมีเสียงสะท้อนบางส่วนจากผู้ใหญ่นิรันดร์ พงษ์เทพ ผู้ใหญ่บ้านบ้านบางกลอย ได้กล่าวว่า “รู้สึกดีใจที่ได้เข้าร่วมการอบรมในครั้งนี้ ทำให้เราได้รู้ ถึงสิ่งที่เรายังไม่รู้ และได้ทำในสิ่งที่ยังไม่เคยได้ทำ อย่างการทำโลโก้กาแฟ เราทำได้ในโทรศัพท์มือถือไม่จำเป็นต้องไปจ้าง ถือว่าเป็นการอบรมที่ดีมาก” 

การอบรมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นการสร้างองค์ความรู้ด้านการตลาด และการตลาดออนไลน์ให้กับผู้เข้าร่วมการอบรม เป็นการนำเสนอแนวทางในการประกอบวิสาหกิจชุมชนให้ประสบความสำเร็จ ตามเป้าหมายของแต่ละวิสาหกิจ อีกทั้งเป็นการเสริมศักยภาพงานวิสาหกิจในพื้นที่กลุ่มป่าแก่งกระจานให้สามารถนำไปต่อยอดเพื่อการผลิตและกระจายสินค้าสู่ท้องตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นการลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ เพื่อลดการพึ่งพิงทรัพยากรจากป่า ต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เป็นเอกลักษณ์ อันจะเป็นแนวทางในการพัฒนา เพื่อให้ คน ป่า สัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้ในป่ามรดกโลกแก่งกระจานอย่างยั่งยืนต่อไป…

บทความโดย : นายศุทธา ศิธรวัฒนะ นิสิตฝึกงานจากคณะวัฒนธรรมสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒประสานมิตร